Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com | วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11431 มติชนรายวัน
"ปฏิวัติทวิตเตอร์" กรณีศึกษา"นิวมีเดีย"ที่อิหร่าน
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th
ผมไม่ได้เป็นคนเรียกขานการลุกฮือขึ้นเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐของชนชั้นกลางอิหร่านที่ยืดเยื้อมานานราว 2 สัปดาห์ว่า "ทวิตเตอร์ เรฟโวลูชั่น" หรือ "ปฏิวัติทวิตเตอร์" นะครับ สื่อฝรั่งมังค่าและผู้เชี่ยวชาญด้านนิวมีเดีย-สื่อแบบใหม่ในอินเตอร์เน็ตเขาเป็นคนเรียกขานกันอย่างนั้น
จนกระทั่งถึงตอนที่เขียนเรื่องนี้ ยังไม่รู้เลยครับว่า เหตุการณ์ที่อิหร่านในที่สุดแล้วจะลงเอยอย่างไร คำที่เรียกขานกันจะกลายเป็นข้ออวดอ้างเกินความเป็นจริงไปหรือไม่ แต่มีหลายอย่างที่น่าสนใจที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ในอิหร่านและเทคโนโลยีในการสื่อสารใหม่ๆ ในอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเว็บไซต์ประเภท "โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กกิ้ง" ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ ฟลิคเคอร์ ปิคาซา มายสเปซ และบรรดาเว็บล็อกทั้งหลายนับล้านๆ ไซต์ในอินเตอร์เน็ต
อันที่จริงการเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง โดยเฉพาะการกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างกลุ่มผู้ประท้วง ต่อต้านรัฐบาลของเว็บไซต์เครือข่ายสังคมเหล่านี้นั้นเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งแล้วที่จอร์เจีย ซึ่งผู้ประท้วงใช้ทั้งอินเตอร์เน็ตและเอสเอ็มเอสเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยเหลือในการชุมนุมประท้วงจนกลายเป็น "ปฏิวัติสีส้ม-ออเรนจ์ เรฟโวลูชั่น" เมื่อปี 2004 อย่างที่เราเห็นกัน ที่อียิปต์เมื่อไม่นานมานี้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ใช้เฟซบุ๊กและเว็บเครือข่ายสังคมอื่นๆ เป็นตัวจุดชนวนประท้วงรัฐบาล แม้ว่ากระแสจะวูบหายไปอย่างรวดเร็วก็ตามที
ที่ใกล้เคียงกับกรณีของอิหร่านมากที่สุดเห็นจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มอลโดวา ในเดือนเมษายนที่ผ่านมานี่เอง เมื่อนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวใช้ "ทวิตเตอร์" เป็นเครื่องมือในการประสานงานการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้งอย่างน่าเคลือบแคลง
แต่กรณีของอิหร่านแตกต่างออกไป และโดดเด่นจนกลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเอามากๆ ด้วยสาเหตุหลายประการ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ทวิตเตอร์ และ อินเตอร์เน็ต กลายเป็นเครื่องมือต่อต้านรัฐบาลที่ทรงอานุภาพที่อิหร่านได้ทั้งๆ ที่ อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบควบคุมสื่อและอินเตอร์เน็ตเข้มงวดมากที่สุดบนโลกใบนี้ก็ว่าได้ครับ
ทางการอิหร่านควบคุมสื่อทุกชนิดอย่างเข้มงวดมานานแล้วครับ ดังนั้น ถึงแม้ว่าอิหร่านจะเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของประชากรที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง คือ 35 เปอร์เซ็นต์ (ค่าเฉลี่ยของตะวันออกกลางทั้งภูมิภาคอยู่ที่ 26 เปอร์เซ็นต์) แต่ก็เป็นการใช้งานในรูปแบบที่ผ่านการ "คัดกรอง" และถูก "ควบคุม" อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา ในปี 2007 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนซึ่งจัดทำดัชนีเสรีภาพสื่อโลก จัดอันดับอิหร่านอยู่ในอันดับที่ 166 จากทั้งหมด 169 ประเทศ สื่อในอิหร่านทั้งที่เป็นสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ และสื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต ถูกควบคุมมากยิ่งกว่าสื่อในพม่าหรือคิวบาด้วยซ้ำไป จะดีกว่าเล็กน้อยก็แค่ประเทศอย่างเติร์กเมนิสถาน เกาหลีเหนือ และเอริเทรียเท่านั้นเอง
ทวิตเตอร์กลายเป็นเครื่องมือต่อต้านรัฐบาลที่ทรงพลังและสามารถแหวกวงล้อม ทลายข้อจำกัดที่ถูกควบคุมออกมาได้ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างครับ อย่างแรกสุดเห็นจะเป็นตัวเทคโนโลยีเอง ที่ไม่เพียงใช้งานง่ายเท่านั้นแต่ยังสามารถดัดแปลงไปใช้งานกับอุปกรณ์สื่อสารได้หลากหลาย (เพราะผู้พัฒนาตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น) เราไม่จำเป็นต้องเข้าเว็บไซต์ twitter.com ก็สามารถใช้งานและติดตามข้อความในทวิตเตอร์ได้ ผู้ส่งข้อความอาจส่งข้อความไม่เกิน 140 ตัวอักษรจากโทรศัพท์มือถือได้ ผู้ที่ติดตามอ่านก็สามารถติดตามอ่านจากโทรศัพท์มือถือได้เช่นเดียวกัน
การปิดกั้นเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ จึงไร้ผลในทางปฏิบัติ ผู้ประท้วงชาวอิหร่านยังคงสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือในการนัดชุมนุม เผยแพร่ข้อมูลของกลุ่ม ส่งที่อยู่เว็บไซต์ (ยูอาร์แอล) ที่มีการโพสต์ภาพ หรือ วิดีโอคลิป เพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามของเจ้าหน้าที่เอาไว้เผยแพร่ได้ (ซึ่งกระจายอยู่ตามบล็อก และเว็บไซต์เครือข่ายสังคมต่างๆ เป็นเรือนล้านบนอินเตอร์เน็ต)
ทวิตเตอร์จึงไม่เพียงเป็นเครื่องมือประสานงานการชุมนุม แต่ยังเป็นเครื่องมือในการประจานรัฐบาลและระดม "มติมหาชน" จากทั่วโลกได้อีกด้วย
เหตุปัจจัยถัดมาก็คือสภาพสังคมของอิหร่านเอง ที่ยกระดับขึ้นเป็นชุมชนเมืองแล้วมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่เรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก อิหร่านเป็นประเทศที่มีบล็อกเกอร์อยู่เป็นเรือนหมื่นหรืออาจจะถึงแสนคน อย่าว่าแต่โทรศัพท์มือถือที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ แอนโทเนีย ราโดส ผู้สื่อข่าวของ อาร์ทีแอล สถานีโทรทัศน์เยอรมนีประจำกรุงเตหะราน บอกเอาไว้ว่า ถ้าสังเกตดีๆ ในที่ชุมนุมประท้วงทุกๆ จุดในอิหร่าน กลุ่มผู้ประท้วง 1 ในทุกๆ 2 คน จะมีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือ ไม่ได้มีไว้เฉยๆ นะครับ ถ้าไม่กำลังถ่ายภาพก็กำลังถ่ายคลิปเหตุการณ์การชุมนุมของตัวเองเอาไว้ แล้วก็กดปุ่มส่งกันเป็นว่าเล่นจนโครงข่ายแทบล่มภายในระยะเวลาไม่ถึงชั่วโมง
ภายใต้การผสมผสานระหว่างผู้ประท้วงที่รู้จักและเข้าใจเทคโนโลยีกับเทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นสูงมากอย่างเช่นทวิตเตอร์ การปิดกั้นทั้งหลายก็ไร้ความหมาย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นเครื่องยืนยันสิ่งนี้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าทางการอิหร่านจะใช้วิธีขับผู้สื่อข่าวต่างชาติออกนอกประเทศ และจำกัดบริเวณของผู้สื่อข่าวที่ยังหลงเหลืออยู่ จับกุมผู้สื่อข่าวท้องถิ่นไปเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ถูกเปิดโปงออกมายังนานาประเทศอยู่ดี
การบล็อกเว็บไซต์และการคัดกรองเนื้อหาอย่างที่เคยทำมา ไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะคนเหล่านี้สามารถเรียนรู้วิธีหลบหลีกและใช้งานพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ได้อย่างคล่องแคล่ว อย่าว่าแต่สังคมออนไลน์ทั่วทั้งโลกช่วยกันระดมสรรพกำลังจัดตั้งพร็อกซี่ เซิร์ฟเวอร์ ขึ้นมาใหม่อีกเป็นจำนวนมากเพื่อผู้ประท้วงในอิหร่านโดยเฉพาะครับ
ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเตอร์เน็ตเชื่อว่า เป็นเพราะการปิดกั้นต่อเนื่องยาวนานของรัฐบาลอิหร่านนั่นเองที่สอนให้คนเหล่านี้รู้เทคนิคและเชี่ยวชาญวิธีการที่จะหลบหลีก
และใช้มันเพื่อการต่อต้านรัฐบาลเองในที่สุดครับ!
หน้า 17 http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01tec01270652§ionid=0143&day=2009-06-27 | | | |
Invite your mail contacts to join your friends list with Windows Live Spaces. It's easy!
Try it!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น