"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แฉกลเกมช่อง 3 สูบรายได้ อสมท เสียค่าโง่กว่าหมื่นล้าน-ส่อผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน

แฉกลเกมช่อง 3 สูบรายได้ อสมท เสียค่าโง่กว่าหมื่นล้าน-ส่อผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 มิถุนายน 2552 23:59 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

วิชัย มาลีนนท์

ASTVผู้จัดการรายวัน - แฉช่อง 3 ตักตวงผลประโยชน์จากรัฐสุดฤทธิ์ ผิดเงื่อนไขสัมปทาน อสมท มาตลอด มิหนำซ้ำขอแก้ไขสัญญาเดิมอย่างมีเงื่อนงำ วิเคราะห์สัญญาตัวใหม่ระหว่าง “อสมท-บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ต้นตอปัญหายังส่อเค้าผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แอบเปลี่ยนคู่สัญญาเฉย พบที่ผ่านมาจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐถูกแสนถูกต่อปี แต่ฟันกำไรมหาศาล ประเมินความสูญเสียตลอดอายุสัญญา 20 ปีที่ผ่านมารัฐเสียค่าโง่ไม่ต่ำกว่า หมื่นล้าน แค่เทียบค่าเวลา อสมท ได้จากรายการเดียวเช่น ‘ไร่ส้ม’ยังคุ้มกว่า
       
       กรณีการต่อสัญญาอีก 10 ปี ในการบริหารสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) จาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะไปหมดอายุในปี 2563 จากเดิมที่จะหมดในปี 2553 นั้น กลายเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างมากว่าทำได้หรือไม่ อีกทั้งสัญญาเดิมที่ใช้กันอยู่นี้ส่อว่าเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างมีเงื่อนงำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับรู้กันในวงกว้างนัก
       
       แม้กระทั่ง คณะกรรมการหรือบอร์ด อสมท ชุดใหม่นี้ ซึ่งการประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาด้วย โดยมองว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และย้ำว่าสัญญานี้มีความเหมาะสมหรือไม่ อีกทั้งยังมีเรื่องของกฎหมายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
       
       **แฉแก้ไขสัญญาทำ อสมท เสียเปรียบ
       
       แหล่งข่าวจากวงการโทรทัศน์ผู้คลุกคลีอยู่วงในคณะกรรมการ อสมท มาหลายสมัย และติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิด เปิดเผย “ASTVผู้จัดการรายวัน” ถึงเงื่อนงำต่างๆ ว่า เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปดูภาพรวมตั้งแต่ต้น
       
       กล่าวคือ แรกเริ่มเดิมทีช่อง 3 หรือ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีบริหารช่อง 3 กับ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ช่วงปี 2511 (ต่อมาเปลี่ยนเป็น องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ม.ท. และต่อมาก็เปลี่ยนเป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) กำหนดชำระค่าตอบแทนเป็นรายปีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 42 ล้านบาท
       
       หลังจากนั้นสัญญาก็ครบและได้มีการทำสัญญาและต่อสัญญากันมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2521 รวมทั้งในช่วงต่อมาก็ได้มีการทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2525
       
       ต่อมา ก็ได้มีการทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 โดยมีประเด็นหนึ่งที่มีการแก้ไขคือ อ.ส.ม.ท. และช่อง 3 ตกลงขยายเวลาร่วมดำเนินการฯออกไปอีก 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2553
       
       อย่างไรก็ตาม เวลาได้ผ่านไปแค่ปีเศษเท่านั้นเอง ทางบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ทำหนังสือลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2531 ลงนามโดยนายวิชัย มาลีนนท์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ถึงนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) โดยมี 3 ประเด็นหลักที่ร้องเรียนมา และมีเนื้อหาหลายประการที่แยกย่อยไป แต่ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเป้าหมายหลักคือ
       
       การขอให้พิจารณาเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ อสมท ใหม่ เพราะ อ้างว่าตามสัญญาที่มีอยู่ช่อง 3 ไม่ได้รับความเป็นธรรม และมีภาระที่มากมาย
       
       แหล่งข่าว กล่าวว่า นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ต้องมีการแก้ไขสัญญาใหม่อีกครั้งในวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 เรื่องการทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 และเป็นการแก้ไขที่ ช่อง 3 ได้รับประโยชน์อย่างมาก
       
       เขาอธิบายว่า เรื่องนี้ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้แทงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2531 มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานบอร์ด อ.ส.ม.ท. เวลานั้นเป็นผู้รับผิดชอบ และก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาดำเนินการ ซึ่งว่ากันว่าคณะกรรมการฯชุดนั้นมีทั้งนายทหารและตำรวจระดับสูงร่วมเป็นกรรมการด้วย
       
       ทั้งนี้ในหนังสือที่บริษัท บางกอกฯทำถึงนายกรัฐมนตรีเวลานั้น ในข้อที่ 3. ระบุไว้ว่า “ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 กำหนดให้บริษัทบางกอกฯชำระค่าตอบแทน และหรือค่าเช่าคิดตามรายรับก่อนหักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 6.5 ที่บริษัทบางกอกฯได้รับจากการประกอบกิจการส่งโทรทัศน์สีในแต่ละปี แต่ภายใน 20 ปีแรกต้องไม่ต่ำกว่า 1,205,150,000 บาท ส่วน 10 ปีหลังต้องไม่ต่ำกว่า2,002,390,000 บาท รวม 30 ปีต้องไม่ต่ำกว่า 3,207,540,000 บาท
       
       โดยบริษัทบางกอกฯอธิบายว่า ตามสัญญาครั้งแรกนั้น กำหนดค่าตอบแทนที่บริษัทฯต้องชำระให้กับ อ.ส.ม.ท. เป็นรายปีเป็นการแน่นอน ค่าตอบแทนไม่คำนวณจากรายรับของบริษัท แต่ประการใด ครั้นตามสัญญาในครั้งที่ 2 ก็ได้กำหนดค่าตอบแทนที่บริษัทฯต้องชำระให้แก่ อ.ส.ม.ท. คำนวณจากรายรับในอัตราร้อยละ 6.5 ที่บริษัทฯได้รับจากการประกอบกิจการในแต่ละปีแต่ไม่ต่ำกว่าอัตราที่กำหนดเป็นการแน่นอนเป็นรายปี เพราะการทำสัญญาครั้งที่ 2 นั้น บริษัทฯไม่ต้องลงทุนในการก่อสร้างหรือจัดหาเครื่องมือแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ระหว่างปฏิบัติงานตามสัญญาครั้งที่ 2 กิจการของบริษัทฯในแต่ละปีก็ไม่มีรายได้ที่จะคำนวณเป็นค่าตอบแทนชำระแก่ อ.ส.ม.ท. ในอัตราร้อยละ 6.5 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่สามารถปฏิบัติได้ .......”
       
       ช่อง 3 ได้เสนอในท้ายหนังสือสรุปว่า ขอให้ปรับปรุงสัญญาของบริษัทฯ ที่มีต่อ อ.ส.ม.ท. กำหนดค่าตอบแทนที่บริษัทฯต้องชำระแก่ อ.ส.ม.ท. เป็นรายปีเป็นการแน่นอนด้วย โดยไม่ต้องนำรายรับในการดำเนินการของบริษัทฯมาคำนวณแต่อย่างใด
       
       “มองให้ดีนี่คือเกมที่บริษัทฯบางกอกวางไว้ ในการที่จะลดจำนวนการจ่ายให้กับ อ.ส.ม.ท.และสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง” แหล่งข่าวระบุ
       
       **จุดเปลี่ยนขอแก้ค่าตอบแทนจากเปอร์เซ็นต์เป็นจ่ายคงที่
       
       จากนั้น การพิจารณาของคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวก็ทำงานมาเรื่อย และได้มีการพิจารณากันในหลายประเด็นตามที่บริษัทบางกอกฯร้องขอมา และในที่สุดก็เข้าทางช่อง 3
       
       การแก้ไขสัญญาก็มีขึ้นตามสัญญาว่า “สัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 3” ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ในยุคที่มีนาย ราชันย์ ฮูเซ็น เป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.
       
       เพราะโดยสรุปประเด็นเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทน ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่โดยสาระสำคัญ ซึ่งระบุในข้อที่ 7 ว่า “ให้ยกเลิก ข้อความตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 16 ก.ค. 2530 ข้อ 9. วรรคแรก และเอกสารผนวก 5 แนบท้ายสัญญาดังกล่าว ...”
       
       ซึ่งสัญญา ข้อ 9 ระบุไว้ว่า นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2533 “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ตกลงจ่ายค่าตอบแทนในการเข้าร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีตามสัญญานี้ให้แก่ อ.ส.ม.ท. เป็นเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปีก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งบางกอกฯได้รับจากการดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีและที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการส่งโทรทัศน์สีตลอดอายุสัญญานี้ตามงบดุลและงบบัญชีกำไร-ขาดทุนประจำปีที่ถูกต้องและซึ่งได้ยื่นต่อกรมสรรพากรแล้ว....”
       
       เท่ากับว่าช่อง 3 จะไม่จ่ายค่าตอบแทนแบบ 6.5% แล้ว แต่จ่ายแบบเดียวคือ อัตราตายตัวต่อปี เท่านั้น (Fix Rate)เป็นการตอกย้ำชัดเจนว่า การขอแก้ไขสัญญาครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของคู่สัญญาคือ ช่อง 3 ฝ่ายเดียว แต่ อ.ส.ม.ท.ต้องสูญเสียโอกาสในการรับค่าตอบแทน
       
       อีกทั้งเพิ่งจะเริ่มต้นสัญญาเพียงปีเศษ แต่ช่อง 3 กลับมาอ้างโน่น อ้างนี่ ทั้งๆที่อ้างว่า ไม่ชอบธรรมแต่ก็เซ็นสัญญารับสัมปทานไปแล้ว
       
       “เพราะอะไร เนื่องจากช่อง 3 เองย่อมรู้ดีว่า การจ่ายแบบนี้จะทำให้เสียเงินน้อยกว่าแบบ 6.5% เพราะรายได้ต่อปีสูงขึ้นเรื่อยๆ หากจ่ายแบบ 6.5% ก็ย่อมต้องเสียมากกว่าแบบตายตัว”
       
       

       
       ขณะที่รายได้ของช่อง 3 แต่ละปีที่ผ่านมา จากการสืบค้นของ ASTVผู้จัดการรายวัน พบว่า มีรายได้อย่างงามนับหมื่นล้านต่อปี เช่น ในปี 2548 รายได้ของช่อง 3 ที่รายงานโดย บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) มีประมาณ 10,296 ล้านบาท ส่วนปี 2549 มีประมาณ 11,834 ล้านบาท
       
       อย่างไรก็ตามในหนังสืองบกำไรขาดทุน ที่ช่อง 3 แจ้งไว้เมื่อ สิ้นปี 2548 มีรายได้รวม 6,420,188,950 บาท ส่วนปี 2547 มีประมาณ 6,472,719,811 บาท
       
       หากคิดคร่าวๆจากตัวเลขดังกล่าวของปี 2548 ตามที่ช่อง 3 แจ้งไว้ ก็เท่ากับว่า ช่อง 3 ต้องจ่ายให้ อสมท แบบ 6.5% ก็จะต้องจ่ายประมาณ 420 กว่าล้านบาท ขณะที่ ตามตัวเลขแบบจ่ายตายตัวรายปีของปี 2548 นั้นอยู่ที่ 110 กว่าล้านบาท แตกต่างกันอย่างมากเกือบ 300 กว่าล้านบาท
       
       หรือในปี 2547 หากมีรายได้จริง 6,472,719,811 บาท ซึ่งถ้าต้องจ่ายแบบ 6.5% ก็เท่ากับประมาณ 420 กว่าล้านบาทเช่นกัน แต่เมื่อต้องจ่ายแบบตายตัวก็แค่ 65,385,000.00 บาท
       
       นี่เป็นเพียงการประเมินคร่าวๆบนพื้นฐานของรายได้ที่รายงานมา เพียงต้องได้รับมากกว่า 800 ล้านบาทแล้ว
       
       หากนับรวมกระทั่งหมดครบอายุสัญญา 20 ปีที่ทำกันมา อสมท น่าจะเสียเปรียบสูญเม็ดเงินที่ต้องหลุดลอยไปเหยียบหมื่นล้านบาท
       
       **แค่ขายเวลาให้ไร่ส้มบริษัทเดียวยังคุ้มกว่า
       
       แหล่งข่าว กล่าวว่า กรณีความสูญเสียของ อสมท หากเปรียบเทียบกับรายได้จากค่าบริหารเวลา ณ ปัจจุบัน ทั้งๆที่ช่อง 3 ได้เวลาทั้งวันและทุกวัน การคำนวณผลตอบแทนจะอย่างไร อสมท ก็ควรมีรายได้ที่ดีกว่าสัญญาเดิม ขณะที่บางกอกก็จะต้องจ่ายให้มากกว่านี้ แต่กลับน้อยมาก เมื่อจ่ายแบบตายตัวรายปี เพราะหากเทียบกับบริษัท ไร่ส้ม จำกัดของนายสรยุทธ์ ทัศนะจินดาที่เคยเช่าเวลาของ อสมท ทำรายการอาทิ จับเข่าคุย ถึงลูกถึงคน และมีปัญหาเรื่องการแบ่งรายได้ให้ อสมท จนต้องมีการสอบสวนกันในยุคของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการใหญ่ ยังพบว่ามีการจ่ายให้แก่ อสมท มากกว่า 100 ล้านบาทเลย
       
       นอกจากนี้ การแก้ไขสัญญาระหว่าง อสมท กับบางกอกฯผู้บริหารช่อง 3 ยังพบว่า มีอีกบางประเด็นที่น่าสนใจเช่น ข้อ 11. ให้ยกเลิกข้อความตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 ข้อ 22. ที่ระบุว่า “หากมีข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งใดๆอันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาเกิดขึ้นระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับ “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” คู่สัญญาตกลงให้คณะอนุญาโตตุลาการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งดังกล่าว ให้คำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นที่สุดและผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย” ส่วนการแก้ไขนั้นปรากฏว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายจะตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ โดยมี บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ร่วมด้วยฝ่ายละ 2 คนเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งจากเดิมไม่ต้องมาจากช่อง 3 นั่นหมายความว่างช่อง 3 สามารถส่งคนของตัวเองเข้ามาเพื่อปกปักรักษาผลประโยชน์ หากเกิดข้อขัดแย้งกันขึ้น
       
       “คำถามคือว่า ทำไม อสมท จึงยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัญญานั้นเพื่อกดตัวเองให้ตกอยู่ใต้ความเสียเปรียบและสร้างความเสียหายได้” แหล่งข่าวระบุ
       
       **สัญญาใหม่ก็ส่อผิดกฎหมาย
       
       จากเงื่อนงำต่างๆที่ผ่านมา แหล่งข่าวจากวงการโทรทัศน์ ยังชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา หากคณะกรรมการ อสมท และ เอกชน จะดึงดันต่ออายุสัญญาให้แก่บางกอกฯซึ่งล่าสุด อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ว่า นอกจากการแก้ไขสัญญาที่ทำให้ อสมท ต้องเสียเปรียบแล้ว สัญญาต่างๆที่ทำขึ้นรวมทั้งการแก้ไขด้วยนั้น ยังเป็นข้อกังขาในเรื่องความผิดความถูกด้วย
       
       โดยมีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมครั้งที่ 3 เป็นต้นเหตุสำคัญ
       
       เพราะถือว่าสัญญาที่แก้ไขนั้นเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของเอกชนคือบริษัทบางกอกฯโดยตรง ไม่ใช่เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 และ มาตรา 7 (5) ที่ให้ อสมท มีอำนาจกระทำได้ และไม่ได้เป็นการ “ร่วมกิจการหรือร่วมทุนกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ อสมท” ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
       
       ซ้ำร้ายกว่านั้นยังไม่มีหลักฐานปรากฏว่า การแก้ไขสัญญาครั้งที่ 3 นั้น ได้มีการลงนามกันทั้งสองฝ่ายโดยที่ได้รับการอนุมัติจากทางรัฐมนตรีฯแล้วหรือยังตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 39 กำหนด ซึ่งเท่ากับว่า อสมท หรือผู้อำนวยการฯ จึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาดังกล่าว
       
       หากมีหลักฐานว่า รัฐมนตรีฯที่กำกับดูแลอนุมัติแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของ อสมท กับช่อง 3 ที่ต้องนำออกให้เห็นกันถ้วนทั่ว
       
       ขณะเดียวกันยังส่อแววว่า ผิดกฎหมายอีกด้วย ตามข้อ 136 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ที่ระบุไว้ว่า “สัญญาหรือข้อตกลงที่ทำเป็นหนังสือที่ได้ลงนามแล้ว จะแก้ไข เปลี่ยนแปลงมิได้ เว้นแต่การแก้ไขนั้น จะมีความจำเป็นโดยไม่ทำให้ ทางราชการต้องเสียประโยชน์ หรือเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ทางราชการให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการ.....”
       
       แต่สัญญาที่แก้ไขครั้งที่ 3 ทำให้ อสมท เสียเปรียบและเสียประโยชน์ชัดเจนกับเรื่องค่าตอบแทนที่ได้รับ อย่างนี้แล้วขัดกับกฎหมายหรือไม่
       
       อีกทั้งสัญญาร่วมดำเนินการฯนั้น ทำกันมาตั้งแต่ปี 2530 และมีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมในปี 2532 ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องตกอยู่ภายใต้ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 ตามมาตรา 7 อีกด้วย
       
       หรือแม้แต่กรณี บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้บริหารบริษัทดังกล่าวก็มักจะออกมาให้สัมภาษณ์ในฐานะที่อ้างว่าเป็นผู้บริหารช่อง 3 ทำให้มองว่า บริษัทบางกอกฯ ทำผิดสัญญา เพราะแอบเอาสัญญาไปให้กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรงกับ อสมท ใช่หรือไม่ แม้ว่าบีอีซีฯจะเป็นบริษัทในเครือกลุ่มก้อนเดียวกับบางกอกฯก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรงกับ อสมท
       
       ทั้งนี้ บริษัท บางกอกฯ จดทะเบียนวันที่ 10 พฤศจิกายน 2510 มีกรรมการ 9 คนในช่วงจดทะเบียน ส่วนใหญ่เป็นคนตระกูล “มาลีนนท์” มีวัตถุประสงค์ เพื่อการส่งวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ส่วนบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 มีวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้คือ จัดหา ผลิตรายการและขายเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์
       
       โดยในหนังสืองบการเงินระหว่างกาลรวมและงบกาเงินระหว่างกาลเฉพาะกิจการวันที่ 31 มีนาคม 252 และ 2551 ของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บีอีซีเวิลด์ ถือหุ้นอยู่ในบริษัท บางกอกฯ 99.99% ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บีอีซีเวิลด์ถือหุ้นโดยตรง
       
       ตรงนี้จึงน่าจะผิดสัญญาข้อ 8.5 ของสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ที่ระบุว่า “ในการดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์สีตามสัญญานี้ “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” จะต้องดำเนินการเอง ในนามของ อสมท และจะให้บุคคลอื่นเช่าหรือรับไปดำเนินการแทนไม่ได้ ...........”
       
       กล่าวโดยรวมแล้ว สัญญาการแก้ไขครั้งที่ 3 นี้ จึงไม่น่าที่จะชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบกับการต่อสัญญาที่ขอต่ออายุออกไปอีก 10 ปีด้วย
       
       ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 อสมท ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาด้าน สัญญาและกฎหมาย โดยคณะกรมการฯสัญญาและกฎหมายชุดดังกล่าวมีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธานกรรมการ ก็ได้มีผลสรุปออกมาแล้วว่า สัญญาใหม่ระหว่าง อสมท และช่อง 3 ไม่เป็นธรรม แต่ทั้งนี้ทุกอย่างก็ยังดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

คลังข้อมูลข่าวธุรกิจ
บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
http://www.manager.co.th/Business/ViewNews.aspx?NewsID=9520000067153

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew