"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เปิดใจ "ศุภจี สุธรรมพันธุ์" ประสบการณ์และความท้าทายบนเวทีโลก

 
วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4115  ประชาชาติธุรกิจ


เปิดใจ "ศุภจี สุธรรมพันธุ์" ประสบการณ์และความท้าทายบนเวทีโลก


สัมภาษณ์



 

 
ด้วยว่าต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา "ศุภจี สุธรรมพันธุ์" ที่ปัจจุบันรั้งตำแหน่งรองประธานและผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอบีเอ็ม สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางกลับมาเมืองไทยช่วงสั้นๆ หลังจากที่ไปประจำอยู่ที่นิวยอร์กตั้งแต่ต้นปี พร้อมกันนี้ "ศุภจี" ได้สละเวลามาเป็นวิทยากรรับเชิญในงาน "สุชน สโมสร ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย" ด้วยหัวข้อ "การบริหารธุรกิจในศูนย์กลางวิกฤตโลก" ในโอกาสขึ้นปีที่ 33 ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

งานนี้ทั้งลีลาและเนื้อหา เรียกว่าโดนใจ ผู้ที่เข้าร่วมงานอย่างมาก จึงมีผู้ร่วมงานหลายๆ คนฝากคำถามถึง "ศุภจี สุธรรมพันธุ์" ให้ "ประชาชาติธุรกิจ"ช่วยเป็นสื่อกลาง ซึ่งวันนี้เรามีคำตอบสดๆ จากสำนักงานใหญ่นิวยอร์กมาฝาก

ประสบการณ์ทำงานกับซีอีโอใหญ่ที่สำนักงานใหญ่เป็นอย่างไร

ทำให้มีโอกาสได้เห็นวิสัยทัศน์และแนวคิดของคุณแซม (ท่านประธานบริษัท) อย่างใกล้ชิด ซึ่งก็ประทับใจถึงความสามารถในการบริหารจัดการที่ไม่ได้มุ่งในมุมมองระยะสั้น แต่มีมุมมองระยะยาวคอยประสานตลอดเวลา รวมถึงได้เห็นการทำงานของทีมผู้บริหารระดับสูงอย่างใกล้ชิด ทุกคนทำงานอย่างหนักและทุ่มเทอย่างมาก นอกจากนี้ก็ได้เรียนรู้ในเรื่องที่ตัวเองมีความสนใจเป็นพิเศษในหลายๆ มุมที่คนทั่วไปคงไม่มีโอกาส เช่น เรียนรู้เรื่องกลยุทธ์ในการลงทุนของบริษัท เรื่องแผนการวิจัยพัฒนาของเทคโนโลยีที่สำคัญ กลยุทธ์ทางการเงิน ฯลฯ เพราะสามารถขอพบเพื่อพูดคุยหรือเรียนรู้กับใครในบริษัทก็ได้

การทำงานต่างกับที่ประเทศไทยอย่างไร

ที่สำนักงานใหญ่การทำงานเน้นหนักเรื่องข้อมูลและการประสานงาน ขณะที่ประเทศไทยเน้นหนักในเรื่องการลงมือปฏิบัติมากกว่า คนที่สำนักงานใหญ่ส่วนใหญ่จึงมีเวลาทำงานที่ค่อนข้างคงที่ มาเช้ากลับเย็นปกติ ขณะที่ประเทศไทยเวลาทำงานไม่ค่อยแน่นอนขึ้นอยู่กับเรื่องที่กำลังทำอยู่นั้นต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน แต่ส่วนตัวก็ต้องทำงานตลอดเวลาอยู่ดี เพราะเวลากลางคืนของที่อเมริกาก็ต้องมีการประสานงานกับทีมงานที่เอเชียด้วย

อะไรที่เป็นปัญหาสำหรับการทำงานที่ ไอบีเอ็ม สหรัฐอเมริกา

นอกเหนือจากความท้าทายทางธุรกิจที่บริษัททั้งหลายต้องประสบในองค์กร ขนาดใหญ่ที่มีพนักงานเกือบ 4 แสนคน เรื่องที่เป็นความท้าทายที่สุดคือทำอย่างไรจะทำให้คนทั้งบริษัทเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และมุ่งหน้าทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถ ข้อดีคือไอบีเอ็มตระหนักถึงความท้าทายในข้อนี้ และมีการวางระบบการบริหารจัดการ ประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในเรื่องเหล่านี้ไว้อย่างดี

ประจำอยู่ที่สหรัฐในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง

ภายในไอบีเอ็มไม่ค่อยมีความรู้สึกถึงวิกฤต เพราะไอบีเอ็มมีการปรับตัวมานานพอสมควร ผ่านวิกฤตมาหลายครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตอนปี 1993 ที่ถึงขนาดว่าไอบีเอ็มเกือบที่จะล้มละลายเลยทีเดียว ตอนนั้นไอบีเอ็มมีผลประกอบการขาดทุนกว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นที่ ผ่านมาจึงมีการปรับองค์กรทั้งในเรื่องของกระบวนการทำงาน เรื่องเทคโนโลยีและวัฒนธรรมองค์กรมาโดยตลอด

ปัจจุบันไอบีเอ็มจึงถือว่ามั่นคงแม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤตโลก แม้กระทั่งการระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่าย ไอบีเอ็มก็ทำมานานมากแล้ว เช่น ผู้บริหารของไอบีเอ็มจะเดินทางโดยชั้นประหยัดตลอดเวลา ขณะที่บริษัทอื่นๆ ที่เพิ่งเริ่มใช้นโยบายนี้ก็อาจมีความรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง หรือการปรับลดพนักงาน ไอบีเอ็มก็มีการจัดโครงสร้างองค์กรที่มีความคล่องตัวมากอยู่แล้ว เช่น มีการลดคนในบางสายธุรกิจ แต่ไปเพิ่มที่อีกสายธุรกิจที่มีโอกาสทางการตลาดที่ดีกว่า หรือลดคนในประเทศหนึ่งแต่ก็ไปเพิ่มในอีกประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพที่ ดีกว่า

เพราะฉะนั้น ตอนนี้ไอบีเอ็มจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องลดคนจำนวนมาก หรือลดเงินเดือนพนักงาน ในทางตรงกันข้ามปีนี้ยังสามารถจ้างงานเพิ่มขึ้นและเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานได้ตามปกติ

จึงไม่ค่อยรู้สึกถึงบรรยากาศที่เปลี่ยนไปมากนัก เพียงแต่ต้องระมัดระวังมากขึ้น และก็พยายามใกล้ชิดกับลูกค้าและคู่ค้ามากขึ้น เพื่อที่เราจะได้สามารถเข้าใจถึงปัญหาและหาทางช่วยลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที แต่ถ้าจะถามถึงความรู้สึกและบรรยากาศทั่วๆ ไปในสหรัฐก็คงต้องบอกว่าเห็นได้ชัดถึงความท้าทาย มีคน ตกงานมากขึ้น ร้านค้าต่างๆ ก็มีลูกค้าบางตา

และได้เห็นโฆษณาแปลกๆ ที่ไม่เคยเห็น เช่น โฆษณาลดกระหน่ำปิดกิจการนี่เห็น ทุกวัน วันละหลายครั้ง ได้เห็นองค์กรหลายองค์กรได้ออกมาให้ความช่วยเหลือคนที่กำลังตกอยู่ในภาวะลำบาก มีรายการบำบัดทางใจสำหรับเด็กๆ ที่พ่อแม่ไม่มีงานทำ รวมถึงการประกาศขายแปลกๆ เช่น ลงโฆษณาใน eBay ขายลิขสิทธิ์ของตัวเองและครอบครัว จะเอาไปทำโปรโมชั่นอะไรก็ได้ ต้องบอกว่าที่สหรัฐต้องการการกระตุ้นจากภาครัฐอย่างมาก เพราะเอกชนไม่มีกำลังมากพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้ด้วยตนเองเพียงลำพัง

ไอบีเอ็มมีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตได้บ้าง

อย่างขณะนี้ไอบีเอ็มกำลังทดลอง เทคโนโลยี speech to speech เป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้การสื่อสารการพูดคุยของแต่ละภาษาไม่เป็นอุปสรรค เช่น ต่อไปคนจีนสามารถใช้ภาษาจีนสื่อสารกับคนอังกฤษที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ โดยเทคโนโลยี speech to speech จะช่วยแปลงภาษาให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ทันที โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง คือ English to/from Chinese, Spanish and Arabic ซึ่งไอบีเอ็มได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการพัฒนาเพื่อให้มีการใช้งานอย่างกว้างขวางขึ้น สำหรับภาษาอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น รัสเซีย เยอรมัน อิตาเลียน รวมทั้งภาษาไทยจะมีการพัฒนาเพิ่มเติมภายในระยะเวลาอันใกล้นี้

หน้า 28

http://www.matichon.co.th/prachachat/view_news.php?newsid=02com01180652&sectionid=0209&day=2009-06-18

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew