"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พินัยกรรมชีวิต สิทธิการตาย...เลือกได้


รายงานโดย :อนุสรา ทองอุไร:
วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
ในอดีตการตายมัก เกิดขึ้นที่บ้าน ปู่ย่าตายายจากไปท่ามกลางลูกหลาน มีพระสวดเทศน์นำทาง แต่ปัจจุบันคนเราแม้ถึงคราวตาย แต่ก็มิอาจจากไปง่ายดายเช่นนั้น
 ด้วย เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่อาจยึดยื้อชีวิตเราให้ยืนยาวขึ้น ซึ่งหลายกรณีเทคโนโลยีกลับกลายเป็นการยื้อความตาย ความทุกข์ทรมานให้ยาวนานออกไป พ่วงด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล เป็นพันธนาการที่สาหัสทั้งจิตใจและร่างกาย
คนป่วยหนักจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า "ผัก" เข้าทำนองเจ้าหญิงนิทรา ไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งรอบตัว
ผู้ ป่วยระยะสุดท้ายหลายคนอาจประสงค์จะไม่รับการใส่ท่อช่วยหายใจที่เป็นไปเพื่อ ยืดการตายออกไป แต่คำร้องดังกล่าวมักถูกปฏิเสธทั้งจากญาติและผู้ให้การรักษา โดยเห็นว่าเป็นความอกตัญญูต่อบุพการี ทั้งบุคลากรทางการแพทย์เอง ส่วนใหญ่ก็ยังขาดความรู้และความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ด้วยวิตกว่าจะถูกฟ้องร้องเอาผิดจนอาจเสียชื่อและขาดความมั่นใจในการรักษาต่อ ไป
สภาพการณ์เช่นนี้เป็นเหตุให้ผู้ป่วยจำนวนมากต้องตายอย่างทุกข์ ทรมาน และไร้ซึ่งศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ขณะที่ญาติผู้ดูแลและครอบครัวก็ต้องตกอยู่กับภาวะหมองเศร้า สิ้นหวัง ไร้ทางออก ไม่นับรวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอีกมหาศาลที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากค่ารักษา พยาบาลและการใช้เทคโนโลยีที่เกินจำเป็น
สิทธิการตาย 'ต้อง' เลือกได้
ขณะนี้เริ่มมีพัฒนาการในเรื่องแนวคิดของ "สิทธิในการที่จะสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง" อันเป็นพื้นฐานของแนวคิดสิทธิมนุษยชน เมื่อแนวคิดดังกล่าวได้นำมามองผ่านระบบการแพทย์อันทันสมัยในปัจจุบัน จึงกลายเป็น "สิทธิปฏิเสธการรักษา" เป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะตัดสินใจด้วยตนเองเมื่อวาระสุดท้ายของตนมาถึง
องค์กรระหว่างประเทศต่างก็ให้การยอมรับสิทธิในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นแพทยสภาคมโลกที่ให้การรับรองคำแถลงเรื่องเอกสารแสดงเจตจำนงล่วง หน้าของแพทยสมาคมโลก และยังมีบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไปยังมีความเข้าใจในเรื่องนี้ไม่มากนัก เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนเฉพาะกลุ่มที่ทำงานบริการดูแลผู้ป่วย ระยะสุดท้าย
ประเทศ ไทยเองก็เช่นกัน ได้รับรองสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียง เพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยไว้ ซึ่งในรายละเอียดของการนำไปปฏิบัติจะต้องมีการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
การจะใช้กฎกระทรวงและแนวปฏิบัติดังกล่าวให้ได้ประโยชน์สูงสุดตาม วัตถุประสงค์แห่งการจัดทำนั้น ต้องอาศัยบุคคลใน 3 ส่วน คือ ผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ดูแล ซึ่งการที่บุคคลดังกล่าวจะใช้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวนี้ได้อย่างดี จำต้องอาศัยความเข้าใจและนำไปปฏิบัติ มิใช่การเข้าใจแต่กฎหมายเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเข้าใจเรื่องชีวิตและความตายทั้งทางสังคม วัฒนธรรม และศาสนาควบคู่กันไป
ทุกคนควรจะตระหนักรู้และเตรียมรับมืออย่างเต็มใจว่าจะตายอย่างไร ให้สงบและมีศักดิ์ศรี ไม่ทุกข์ทรมานเกินที่ธรรมชาติของร่างกายและจิตใจจะรับไหว สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา จัดเวทีความคิดเห็นเพื่อการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณ สุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยและสิทธิที่จะตายอย่างที่ปรารถนาควรได้ รับการตอบสนองจะทำได้อย่างไร
ชวนขบคิด...ชีวิตวาระสุดท้าย
คนจำนวนมากต้องการจากไปอย่างสงบ มีสติ ไม่ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต้องการจะเสียชีวิตที่บ้านในบรรยากาศที่สงบและอบอุ่นท่ามกลางหมู่ญาติมิตร ที่คุ้นเคย ได้มีโอกาสสั่งเสีย ร่ำลา ขอขมาลาโทษกัน และไม่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อยื้อชีวิต เช่น การเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ การปั๊มหัวใจในกรณีที่สภาพร่างกายไม่ไหวแล้ว การใส่ท่อต่างๆ ตามร่างกายเพื่อให้อาหาร ดูแลการขับถ่าย ทั้งหมดทั้งปวงเพียงเพื่อยื้อสัญญาณชีพไว้ แต่ละเลยมิติทางจิตใจ ไม่ต้องการนอนอยู่ในห้องไอซียูจนสิ้นลมเพราะบรรยากาศในนั้นโดดเดี่ยว อ้างว้าง อยู่ท่ามกลางเครื่องมือทางการแพทย์และบุคคลที่ไม่คุ้นเคย
รศ.นพ.เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี แพทย์รังสีรักษา โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวถึงประเด็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อยื้อชีวิตว่า คงขึ้นอยู่กับเป้าหมายว่าเรายื้อชีวิตไปเพื่ออะไรและเพื่อใคร "การใส่ท่อช่วยหายใจยื้อชีวิตไปอีกหนึ่งวัน เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติคนสำคัญได้เจอกัน ร่ำลา ก็มีประโยชน์และมีความหมายสำหรับผู้ป่วยและญาติคนนั้น แต่การยื้อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความหมาย อาจเพิ่มความทรมานกายและใจให้ผู้ป่วยและญาติได้"
 การปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จึงหมายถึงการไม่ขอรับการรักษาที่เป็นไปเพียงยืดการตาย ยื้อชีวิตที่กำลังถดถอยไม่อาจฟื้นดีดังเดิม และปล่อยการตายเป็นไปอย่างธรรมชาติ โดยที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลทางกายอย่างดีที่สุด ความรู้สึกทางใจและความเชื่อได้รับการตอบสนอง

รศ.นพ.เต็มศักดิ์
กรณีผู้ที่เป็น ห่วงว่าบั้นปลายชีวิตอาจมีโรคภัยไข้เจ็บอยู่แล้วก็อาจมีความทุกข์ทรมาน โดยหลักของการตายดีที่ให้สิทธิไว้ สมมติบอกว่า "ขอไม่ให้แพทย์มาทำอะไรเรา เช่น เจาะคอ ใช้เครื่องช่วยหายใจ อะไรต่างๆ แล้วก็อาจเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาลก็ตามที่มีญาติพี่น้องอยู่รายรอบ ถ้ามีอาการเจ็บปวดทรมาน แพทย์ต้องให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ลดความทุกข์ทรมาน ไม่ใช่พอแสดงเจตนารมณ์ไม่รักษาในหนังสือแล้ว หมอจะปฏิเสธทุกอย่าง เพียงแต่หมอจะไม่ทำในสิ่งที่ผู้ป่วยได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ เพื่อยืดความตาย ซึ่งไม่เป็นประโยชน์" การปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้าย ไม่ได้หมายถึงการไม่เหลียวแลรักษาผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยที่อาการของโรคอยู่ในระยะสุดท้าย สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการดูแลผู้ป่วยไปตามอาการ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดทรมานและให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิต การดูแลแบบประคับประคองนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์ต้องให้ข้อมูลกับคนไข้อย่างครบถ้วนและรอบด้าน เพื่อให้คนไข้ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ตนต้องการ
รังสิมา บุณยภูมิ คุณแม่ของน้องอ๋อง เด็กชายที่จากโลกนี้ในวัย 10 ขวบ ด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว กล่าวว่า เธอมักพูดคุยถามไถ่ความต้องการของลูกเสมอ โดยให้ข้อมูลกับลูก เขาเป็นเจ้าของชีวิต ต้องมีส่วนตัดสินใจด้วย น้องอ๋องเลือกที่จะอยู่บ้านและใช้ชีวิตอย่างปกติ เขาเล่นวิดีโอเกม นอนในห้องนอนของตัวเอง และทำกิจกรรมเหมือนเดิม แต่มีการดูแลตามอาการ ทั้งการบรรเทาความเจ็บปวดและการหายใจ อยากกินอะไรก็ได้กิน อยากทำอะไรก็ได้ทำ
หนึ่งวันก่อนน้องจากไป แม่พาน้องไปเที่ยวทะเล ระหว่างทางกลับบ้าน น้องซบหัวบนไหล่แม่ บอกว่า "มีความสุขจังเลยหม่าม้า" วันรุ่งขึ้นน้องก็จากไปอย่างสงบในอ้อมกอดแม่ และเสียงนำทางของพยาบาล ก่อนจากกันน้องอ๋องพูดคำสุดท้าย "หม่าม้าลาก่อน" คุณแม่เล่าด้วยเสียงสั่นเครือ
พินัยกรรมชีวิต
การตายของคนคนหนึ่งเกี่ยวพันโยงใยกับอีกหลายชีวิตที่เกี่ยวดอง เมื่อแม่ผู้ชราป่วยหนัก บรรดาลูกอาจมีความคิดแตกต่าง ทุกคนปรารถนาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับแม่ บางคนสิ่งนั้นคือการยื้อชีวิตให้ถึงที่สุดด้วยเทคโนโลยีทุกชนิดและทุ่มเงิน สุดตัว ขณะที่บางคนหมายถึงการให้แม่นอนสงบจนสิ้นลมไปท่ามกลางลูกหลาน
คนไข้อาจตัดสินใจอย่างหนึ่ง แต่ลูกหลานอาจเห็นไปอีกทาง หลายครั้งลูกที่มีอำนาจตัดสินใจว่าพ่อแม่จะอยู่หรือไปอย่างไร มักเป็นลูกที่มีอำนาจทางการเงินหรือการศึกษา แต่ไม่ใช่ลูกที่ดูแลใกล้ชิดหรือเข้าใจความปรารถนาเบื้องลึกของผู้ที่จะจากไป ในกรณีความขัดแย้งเช่นนี้ หนังสือแสดงเจตนาที่ผู้ใกล้จากไปทำไว้ล่วงหน้าจะช่วยลดความขัดแย้งได้ เพราะได้ระบุสิ่งที่ต้องการไว้ รวมถึงระบุตัวบุคคลที่ให้ตัดสินใจแทนในเวลาที่ไม่อาจสื่อสารความต้องการได้ เอง
ศ.นพ.วิทูรย์
ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์
ที่ ปรึกษาประจำศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่ผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าเพื่อวาระสุดท้าย หรือในวาระที่ไม่สามารถสื่อสารกับแพทย์ได้โดยตรง นับว่าเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาดูแลตัวเองร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ในยามป่วยเรามักมอบอำนาจการตัดสินใจและสิทธิในการดูแลร่างกายไว้ในมือแพทย์ "เราไม่ค่อยปฏิเสธการรักษาของแพทย์ สิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาอะไรก็ได้ ที่เราไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจ"
ศ.นพ.วิฑูรย์ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติไว้ว่า เป็นการทำงานเชิงนโยบายด้านกฎหมายสาธารณสุข เช่นเรื่องสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลที่จะไม่ขอรับแผนการรักษาที่ถูกหยิบยื่น ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันอาจเป็นทางเลือกที่ผู้ป่วยและญาติไม่พึง ปรารถนา
คุณหมอว่าเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่มุ่งเน้นเพียงการรักษามนุษย์ เฉพาะร่างกาย โดยมองข้ามความสำคัญของจิตใจและความอ่อนไหวของอารมณ์ความรู้สึกของคนไข้เจ้า ของเรือนร่าง ซึ่งลำพังความรู้และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าเข้าไม่ถึง เนื่องจากไม่อาจชั่งตวงคำนวณวัดความทรมานได้ ผิดกับปรัชญาความรู้ทางศาสนา ซึ่งพินิจความตายไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือผิดแปลกออกไปจากวิถีชีวิตปกติแต่อย่าง ใด แพทย์เรียนการรักษาชีวิต แต่ไม่ได้เรียนวิชาการตายดี ดังนั้นทุกคนต้องร่วมกันเรียนรู้วิชา "ตายดี"
เขียนอย่างไรพินัยกรรมชีวิต
การทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า โดยระบุว่า เราปรารถนาที่จะจากไปอย่างไร เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยย้ำให้ญาติและครอบครัว บุคลากรทางการแพทย์ได้ทราบในเจตจำนงของเรา และเป็นแนวทางให้ทุกคนช่วยกันตอบสนองความต้องการสุดท้ายได้อย่างที่ตั้งใจ
รังสิมา
การทำหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้านี้ ไม่ใช่เรื่องการจัดการมรดกหรือทรัพย์สิน แต่เป็นความต้องการที่เราปรารถนาให้ผู้ใกล้ชิดช่วยทำให้ได้มีโอกาสจากไป อย่างสงบ โดยอาจระบุวิธีการดูแลที่เราไม่ปรารถนา เช่น ในกรณีที่ภาวะของร่างกายเสื่อมถอยจนเกินเยียวยา เราขอจากไปอย่างธรรมชาติโดยไม่ต้องเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ หรือปั๊มหัวใจ ซึ่งเป็นหัตถการที่รุนแรง ฯลฯ
กฎหมายกำหนดให้มีบุคคลใกล้ชิดที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาไว้วางใจ ทำหน้าที่ตัดสินใจหรือปรึกษากับแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาผู้ป่วยตามที่ระบุ ไว้ เพราะหากมิได้กำหนดไว้ จะทำให้เกิดข้อยุ่งยากในการตัดสินใจระหว่างแพทย์กับญาติที่มีความเห็นต่าง กัน ทำให้แพทย์ไม่สามารถตัดสินใจได้ ผู้ทำหนังสืออาจเปลี่ยนแปลงเจตนาได้ตลอดเวลา หากหนังสือทำไว้มากกว่า 1 ฉบับ ให้ถือเอาฉบับที่ทำครั้งสุดท้ายเป็นฉบับที่มีผลบังคับ
การแสดงหนังสือเจตนาให้แก่แพทย์เจ้าของไข้ทำได้หลายวิธี เช่น ส่งสำเนาหนังสือทางโทรสาร ทางอีเมล หรือไปรษณีย์ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบให้ต้องใช้ต้นฉบับเอกสารเหมือนกับการทำนิติกรรม สัญญาอื่น หรือแสดงเจตนาที่จะจากไปอย่างสงบในรูปแบบอื่น เช่น ทำวิดีโอคลิปบอกกล่าวถึงความต้องการไว้ หรือใช้วิธีการบันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐานก็ได้

http://www.posttoday.com/lifestyle.php?id=47850



Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew