"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ลุ้นไม่ระทึกไลเซนส์ "3G" กทช. เรื่องเศร้าของค่ายมือถือไทย ?

วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4113  ประชาชาติธุรกิจ


ลุ้นไม่ระทึกไลเซนส์ "3G" กทช. เรื่องเศร้าของค่ายมือถือไทย ?





ในเชิงเทคโนโลยีไม่มีใครปฏิเสธการมาถึงของ "3G" (third generation) ยิ่งสำหรับเมืองไทยแล้ว เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านช้าไปด้วยซ้ำ (ลาวเพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว) เช่นเดียวกับกัมพูชาและเวียดนามที่มีไลเซนส์ทยอยออกมาแล้ว

แถมไม่ใช่แค่ 3G แต่ไปไกลถึงไวแม็กซ์ ขณะที่บังกลาเทศ ปากีสถาน และอินเดียก็กำลังเร่งเครื่องเต็มพิกัด คาดว่าจะได้เห็นภายในปีนี้แน่นอน

ทำไปทำมาไม่น่าเชื่อว่า จากที่เป็นประเทศแรกๆ ในแถบนี้ที่พูดถึงการนำ 3G มาใช้ก่อนใครเพื่อนไม่ต่ำกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ไปๆ มาๆ จะกลายเป็นประเทศท้ายสุดที่มี 3G ใช้ ทั้งๆ ที่ปริมาณคนใช้มือถือเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศปริ่มๆ 100% อยู่รอมร่อ

"ซิกเว่ เบรกเก้" อดีตซีอีโอ "ดีแทค" ซึ่งวันนี้ขยับไปกุมบังเหียนการขยับขยาย การลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมให้กับ "เทเล นอร์เอเชีย" นานกว่า 9 เดือนแล้ว ให้ความเห็นว่า เทียบประเทศอื่นในแถบนี้ ไทยมีจำนวนคนใช้มือถือเทียบประชากรสูงที่สุดคือ 95%!!!

ขณะที่มาเลเซียมี 65% ปากีสถาน และอินเดีย 30% บังกลาเทศ 20% ซึ่งโดยหลักแล้วประเทศที่มีจำนวนคนใช้มือถือสูงจะมีความพร้อมในการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ปรากฏว่าประเทศอื่นที่มีจำนวนคนใช้ มือถือเทียบกับประชากรต่ำกว่าไทยมากกลับมีแผนที่จะลงทุน 3G แล้ว

อะไรที่ทำให้ 3G ในไทยไปไม่ถึงไหน

จากประสบการณ์ตรงในแวดวงโทรคมนาคมไทยนานหลายปี ตั้งแต่สมัย นั่งเป็นซีอีโอดีแทค "ซิกเว่" เห็นว่า เหตุที่ไลเซนส์ 3G ของไทยช้ายิ่งกว่าช้ามาจาก 3 เรื่องประกอบกัน

ข้อแรก คือการที่ประเทศไทยมีระบบสัญญาสัมปทาน เมื่อ กทช.อยากออกไลเซนส์ใหม่ โดยไม่ลงมาปรับปรุงแก้ไขสัญญาเดิมที่มีอยู่แล้ว ทำให้เกิดการลักลั่นระหว่างระบบสัมปทานกับไลเซนส์ จึงก้าวไปข้างหน้าไม่ได้

เรื่องถัดมาเกี่ยวกับสถานะของ บมจ. ทีโอทีและ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นอีกตัวที่ถ่วงไว้ไม่ให้มี 3G เพราะทีโอทีวางแผนที่จะลงทุนด้วยเช่นกัน

และสุดท้ายเป็นเรื่องความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของฝ่ายการเมือง

ทั้ง 3 เหตุและปัจจัยแห่งความไปไม่ถึงไหนของ 3G ในมุมมองของ "ซิกเว่" ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องใหญ่ (และใครจะเถียงว่าไม่จริง โดยมีผู้สันทัดกรณีให้ความเห็นเสริมว่า เพราะมีค่ายมือถือบางเจ้าไม่อยากให้เกิด เพราะเงินไม่พร้อม)

แต่ถึงอย่างนั้น สำหรับ "ซิกเว่" ยังไม่หมดหวังกับการทำงานของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

"ผมยังเชื่ออยู่ว่า ยังไง 3G ในเมืองไทยก็ต้องมา แต่น่าเสียดายที่ต้องใช้เวลานานไปหน่อย ได้แต่หวังว่า กทช.จะทำได้อย่างที่พูดไว้ คือในสิ้นปี 2552 นี้จะมีไลเซนส์ออกมา ซึ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ต้องกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และ 3G จะช่วยได้เยอะ"

แต่ถึงจะไม่มี 3G ในมุมของโอเปอเร เตอร์ก็ไม่ใช่จะไม่มีทางไป แม้ตลาดมือถือจะเข้าสู่ยุคอิ่มตัว (ในมุมของจำนวนคนใช้เทียบประชากร)

"มีดีมานด์ของลูกค้ามือถือที่อยากมีไวร์เลส อินเทอร์เน็ต การใช้งานเทคโนโลยีเอดจ์ที่สูงขึ้นอย่างมหาศาลและต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่ามี

ความต้องการโมบายอินเทอร์เน็ตมาก ถ้าไม่มี 3G เราก็คงจะผลักดันเอดจ์ต่อไป ขณะเดียวกันก็จะต้องทำไมโครเซ็กเมนเตชั่นมากขึ้น นำเสนอบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างทั่วถึง เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้งานมากขึ้น"

ข้างแม่ทัพใหญ่ของยักษ์มือถือเอไอเอส "วิเชียร เมฆตระการ" กล่าวว่า แม้ไม่แน่ใจนักว่าจะได้เห็นการออกไลเซนส์ 3G เกิดขึ้นจริงในปีนี้ตามที่ "กทช." รับปากไว้หรือไม่ แต่ตราบใดที่ยังต้องทำธุรกิจต่อก็คงต้องทำตนเองให้พร้อมสำหรับการเข้าประมูลขอ ไลเซนส์ใหม่ด้วยทันทีที่มีการเปิดประมูล ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า

กลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา "เอไอเอส" ยังแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ด้วยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับบริษัทในการประมูลคลื่นความถี่ และรองรับการลงทุนขยายโครงข่าย 3G ในอนาคตด้วย

"ไม่มี 3G ก็ไม่มีใครได้หรือเสียในฝั่งของโอเปอเรเตอร์นะ แต่ปัญหาคือประเทศชาติเสียหาย เสียโอกาสหรือเปล่า เพราะถ้าถามนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาในบ้านเรา เวลาจะมาลงทุนเขามองอะไรบ้าง ความพร้อมด้านอินฟราสตักเจอร์เป็นเรื่องหนึ่ง และ 3G ก็คืออินฟราสตักเจอร์ของประเทศ"

ในแง่มุมการตลาด สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ หัวเรือใหญ่ด้านการตลาดของ "เอไอเอส" มองว่า การมาถึง (เสียที) ของเทคโนโลยี "3G" จะสร้างโอกาสใหม่ๆ กับทุกโอเปอเรเตอร์ ขณะที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากขึ้นจากการเข้าถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วขึ้น"เหมือนมีเทคโนโลยีใหม่ในราคาเท่าเดิม 2G เปรียบได้กับวีซีดี แต่ 3G เป็น ดีวีดี ทั้งๆ ที่แผ่นอาจไม่มี แต่ทำไมต้องซื้อวีซีดี ซื้อของที่มีประสิทธิภาพและราคาถูกกว่าไปเลยไม่ดีกว่าหรือ และถ้า 3G มาจะเป็นคู่แข่งของเอดีเอสแอล ในมุมของเอไอเอส อยากให้เกิดโดยเร็ว เพราะ เป็นไวร์เลส บิสซิเนส ต่อไปไม่ต้องขออินเทอร์เน็ตที่บ้าน ใช้มือถือได้เลย สะดวกกว่าด้วย แต่คงต้องใช้เวลาเหมือนธุรกิจเพลงที่วันนี้มาสู่การขายผ่านมือถือ แต่กว่าจะเลิกซีดีไปเลยก็ต้องใช้เวลา"

ส่วนความคืบหน้าล่าสุดของ "กทช." "ประเสริฐ อภิปุญญา" รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนา คมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กทช.ได้คัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาสำหรับทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ และผลกระทบของการเกิดขึ้นของ 3G ต่อตลาดโทรคมนาคม รวมการออกแบบการประมูลได้แล้ว คือบริษัทเนร่าจากสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในสัปดาห์หน้า และเริ่มทำงานทันทีกลางเดือน มิ.ย.นี้

"รายงานผลการศึกษาเบื้องต้นจะได้เห็นในอีก 1 เดือนถัดไป ส่วนที่ปรึกษาที่จะเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมการประมูลยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งเนร่าก็มีสิทธิที่จะรับหน้าที่ดังกล่าวได้ เพราะสำนักงาน กทช.ไม่ได้กำหนดว่า ที่ปรึกษาในการดำเนินงานทั้ง 2 ส่วนต้องเป็นคนละบริษัท เพียงแต่ควรต้องแยกคณะทำงานออกเป็น 2 ทีม"

ขณะที่หลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต 3G คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเดือน ส.ค.-ก.ย.ที่จะถึงนี้ แต่หลังประกาศมีผลบังคับใช้แล้วกี่วันถึงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูลได้เมื่อไร ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะเป็นประเด็นที่ กทช.ต้องพิจารณา แต่เชื่อว่าจะมีการประมูลคลื่น 3G เสร็จสิ้นในปีนี้แน่นอน

...โปรดฟังอีกครั้ง "ในปีนี้-2552"

เหลืออีก 6 เดือนก็จะสิ้นปี หลังการรอคอยกันมานานหลายปี ถ้าจะต้องรออีกหน่อยคงไม่เป็นไร

หน้า 28
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew