รายงาน: สงครามเทคโนโลยี ในการประท้วงที่อิหร่าน
Wed, 2009-06-17 06:46
เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่อิหร่านซึ่งกำลังมีความร้อนระอุทางการเมืองก็มีบางคนใช้อินเตอร์เน็ตในการสื่อสารข้อมูลหลายช่องทาง ทั้งภาพ คลิป ข้อความ แต่ทางอิหร่านก็ปิดกั้นการสื่อสารเหล่านี้อย่างเข้มงวด ทำให้ต้องหันมาใช้ช่องทางพื้นฐานที่สุด คือ ปาก-ต่อ-ปาก
รวมเรื่องราวของเกี่ยวกับการประท้วงในอิหร่านจากเว็บ Twitter
รัฐบาลอิหร่านตัดการสื่อสาร ขณะนักข่าวพลเมืองอาศัยอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องเครื่องมือ
รัฐบาลอิหร่านพยายามตัดการสื่อสารของกลุ่มผู้ประท้วงโดยการตัดเครือข่ายโทรศัพท์ บล็อกโปรแกรมส่งสารทางตัวหนังสือ ปิดเว็บไซต์ข่าวจำนวนมากทำให้ผู้สื่อข่าวในอิหร่านมีความยากลำบากในการส่งข่าวไปต่างประเทศ
แต่ขณะเดียวกันทางสำนักข่าว BBC มีรายงานในวันที่ 15 มิ.ย. กล่าวถึงการที่คนทั่วโลกให้ความสนใจกับเหตุการณ์ความวุ่นวายในอิหร่านทางอินเตอร์เน็ต โดยแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามตัดช่องทางการสื่อสารแต่กลุ่มนักข่าวพลเมืองก็ยังคงใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตในการสื่อสารข้อมูลในหลายที่
เช่นเว็บไซต์ http://www.tehranlive.org ที่คอยอัพเดทภาพเหตุการณ์การประท้วงในอิหร่าน ซึ่งผู้จัดทำบล็อกเขียนไว้ในบล็อกของเขาว่าเว็บนี้ถูกแบนโดยรัฐบาลอิหร่าน ความเห็นส่วนใหญ่ในบล็อกนี้จะเป็นการให้กำลังใจ หรือให้ข้อมูลที่เป็นภาพวิดิโอ
ขณะที่ความเห็นแย้งมีเป็นจำนวนน้อยเช่น ความเห็นจากผู้ใช้นามอินเตอร์เน็ตว่า yoyo โพสท์เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ว่า "ดูเหมือนว่าพวกหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ พยายามจะปฏิวัติด้วยสีใหม่อีกแล้ว อย่าเพิ่งเชื่อการเผยแพร่ข้อมูลที่เกินจริง" กับผู้ใช้นามอินเตอร์เน็ตอีกคนคือ Mohsen ที่แสดงความเห็นว่า "ชาวอิหร่านที่กล้าหาญจริง ๆ ควรยอมรับผลการเลือกตั้ง และพยายามช่วยเหลือประธานาธิบดีของเราพัฒนาประเทศ" ขณะความเห็นที่อีกบางส่วนก็ได้โพสท์ว่าอาห์มาดิเนจาดก็ไม่ได้ดีไปกว่าประธานาธิบดีคนอื่น ซึ่งล้วนแต่เป็นหุ่นเชิดของ "คาเมนี" ผู้นำระดับสูงของอิหร่าน
นอกจากนี้ยังมีรูปจาก Iran feed ในเว็บ Flickr รวมถึงรูปที่แสดงภาพการประท้วงการเลือกตั้งที่อิหร่านในลอนดอน รูปจากเว็บฝากรูป Picasa ในเว็บ iReport.com ของ CNN ยูสเซอร์ ahriman46 ใน Youtube ก็มีคลิปเกี่ยวกับการประท้วงในอิหร่านส่วนยูสเซอร์ชื่อ persianlover2007 ก็ได้อัพโหลดคลิปที่เหมือนกับถ่ายจากมือถือเป็นเหตุการณ์ในจัตุรัสวานาก ที่กรุงเตหราน
นอกจากรูปและคลิปแล้วยังมีการใช้โปรแกรม Twitter ในการโพสท์ข้อความหรือลิ้งค์ที่มีผู้เห็นเหตุการณ์ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูล โดยการสนทนาเรื่องราวเกี่ยวกับการเลือกตั้งในอิหร่านมีการเคลื่อนไหวในเว็บรวดเร็วมาก แต่อย่างไรก็ตามการโพสท์ข้อความใน Twitter หรือการ "Tweets" นั้น ในกรณีที่มีการใช้เผยแพร่ข้อมูลจากผู้ใช้นอกอิหร่านแล้วมีการส่งต่อ "re-tweeted" ไปที่อื่น ก็ต้องระวังด้วยว่ามันอาจเป็นการเปลี่ยนข่าวลือไร้ที่มาให้กลายเป็น "ข้อเท็จจริง" ได้
ผู้ที่ต้องการตามเรื่องราวเกี่ยวกับการเลือกตั้งอิหร่านทาง Twitter สามารถใช้บริการค้นหาของเว็บได้ โดยสามารถติดตามเรื่องราวล่าสุดได้โดยการพิมพ์ค้นหา #iranelection ในช่องค้นหา มีผู้ที่รวบรวมการส่งข้อมูลของอิหร่านจาก Twitter ไว้ที่ http://iran.twazzup.com/ ด้วย
ขณะที่ใน Facebook เว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมที่สามารถให้ผู้คนเข้ามารวมตัวกันเสนอความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ได้ ก็มีเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งในอิหร่าน ซึ่งผู้ใช้ Facebook จำนวนมากดูเหมือนจะไม่เห็นด้วยกับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็มีการตั้งกลุ่ม I ♥ Iran ขึ้นเป็นทั้งภาษาเปอร์เซียและภาษาอังกฤษ กับอีกแหล่งหนึ่งคือ Iran. Where is my vote? ที่มีการอัพเดทเรื่องราวจากอิหร่าน มีลิ้งค์วิดิโอ รวมถึงความเห็นเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งด้วย
นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ให้ผู้ใช้ Facebook เปลี่ยนไอคอนของตัวเองเป็นสีเขียวเพื่อสนับสนุนการต่อต้านรัฐบาลในอิหร่านด้วย
ในส่วนของเว็บไซต์และเว็บบล็อก เว็บ PressTV ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลอิหร่านบอกว่าการประท้วงเริ่มบังเกิดความรุนแรงหลังจากที่ มีร์ ฮอสเซน มูซาวี ผู้พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งล่าสุดออกมาบนท้องถนน อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ยังไม่มีรูปของการประท้วงบนเว็บไซต์เลย
ในบล็อกของหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ อย่าง Huffington Post , Guardian , New York Times ก็มีการนำภาพและข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอิหร่านมาโพสท์บทเว็บ รวมถึงผู้ให้บริการชุมชนเครือข่ายบล็อกสื่อพลเมืองอย่าง Global Voice ด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบล็อกที่นำเสนอเรื่องของการประท้วงการเลือกตั้งในอิหร่าน
เมื่อ Twitter ล่ม ปาก-ต่อ-ปาก คือทางออก
ตั้งแต่ที่มีการประท้วงผลการเลือกตั้งในอิหร่าน ก็มีการใช้ Twitter ในการส่งข้อมูลมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมีการปิดกั้นเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมในอิหร่าน ทำให้ตอนนี้ชาวอิหร่านต้องหันกลับมาอาศัยวิธีการแบบปาก-ต่อ-ปาก อีกครั้ง
ข้อมูลที่มีการ "Tweets" ในอิหร่านมีผู้คอยติดตาม "followers" เป็นจำนวนมากเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดย Tweets คือข้อความสั้น ๆ 140 ตัวอักษรที่ส่งเข้าไปในเว็บ Twitter ซึ่งเป็นเว็บเครือข่ายทางสังคมและเป็นบล็อกขนาดย่อม "micro-blogging" ที่จะสามารถติดตามและรับทราบข้อมูลใหม่ ๆ ได้จากเว็บไซต์และจากโทรศัพท์มือถือ มีผู้ใช้สองรายที่มีล็อกอินชื่อ @Keyvan และ @Mahdi เป็นชาวอิหร่านที่คอยบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอิหร่านผ่าน Twitter
"มีรถถังอยู่ในเมือง" @Keyvan เขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา "ผมก็ออกไปลงคะแนนเสียง ครอบครัวผมสวมชุดสีเขียว" @Mahdi เขียนข้อความในวันที่ 12 มิ.ย. เกี่ยวกับ มีร์ ฮอสเซน มูซาวี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่รณรงค์ด้วยสีเขียว
เว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมอย่าง Facebook และ Twitter มีบทบาทสำคัญในการประท้วงเนื่องจากความสามารถในการสร้างความเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนจำนวนมากได้ในเวลาไม่นาน แต่ในตอนนี้รัฐบาลอิหร่านได้ทำการปิดกั้นเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมทำให้อิทธิพลของเว็บเหล่านี้ลดลงอย่างมาก
แต่ก็เช่นเดียวกับทุกครั้งที่จะต้องมีหนทางในการหลีกเลี่ยงการเซนเซอร์ เช่นการใช้โปรแกรมที่สามารถทะลวงผ่านการปิดกั้นของรัฐบาลไปได้ แต่โปรแกรมเหล่านี้ก็จะทำให้ใช้อินเตอร์เน็ตได้ช้าลง จากที่อิหร่านมีอินเตอร์เน็ตที่เชื่องช้าอยู่แล้ว ทำให้ดูเหมือนแทบจะเข้าไปใช้การอะไรไม่ได้ และมีชาวอิหร่านจำนวนเพียง 22 ล้านคนเท่านั้นที่สามารถเข้าเว็บไซต์ที่ถูกบล็อกได้ และแม้ว่าผู้ใช้ Twitter ชาวอิหร่านจะมีผู้ติดตาม (Follower) มากมายแต่ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นชาวต่างชาติ ซึงพวกเขาทำได้เพียงเป็นผู้เฝ้าดูมากกว่าผู้ที่มีบทบาทในการประท้วงจริง
Facebook เองก็มีบทบาทในการรณรงค์หาเสียงของมูซาวี เพราะสื่อของรัฐนั้นอยู่ในมือของประธานาธิบดี อาห์มาดิเนจาด ผู้สนับสนุนมูซาวีเข้าใช้ Facebook เพื่อวางแผนการพบปะและประกาศบอกเวลา สถานที่ของขบวนหาเสียงของมูซาวี
"นี่เป็นการเลือกตั้งที่เป็นดิจิตัลที่สุด" เรซา บาดามชิ ผู้ดูแลเว็บ Sepidedam.com กล่าว โดยมีการใส่เสียงปราศัยของมูซาวีไว้ในเว็บนี้ ในวันที่ 13 มิ.ย. เว็บไซต์ของบาดามชิถูกปิดโดยไม่ได้รับเหตุผลที่เป็นทางการ
การใช้โทรศัพท์และการส่งข้อความก็ถูกปิดกั้น หนังสือพิมพ์ถูกสั่งปิด เว็บไซต์ถูกบล็อกและมีการส่งสัญญาณรบกวนคลื่นสัญญาณโทรทัศน์ ชาวอิหร่านต้องหันกลับไปใช้วิธีการเก่าแก่สุดของมนุษย์ คือการลือแบบปากต่อปาก
ทุกคน ตั้งแต่คนขี่จักรยานยนต์ส่งของไปจนถึงผู้ใช้รถเบนซ์ ต่างมีส่วนในวงจรข่าว "ป้อมตำรวจที่ถนนจอมฮูรีถูกเผา" คนส่งพิซซากล่าว "มีการยิงกันอยู่แถวบ้าน" คนขับแท็กซี่เป็นผู้บอกเล่า "พวกเด็กใน ซาอาแดท อาแบด กำลังทำระเบิดขวด" วัยรุ่นคนหนึ่งบอกกับเพื่อนบ้านเขาที่ล็อบบี้ของอพาร์ทเมนต์
ในตอนบ่ายวันที่ 16 มิ.ย. มีการประกาศชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนอาห์มาดิเนจาด ซึ่งอีกสองชั่วโมงถัดมากลุ่มผู้สนับสนุนมูซาวีก็วางแผนออกมาประท้วงด้วยเช่นกัน ผู้ประกาศทางโทรทัศน์ของรัฐบอกว่า "ชาวอิหร่านที่แท้จริงจะมารวมตัวกันในช่วงบ่าย 3 โมง" ส่วนผู้สนับสนุนมูซาวีก็ถามว่า "แล้วการชุมนุมของพวกเรายังจะมีอยู่ไหม" ไม่มีใครทราบ หากเพียง เมื่อเสียงโทรศัพท์บ้านดังขึ้น การประท้วงก็จะเริ่ม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น