"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สภาที่ปรึกษาฯ : สภาที่ไม่ยอมเรียนรู้

สภาที่ปรึกษาฯ : สภาที่ไม่ยอมเรียนรู้
โดย : นักวิจัยโครงการศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับองค์กรเครือข่ายฯ  เมื่อ : 10/06/2009 10:36 AM
ในการคัดเลือกกันเอง เพื่อเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 3 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ในการได้มาของบุคคลในกลุ่มต่างๆ ที่ดูเหมือนไม่ค่อยสง่างามนักในกระบวนการสรรหาและการคัดเลือกกันเองที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่มีชุดคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ 21 คน เพื่อเตรียมการเรื่องนี้ จนสามารถออกระเบียบคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ พ.ศ. 2552 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 6 คณะ ต่อมาสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประกาศ รับสมัคร องค์กร ผู้มีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 3 (ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม ถึง วันที่ 6 มีนาคม 2552 ) โดยมีองค์กรที่สนใจสมัครมาทั้งหมด จำนวน 1,932 องค์กร {1} จากนั้นคณะอนุกรรมการคณะต่างๆ ได้คัดเลือกบุคคลที่องค์กรเสนอชื่อเพื่อให้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ จำแนกตามกลุ่มต่างๆ 15 กลุ่ม เหลือ 1,294 องค์กร และคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ได้คัดเลือกบุคคลที่องค์กรเสนอชื่อเพื่อให้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษา ฯ จำนวน 991 คน เพื่อให้เป็นบุคคลผู้มีสิทธิคัดเลือกกันเอง เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ จำนวน 99 คน

ผลที่เกิดขึ้นจากการคัดเลือกกันเองครั้งนี้ เนื่องจากผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่เคยร่วมศึกษาวิจัย โครงการศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับองค์กรเครือข่ายและระบบฐานข้อมูลองค์กรเครือข่ายและระบบฐานข้อมูลองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ในปี 2550 ที่สำนักงานส่งเสริมและประสานการมีส่วนร่วมองค์กรเครือข่าย สภาที่ปรึกษาฯ ได้จัดทำขึ้น โดยหวังว่าจะใช้ประโยชน์จากการศึกษานี้นำมาเป็นฐานข้อมูลในการเตรียมกระบวนการสรรหาองค์กร และการคัดเลือกองค์กรที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ตลอดจนการเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะทำงานจัดกระบวนการเตรียมการก่อนที่จะมีการคัดเลือกกันเองในวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2552 จึงเกิดความคับข้องใจและมีคำถามกับสภาที่ปรึกษาฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่ทำไม ? ไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานศึกษาที่ตนเองได้เคยว่าจ้างให้สถาบันวิชาการหลายหน่วยงานทำงานวิจัยเกี่ยวกับฐานข้อมูลองค์กรเครือข่าย ซึ่งก่อนนี้ นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาทำการศึกษาเรื่องนี้ 7 ผลงาน ได้ลงทุนงานศึกษาข้อมูลองค์กร เป็นจำนวนเงินมากกว่า 30 ล้านบาท พอผลงานเสร็จก็ตีพิมพ์เป็นรูปเล่มขึ้นหิ้งเก็บไว้ ไม่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการคัดเลือกองค์กร ซึ่งเป็นการละเลยการจัดการความรู้ภายในองค์กรที่ชัดเจนมาก ในงานวิจัยนี้มีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ปี 2550 ไว้ว่า

  • ในการจัดวางระบบงานฐานข้อมูล สภาที่ปรึกษาฯ จะต้องเข้าใจความรู้เรื่ององค์กร การก่อเกิด บริบทการเติบโตและการขยายของกลุ่ม องค์กรในสังคมไทยที่ชัดเจน เพื่อง่ายต่อการจำแนกประเภท หมวดหมู่ องค์กร และนำมาประกอบการคัดเลือกองค์กรผู้มีสิทธิเสนอชื่อในครั้งต่อไป ให้สอดคล้องกับกลุ่ม องค์กรตามรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการสรรหาสภาที่ปรึกษา เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
  • สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ จะต้องสร้างระบบฐานข้อมูลองค์กรผู้มีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยนำฐานบัญชีรายชื่อ จำแนก กลุ่ม องค์กร ให้ชัดเจน องค์กรที่ไม่ผ่านการคัดเลือกและองค์กรที่ผ่านการคัดเลือก จำแนกรายจังหวัด ประเภท สร้างระบบรองรับ เพื่อง่ายต่อการสืบค้นข้อมูล {2} โดยนำฐานบัญชีรายชื่อทั้งสองครั้งที่ผ่านมา สร้างระบบรองรับบัญชีรายชื่อ จำแนก ประเภท องค์กร จังหวัด ภาค นำมาประกอบการพิจารณา

    ในด้านการคัดเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯมีข้อค้นพบจากการศึกษาบทเรียนขององค์กรเครือข่ายที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกเป็นองค์กรผู้มีสิทธิเสนอชื่อและไม่ได้รับการเสนอชื่อในวาระที่ผ่านมา พบว่ามีสาเหตุหลักจากกระบวนการบกพร่อง หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน (บล็อกโหวต) จึงทำให้มีข้อกังขาเรื่องของความไม่โปร่งใส และไม่ชอบธรรมของวิธีการซึ่งได้มาของผู้แทนฯ ตัวแทนองค์กรฯ ที่ผ่านการคัดเลือกหากเป็นผู้ที่อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวงานจริง จะสามารถสะท้อนปัญหาความต้องการ และสามารถสร้างทิศทางการพัฒนาให้กลุ่มองค์กรได้ดี ขณะเดียวกันพบว่าตัวแทนฯ ที่ไม่มีฐานการสร้างสรรค์งานจริงในพื้นที่ แต่มีปฏิบัติการที่จัดตั้งกลุ่มเฉพาะกิจของตนเองขึ้นเพื่อเป็นฐานเสียงในการโหวตเข้ารับตำแหน่ง

จากบทสรุปการศึกษาที่ค้นพบ สอดคล้องกับกระบวนการและผลการคัดเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ชุดที่ 3 เมื่อหันมามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทางการปฏิบัติครั้งนี้ พบว่า สภาที่ปรึกษาฯ ไม่ได้นำข้อเสนอหรือบทเรียนจากงานศึกษาที่เคยค้นพบ มาเป็นแนวทางในการคัดเลือกองค์กรครั้งที่ 3 นี้เลย ซึ่งเป็นชุดข้อมูลสำคัญในการรู้จักลักษณะะงานองค์กรในกลุ่มฐานต่างๆ ความเหมาะสมของบุคคลที่จะมีคุณสมบัติตามองค์กร ในฐานนั้นๆ ดังจะเห็นได้จากองค์กรที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าองค์กรที่สมัครเข้ามาส่วนใหญ่ มาจากฐานองค์กรจัดตั้งระดับชุมชน ที่สมัครเข้ามาในฐานต่างๆ ตามที่มีการจัดตั้งกันไว้ ว่าผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ จะอยู่ในฐานไหน ก็จะมีการพยายามระดมและจัดตั้งองค์กรเข้ามาในฐานนั้นเลย ขอเพียงมีหลักฐานครบตามระเบียบที่คณะกรรมการสรรหา ฯ วางไว้ ก็เพียงพอ โดยไม่สนใจว่าองค์กรนั้นๆ จะสอดคล้องในกลุ่มตาม พรบ. สภาที่ปรึกษา ฯ หรือไม่ อยากลงสมัครกลุ่มไหน ก็สามารถอยู่ในฐานนั้นได้เลย สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ขึ้นมาทำหน้าที่พิเศษในกระบวนการทำงาน ไม่ใช้โครงสร้างองค์กร ที่มีสำนักประสานความร่วมมือองค์กรเครือข่ายมาปฏิบัติหน้าที่ตรง ส่งผลต่อการพิจารณาองค์กรที่ดูแปลกๆ ผิดฐาน ผิดกลุ่ม แต่ก็ผ่านหรือหลุดมาได้เลย ในกระบวนการกลั่นกรองใบสมัครขาดการพิจารณาองค์กรที่รอบด้านและเหมาะสม ดังจะเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เมื่อดูตามรายชื่อองค์กรที่ประกาศจะพบว่า เป็นกลุ่มที่กระจายลงสมัครในทุกฐานทั้งกลุ่มในภาคสังคม และกลุ่มในภาคเศรษฐกิจ ซึ่งความเหมาะสมและกิจกรรมของกลุ่มนี้ จะต้องจัดในกลุ่มเศรษฐกิจ ฐานการผลิตด้านการเกษตร หรือองค์กรที่เป็นหอการค้ามาลงสมัครในฐานการพัฒนาระบบการเกษตร เป็นต้น ถึงแม้จะมีวัตถุประสงค์องค์กร ที่เกี่ยวข้องกับด้านอื่นก็ตาม ดังนั้นในการคัดเลือกผู้สมัครครั้งนี้ จึงพบว่ามีผู้แทนที่ถูกส่งมาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถูกจัดตั้งเข้ามาเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างในกลุ่มฐานทรัพยากร {3} จากการตรวจสอบบัญชีรายชื่อองค์กรทั้งหมดที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นองค์กรผู้มีสิทธิเสนอชื่อสมาชิก (แบบสศ.5-01) มีองค์กรที่สมัครจำนวน 171 องค์กร พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีองค์กรที่เสนอชื่อมากที่สุด 62 องค์กร มาจากจังหวัดอุบลราชธานี 34 องค์กร ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ทำอาชีพทอผ้า ทอเสื่อ น้ำยาล้างจาน เพาะเห็ด เป็นต้น (ประกาศชื่อองค์กร สถานที่ตั้ง และผู้ทำการแทน ) ภายหลัง ประกาศรายชื่อองค์กร อนุกรรมการได้มีการพิจารณา รายชื่อองค์กร คุณสมบัติและความเหมาะสมขององค์กร และได้ประกาศบัญชีรายชื่อองค์กรผู้มีสิทธิเสนอชื่อสมาชิก ในกลุ่มภาคฐานทรัพยากร เรียงลำดับตามตัวอักษร จำนวน 118 องค์กร และต่อมาคัดเลือกเหลือเพียง 77 คน และได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิคัดเลือกกันเองในกลุ่มฐานทรัพยากรเรียงตามกลุ่มฐานทรัพยากร โดยไม่ระบุองค์กร ซึ่งในจำนวน 77 คน นี้ มาจากจังหวัดอุบลราชธานี เป็นอันดับหนึ่งจำนวน 19 องค์กร (ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มองค์กรกลุ่มวิสาหกิจชุมชน)

ในเวทีครั้งนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อมาคัดเลือกกันเองจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในกลุ่มฐานทรัพยากรที่มาจาก จังหวัดอุบลราชธานี หลายคนเล่าให้ฟังว่า "ไม่ทราบเหมือนกัน ทำไมองค์กรตัวเองถูกจัดอยู่ในกลุ่มฐานทรัพยากร" กลุ่มตนเองนั้น บางกลุ่ม ผลิตน้ำยาล้างจาน ทอเสื่อกก ผ้าไหม "มีคนลงไปช่วยเขียนใบสมัครให้ และก่อนที่จะมีการคัดเลือกกันเอง ก็ได้มีการนำพาชาวบ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไปทัศนศึกษานอกสถานที่ และนั่งรถตู้มาด้วยกัน" ซึ่งถ้าพิจารณาในเอกสารทะเบียนประวัติบุคคลผู้มีสิทธิคัดเลือกกันเองเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในกลุ่มฐานทรัพยากร ซึ่งแจกให้ผู้มีสิทธิคัดเลือกกันเอง ในวันลงทะเบียน จะพบว่า ผู้ที่กรอกประวัติและวิสัยทัศน์มีลายมือที่เหมือนกันเป็นจำนวนมากในกลุ่มผู้ที่ถูกเสนอชื่อจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

ในที่สุดผลการคัดเลือกสมาชิกในกลุ่มฐานทรัพยากร ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในกลุ่มนี้ จำนวน 10 คน มีสมาชิกที่ได้รับการคัดเลือก ตามลำดับการสมัคร เป็นผู้สมัครในฐานทรัพยากรด้านที่ดิน (หมายเลข 11 ,12 , 18 และ21) แหล่งน้ำ ลุ่มน้ำ (หมายเลข 38 ,42 และ 53) และความหลากหลายทางชีวภาพ (หมายเลข 57 ,58 และ 67 ) มีผู้ผ่านการคัดเลือกจากจังหวัดอุบลราชธานี 2 คน และเมื่อพิจารณาในภาพรวม ของผู้ได้รับการคัดเลือกในกลุ่มฐานทรัพยากร จะเห็นได้ว่า ถ้ามีการพิจารณาคุณสมบัติที่เหมาะสมแล้ว ดูจากรายชื่อองค์กรที่เสนอชื่อ และคุณสมบัติผู้สมัคร ที่แสดงวิสัยทัศน์ในเอกสารประกอบที่แจกให้ในวันลงทะเบียน และในเวทีการแลกเปลี่ยนเพื่อแนะนำตนเอง บางคนไม่แสดงวิสัยทัศน์เลย มีคุณสมบัติและประสบการณ์การทำงานที่ไม่สอดคล้องที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนในกลุ่มฐานทรัพยากรได้เลย ดังจะเห็นได้จากรายละเอียดที่แสดงตามตารางดังนี้

หมายเลข
องค์กรเสนอชื่อ
อาชีพ/ตำแหน่งปัจจุบัน
11
ชุมนุมสหกรณ์สกย.อุตสาหกรรมการเกษตรจำกัด
ทำงานในฝ่ายประสานงานโครงการยางพารา
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์
12
ชมรมคนรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง
กรรมการบริหารบริษัทิเชียงใหม่ยานยนต์ เซอร์วิสจำกัดและกรรมการบริหารบริษัทิกรีนไอเดีย จำกัด
18
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านสมบูรณ์พัฒนา
รับราชการตำแหน่ง เกษตรและสหกรณ์
จังหวัดอุบลราชธานี
21
 
กลุ่มคนรักษ์ถิ่น

ไม่ส่งข้อมูลแนะนำตนเองตามแบบสศ.8-01
ไม่แสดงวิสัยทัศน์ในเวทีแลกเปลี่ยน
38
กลุ่มพลังงานพัฒนา
ประธานกลุ่มพลังงานบ้านเรา เติมชีวิตให้สายน้ำคลองแสนแสบ
ประธานกลุ่มแม่บ้านตำรวจ แฟลตตำรวจฝ่ายสืบสวนผลิตจำหน่ายสินค้ากลุ่ม ฝึกอาชีพ สร้างรายได้
ไม่แสดงวิสัยทัศน์ในเวทีแลกเปลี่ยน
42
คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม

เจ้าของสำนักงานสถาปนิกนิวัตร ตันตยานุสรณ์
เจ้าของบ้านสวนสันทรายรีสอร์ท
เจ้าของโรงแรม3บี จังหวัดเชียงใหม่
53
ชมรมรักษ์แก่งสะพือ

เลขานุการชุมนุมสหกรณ์สกย.อุตสาหกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด
เจ้าของร้านอุบลเกษตรรุ่งเรือง
ไม่แสดงวิสัยทัศน์ในเวทีแลกเปลี่ยน
57
มูลนิธิสถาบันพลังงาน
ไม่ส่งข้อมูลแนะนำตนเอง
ตามแบบสศ.8-01
58
กลุ่มคัดแยกขยะบ้านไร่น้อย ไม่ส่งข้อมูลแนะนำตนเองตามแบบสศ.8-01
67
สมาคมที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมไทย

สมาคมที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมไทย
นายกสมาคมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
และพิทักษ์สิ่งแวดล้อมตราด

นอกจากนี้ในกลุ่มฐานทรัพยากรได้ถูกกำหนดไว้ว่า จะต้องครอบคลุม ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ลุ่มน้ำ อากาศ ทะเล และความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกครั้งนี้ไม่มีผู้แทนที่ครอบคลุมทุกฐาน แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเตรียมการล่วงหน้าที่ถูกจัดตั้งมา เวทีที่ถูกจัดขึ้นเพื่อให้ผู้สมัครได้รู้จักกันเอง การแสดงวิสัยทัศน์ และจากการอ่านเอกสารที่แจกในวันประชุม จึงไม่ได้มีความหมายแต่อย่างใด ที่จะทำให้ผู้สมัครที่จะมาคัดเลือกกันเองได้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม สอดคล้องที่สามารถจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาคประชาชน บางคนไม่เขียนและไม่แสดงวิสัยทัศน์แต่ก็ได้รับการคัดเลือก เพราะในความเป็นจริง เวทีนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ให้กับบุคคล ที่หวังประโยชน์ตนเองมากกว่าส่วนรวม ในการเข้ามาเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงได้ถูกใช้เป็นเวทีของผู้มีความอยาก แล้ว ประชาชนจะมีความหวังกับองค์กรนี้ได้อย่างไรว่า สภาที่ปรึกษาฯ จะเป็นองค์กรแห่งปัญญา ให้คำปรึกษา สะท้อนปัญหาจากประชาสู่รัฐ


นักวิจัยโครงการศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับองค์กรเครือข่ายและระบบฐานข้อมูลองค์กรเครือข่าย
และระบบฐานข้อมูลองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ปี 2550

9 มิถุนายน 2552


{1} แบ่งออกเป็น กลุ่มภาคเศรษฐกิจกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร 385 องค์กร กลุ่มการผลิตด้านการอุตสาหกรรม 152 องค์กร กลุ่มการผลิตด้านกลุ่มบริการ 188 องค์กร กลุ่มการพัฒนาชุมชน 95 องค์กร กลุ่มการสาธารณสุข300 องค์กร กลุ่มการศึกษาศิลปะวัฒนธรรมและศาสนา164 องค์กร กลุ่มการพัฒนาสงเคราะห์คนพิการ55 องค์กร กลุ่มพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ147 องค์กร กลุ่มพัฒนาแรงงาน91 องค์กร กลุ่มการคุ้มครองผู้บริโภค23 องค์กร กลุ่มฐานทรัพยากร171 องค์กร กลุ่มการพัฒนาระบบการเกษตร78 องค์กร กลุ่มพัฒนาระบบการอุตสาหกรรม 23 องค์กร กลุ่มพัฒนาระบบการบริการ 26 องค์กร และไม่ระบุกลุ่ม 35 องค์กร

{2} จากการศึกษาเอกสารบัญชีรายชื่อองค์กรผู้มีสิทธิเสนอชื่อทั้งสองครั้ง เพื่อนำมาประกอบในการวิเคราะห์ฐานข้อมูล โครงการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ฐานรายชื่อองค์กรส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มภาคเศรษฐกิจ ในฐานการผลิตด้านการเกษตร ประเภท กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสตรีแม่บ้าน คณะกรรมการกองทุน กขคจ. คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดต่างๆ กองทุนหมู่บ้าน เป็นจำนวนมาก ร้อยละ 69 ขององค์กรที่เสนอชื่อเป็นองค์กรผู้มีสิทธิ แต่เมื่อผ่านกระบวนการคัดเลือกกลุ่มนี้จะถูกคัดออกด้วยเหตุผล เอกสาร หลักฐานไม่ครบ จึงเกิดคำถามว่า กลุ่มองค์กรเหล่านี้ เสนอชื่อองค์กรตัวเองเข้ามาด้วยเหตุผลมีความเข้าใจในบทบาทสภาที่ปรึกษาฯจริงอยากมีส่วนร่วมใช้สิทธิองค์กร หรือเป็นการระดมฐานองค์กรชุมชนเข้ามาแบบองค์กรจัดตั้ง โดยขาดความเข้าใจภารกิจสภาที่ปรึกษาอย่างแท้จริง

{3} กลุ่มฐานทรัพยากร หมายถึงองค์กรและเครือข่ายที่ทำงานด้านการฟื้นฟู อนุรักษ์ และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ให้เป็นฐานการผลิตของระบบเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยลักษณะงานอาจทำงานปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และแนวคิดของทุกฝ่าย ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ มีลักษณะดังต่อไปนี้ 1) องค์กรเครือขายที่ทำงานเกี่ยวกับฐานทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ ลุ่มน้ำ ทะเล ชายฝั่ง ความหลากหลายทางชีวภาพ และรวมถึงมลพิษต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม 2) เกิดจากการที่สมาชิกที่มีเป้าหมายงานร่วมกัน แต่ไม่ใช่รวมตัวกันเพื่อสร้างรายได้เข้าองค์กรหรือเครือข่าย 3) มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเกิดผลจากกระบวนการทำงานร่วมกันตามภารกิจขององค์กร 4) องค์กรประสานงานจะต้องไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากกิจกรรมที่ทำนั้นเป็นการส่วนตัว และจะต้องกระจายประโยชน์ให้กับสมาชิกอย่างทั่วถึง และ5) มีการบริหารจัดการองค์กรที่ชัดเจน มีทิศทาง เป้าหมายและแผนงานขององค์กรและเครือข่ายที่ชัดเจนต่อเนื่อง

        http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1228

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew