"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552

"ผู้ชายช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของหญิงไทยอย่างไร"

วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11405 มติชนรายวัน


"ผู้ชายช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของหญิงไทยอย่างไร"


โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข (chanwaleesrisukho@hotmail.com)




ในปี พ.ศ.2544 หญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ 6,192 คน เสียชีวิต 3,166 คน ทำให้หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกประมาณวันละ 9 คน ค่าใช้จ่ายรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามตกปีละ 1 ล้านบาทต่อคน

ดังนั้น ประเทศไทยใช้จ่ายค่ารักษามะเร็งปากมดลูกปีละกว่า 6,000 ล้าน อายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตเป็นวัยที่เป็นเรี่ยวแรงของครอบครัวคือ 57 ปี

แม้การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันก้าวหน้ามาก หากตรวจพบโรคระยะก่อนลุกลามหรือเรียกว่าระยะเซลล์ผิดปกติ โอกาสรอดชีวิตภายใน 5 ปี เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่หากพบโรคระยะลุกลาม โอกาสรอดชีวิตภายใน 5 ปี รวมทุกระยะประมาณร้อยละ 68.2 ที่น่าเสียใจคือ หญิงไทยส่วนใหญ่พบโรคในระยะลุกลาม

โรคมะเร็งปากมดลูกถือว่าป้องกันได้ เพราะสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 99.7 เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomaviruses) โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซน (Harald zur Hausen) ผู้ได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลในปี พ.ศ.2548 และรางวัลโนเบลในปี พ.ศ.2551 เป็นผู้ค้นพบ

เชื้อเอชพีวี เป็นดีเอ็นเอไวรัสที่สามารถทนทานต่อความร้อนและความแห้งแล้งได้สูงมาก มีทั้งหมดกว่า 100 ชนิด แต่ที่ทำให้ติดเชื้ออวัยวะสืบพันธุ์มีประมาณ 30-40 ชนิด แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มเสี่ยงต่ำและกลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มเสี่ยงต่ำไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ หรือหูดที่กล่องเสียง ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงก่อมะเร็งต่างๆ ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งปากช่องคลอด

ร้อยละ 85 ของการติดเชื้อเอชพีวี เกิดจากการติดเชื้อผ่านเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 15 อาจจะติดจากการสัมผัสเชื้อเอชพีวี แล้วมาปนเปื้อนช่องคลอด เช่น การใช้ห้องน้ำ ผ้าเช็ดตัว ของใช้ต่างๆ ร่วมกับคนที่มีเชื้อเอชพีวี การสวมถุงยางอนามัยไม่อาจป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้ทั้งหมด เนื่องจากเชื้อจะอยู่บริเวณผิวหนังที่ชื้นแฉะที่ถุงยางอนามัยปกคลุมไปไม่ถึง

การติดเชื้อเอชพีวีถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากที่สุด เกือบครึ่งหนึ่งของชายหญิงอายุ 20-24 ปี ติดเชื้อเอชพีวี โดยร้อยละ 90 หายไปเองได้ ร้อยละ 10 เป็นการติดเชื้อชนิดคงอยู่ (Persistent) ซึ่งมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก

เชื้อเอชพีวีชนิดเสี่ยงสูงทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกโดยเข้าทางผิวหนังหรือบาดแผลที่ถลอกรุกรานเข้าไปในนิวเคลียสของเยื่อบุเซลล์ผิวชั้นล่างสุดของปากมดลูกแล้วเกิดการแบ่งตัวสร้างไวรัสจำนวนมากขึ้น เชื้อเอชพีวีมีไวรัสโปรตีนที่ก่อให้เกิดมะเร็ง โดยจับกับโปรตีนต้านมะเร็งของเซลล์ปกติ ทำให้เซลล์ปกติของปากมดลูกเกิดการแบ่งตัวผิดปกติ แล้วเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเซลล์มะเร็ง

เชื้อเอชพีวีชนิดเสี่ยงสูงที่ก่อมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดได้แก่ชนิดที่ 16, 18 ทั้งสองชนิดนี้รวมกันแล้วสามารถก่อมะเร็งปากมดลูกถึงกว่าร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด

การป้องกันมะเร็งปากมดลูกตามการแบ่งขององค์การอนามัยโลก แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

1.การป้องกันปฐมภูมิ (Primary Prevention) คือ

1.1 หลีกเลี่ยงสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ การติดเชื้อเอชพีวี ปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีสูง : มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ยังน้อย (ก่อนอายุ 17 ปี), มีลูกเร็วไป (ก่อนอายุ 17), มีลูกมาก, มีสามีหลายคน, ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, เครียด, สูบบุหรี่, ดื่มเหล้า, กินยาคุมกำเนิดต่อกันนานเกิน 5 ปี, ไม่เคยตรวจภายใน, ความรู้น้อย, ยากจน, สิ่งแวดล้อมไม่ดี

1.2 สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อการติดเชื้อ เชื้อเอชพีวี ซึ่งได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีที่เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก

สำหรับวัคซีนต้านเชื้อเอชพีวี เมืองไทยนำเข้าสองยี่ห้อ ยี่ห้อแรกเป็นวัคซีนต้านเชื้อเอชพีวี 4 ตัว ได้แก่ 16, 18, 6, 11 ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณร้อยละ 70 หูดหงอนไก่เกินร้อยละ 90 ชื่อการ์ดาซิล (Gardasil) อีกยี่ห้อต้านเชื้อเอชพีวี 2 ตัว ได้แก่ 16, 18 ชื่อเซอวาริกซ์ (Cervarix) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณร้อยละ 70 ปัจจุบันวัคซีนทั้งสองยี่ห้อราคา 3 เข็ม อยู่ที่ 6,000-7,500 บาท

2.การป้องกันทุติยภูมิ (secondary prevention) คือ การค้นหามะเร็งปากมดลูกในระยะแรกเริ่ม ได้แก่ ไปพบแพทย์ประจำปีเพื่อทำแพ็ปสเมียร์ หรือส่องกล้องขยายปากมดลูก หรือคัดกรองหามะเร็งปากมดลูกโดยน้ำส้มสายชู หรือตรวจหาเอชพีวีดีเอ็นเอ

3.การป้องกันตติยภูมิ (tertiary prevention) คือ การรักษามะเร็งปากมดลูกตามมาตรฐานทางการแพทย์ และการรักษาประคับประคอง

สำหรับฝ่ายชาย คุณสามารถช่วยฝ่ายหญิงป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ดังนี้

1.ไม่ควรสูบบุหรี่ บุหรี่ทำให้ฝ่ายชายมีโอกาสติดเชื้อไวรัสต่างๆ หากติดเชื้อเอชพีวีแล้วมีเพศสัมพันธ์ก็ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก หากเป็นไวรัสเริมก็ส่งเสริมให้เกิดมะเร็งปากมดลูก

2.ฝ่ายชายไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย, ไม่ควรมีคู่นอนมาก, ไม่ควรมีพฤติกรรมสำส่อน, ไม่ควรมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการรับและแพร่เชื้อเอชพีวีสูง

3.หากมีพฤติกรรมเสี่ยงควรใช้ถุงยางอนามัย

แม้ไม่อาจป้องกันได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าลดโอกาสรับเชื้อ และแพร่เชื้อเอชพีวีอย่างน้อยประมาณครึ่งหนึ่ง

หน้า 7
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act03010652&sectionid=0130&day=2009-06-01

 


Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew