"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ชิงเค้กแสนล้านโครงการ"ไทยเข้มแข็ง"เพื่อ"นักการเมืองเข้มแข็ง"

ชิงเค้กแสนล้านโครงการ"ไทยเข้มแข็ง"เพื่อ"นักการเมืองเข้มแข็ง"
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 มิถุนายน 2552 15:16 น.
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
       ASTVผู้จัดการรายวัน – เปิดโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” เพื่อ “นักการเมืองเข้มแข็ง” เค้กก้อนใหญ่สองแสนล้านในอุ้งมือสองพรรคใหญ่ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ “ชวรัตน์” ฟาด 3.5 พันล้านโครงการเพิ่มประสิทธิภาพกรมโยธาธิการและกปภ.แบบใสๆ ไม่มีรายละเอียดเนื้องาน ด้าน “ซาเล้ง” ดันถนนปลอดฝุ่นไปนอนรองบ 1.4 หมื่นล้าน ส่วน “อู๊ดด้า” ไม่น้อยหน้ามีงานสร้างจิตสำนึกเด็กไทยมาเสนอเบาๆ 3.2 พันล้าน ขณะที่งานก่อสร้างสำคัญกว่าแค่หมื่นล้านขอให้ “มาร์ค” รีบจัดมา
       
       เม็ดเงินคอมมิชชั่นจากโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี หรือใต้โต๊ะจากการประมูลสต็อกข้าวรัฐบาล 2 ล้านกว่าตัน ซึ่งพรรคแกนนำรัฐบาลกับพรรคร่วมงัดข้อต่อรองกันตลอด 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเพียงเศษเสี้ยวหากเทียบกับผลประโยชน์ที่จะมาพร้อมกับโครงการลงทุนภายใต้ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 “แผนปฏิบัติการ : ไทยเข้มแข็ง 2555” เม็ดเงินลงทุนช่วงปี 2552-2555 รวมทั้งหมดกว่า 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งหากพลิกดูรายโครงการจะพบว่า เม็ดเงินส่วนใหญ่จะไหลไปกองอยู่ในกระทรวงที่สองพรรคใหญ่ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย กุมอำนาจบริหาร
       
       ภายใต้โครงการดังกล่าว รัฐบาลแบ่งแผนการระดมทุนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) โครงการที่รัฐวิสาหกิจรับภาระการลงทุนเอง ในสาขาพลังงานและพลังงานทดแทน สาขาการสื่อสาร ขนส่ง วงเงินรวม 321,162 ล้านบาท
       
       และ 2) โครงการที่รัฐบาลรับภาระการลงทุนเองโดยเป็นโครงการของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ในสาขาบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิภาพของประชาชน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาการท่องเที่ยว เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และการลงทุนระดับชุมชน วงเงินลงทุน 1,110,168 ล้านบาท
       
       สำหรับแหล่งเงินทุน ในช่วงปี 2552- 2553 จะมาจากงบประมาณที่คาดว่าจะได้รับจัดสรร 21,003 ล้านบาท รายได้ของรัฐวิสาหกิจ (สมทบ) 64 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศตามกฎหมายปกติ 3,054 ล้านบาท เงินกู้ต่างประเทศตามกฎหมายปกติ 26,198 ล้านบาท เอกชนร่วมลงทุน 2,771 ล้านบาท
       
       *** ส่วนเม็ดเงินลงทุนอีกประมาณ 289,070 ล้านบาท สำหรับลงทุนภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งฯ รัฐบาลต้องจัดหาแหล่งเงินลงทุนเพิ่มเติมโดยการกู้เงินตามพ.ร.ก.ให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. ……..
       
       โครงการลงทุนไทยเข้มแข็งฯ ที่รัฐบาลต้องกู้พิเศษตามพ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ประชาธิปัตย์ใช้ต่อรองกับภูมิใจไทยเพื่อให้เสียงโหวต ผ่านกฎหมายนี้ไม่มีปัญหา
       
       *** และเมื่อถึงเวลานั้น อาจเป็นได้ว่า โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี โครงการประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาล และการระบายสินค้าเกษตรต่างๆ ทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง ก็อาจ “ไม่มีอะไรในกอไผ่” เพราะได้รับการฟอกผ่านสภาพัฒน์และสำนักงานอัยการสูงสุด รวมทั้งมีการวางหลักเกณฑ์การระบายสินค้าเกษตรชัดเจนดีแล้ว
       

       ข้อสังเกตข้างต้นจะจริงเท็จประการใด อีกไม่นานสังคมก็คงได้ประจักษ์
       
       **** กังขาไทยหรือใครเข้มแข็ง
       
       สำหรับประเด็นข้อกังขาจากการออกกฎหมายกู้เงินสำหรับโครงการไทยเข้ม แข็งฯ นั้น นายคำนูน สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ชี้ว่าไม่มีความชอบมาพากลใน 2 ประการสำคัญ
       
       ประการแรก โครงการต่างๆ ที่นำมารวมอยู่ในโครงการไทยเข้มแข็งนั้นเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสามารถนำมาบรรจุไว้ในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ที่รัฐบาลกำหนดจะเสนอต่อรัฐสภาในสมัยวิสามัญ วันที่ 15 – 23 มิ.ย.นี้พร้อมกับพ.ร.บ.และพ.ร.ก.เงินกู้ 2 ฉบับอยู่แล้ว แต่รัฐบาลกลับตัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ลง 2 แสนล้านแล้วโยกมาบรรจุไว้ในพ.ร.ก.เงินกู้แทน เหมือนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐสภา
       
       ประการที่สอง การดำเนินการดังกล่าวทำให้วงเงินงบประมาณปี 2553 น้อยกว่างบประมาณปี 2552 บวกด้วยงบกลางปี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในการจัดทำงบประมาณแผ่นดินของประเทศ ส่งผลต่อวินัยการเงินการคลังของชาติ
       
       หากลงลึกลงไปในรายละเอียดโครงการไทยเข้มแข็ง จึงน่ากังขาว่า “ไทยเข้มแข็ง” หรือ “ใครเข้มแข็ง” หรือ “นักการเมืองเข้มแข็ง” กันแน่ ?
       
       ***“ชวรัตน์”ฟาด 3,500 ล.กรมโยธาฯ – กปภ.
       
       สำหรับโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งฯ ช่วงปี 2552-2553 ซึ่งรัฐบาลต้องกู้เงินมาลงทุน รวม 11 สาขา แยกเป็น
       
       1)บริหารจัดการน้ำ/น้ำเพื่อการเกษตร เป็นโครงการด้านการบำรุงฟื้นฟูระบบชลประทานเดิม ก่อสร้างฝายอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็ก บรรเทาอุทกภัย ปรับปรุงพันธุ์และกระจายพันธุ์พืช และโครงการระบบเครือข่ายน้ำ พัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน และเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยราชการ หน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงมหาดไทย รวมวงเงิน 67,113 ล้านบาท
       
       โครงการลงทุนในสาขาบริหารจัดการน้ำข้างต้น เม็ดเงินก้อนใหญ่จะจัดสรรให้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติที่ เสื่อมโทรมทั่วประเทศ กรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 7,745 ล้าน, โครงการปรับปรุงบำรุงรักษาโครงการในระบบชลประทานเดิม จำนวน 22,251 ล้าน, โครงการก่อสร้างฝาย อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กลางและใหญ่ กรมชลประทาน 19,714 ล้าน โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย กรมชลประทาน 8,967 ล้าน
       
       *** ส่วนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานราชการนั้น มีข้อน่าสังเกตว่า รัฐบาลตั้งงบให้กรมโยธาธิการ มากถึง 1,554 ล้าน และ การประปาส่วนภูมิภาค 2,000 ล้านโดยไม่ได้มีรายละเอียดใดๆ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานอยู่ภายใต้การดูแลของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงมหาดไทย
       
       ***ตั้งงบถนนปลอดฝุ่น 14,000 ล้าน
       

       2) สาขาขนส่ง/ลอจีสติกส์ กระทรวงคมนาคม วงเงิน 65,531 ล้าน ประกอบด้วย โครงการระบบรถไฟฟ้า สายสีแดง ม่วง เขียว ชมพู น้ำตาล ของ รฟม. 4,842 ล้าน,ขนส่งทางราง เช่น จัดหาโบกี้ หัวรถจักรดีเซล ปรับปรุงทางระยะที่ 6 (แก่งคอย-บัวใหญ่-หนองคาย) รถไฟทางคู่ (ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) 2,455 ล้าน, ขนส่งทางถนน ของกรมทางหลวง เช่น โครงการบูรณะทางหลวงสายหลักที่เชื่อมโยงระหว่างภาค 1,565 ล้าน, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง โดยก่อสร้างเฉพาะจุดที่เป็นปัญหาและอันตราย 2,127 ล้านบาท
       
       โครงการอำนวยความสะดวก เช่น ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟจราจร ตีเส้น เครื่องหมายจราจร ทั่วประเทศ 3,300 ล้าน,
       
       โครงการพัฒนาทางหลวง (โครงการย่อย) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ปรับปรุงทางหลวงผ่านชุมชน ปรับปรุงทางหลวงลาดยาง 2,600 ล้าน, โครงการบำรุงรักษาทางหลวงทั่วประเทศ 14,034 ล้าน และโครงการถนนปลอดฝุ่น โดยราดยางถนนลูกรังทั่วประเทศ 14,821 ล้านบาท
       
       นอกจากนั้น ยังตั้งงบโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือปากบารา กรมขนส่งทางน้ำ 1,754 ล้านบาท
       
       3) โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม รวมวงเงิน 1,159 ล้านบาท เช่น จัดทำระบบประปา ระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำ, ปรับปรุงสถานีรถไฟ สถานีขนส่งผู้โดยสาร
       
       ***ศธ.สร้างจิตสำนึกเด็ก 3,200ล.-ก่อสร้าง 9,000ล.
       
       4) โครงการพื้นฐาน/พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, พัฒนาสังคมฯ, สำนักนายกฯ, วิทยาศาสตร์ งบรวม 53,270 ล้าน เช่น โครงการพัฒนาครูทั้งระบบ 8,149 ล้าน, โครงการปัจจัยสนับสนุนด้านการศึกษา จัดหาระบบคอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตฯ 12,922 ล้าน, โครงการยกระดับอาชีวศึกษา 6,187 ล้าน, โครงการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษา 1252 ล้าน,
       
       *** โครงการสร้างจิตสำนึกความเป็นไทยเพื่อพัฒนาเด็กไทยอย่างยั่งยืน งบ 3,200 ล้าน ด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้จิตอาสาชุมชน จัดซื้ออุปกรณ์ดนตรีไทย กีฬาไทย สื่อการสอนภาษาไทย จ้างภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านประวัติศาสตร์ไทย ดนตรีไทย กีฬาไทย,
       
       โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสู่มาตรฐาน งบ 5,697 ล้าน ลักษณะโครงการ เช่น พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก, จัดหาที่พักให้แก่นักเรียนในพื้นที่ยากลำบากไม่สามารถเดินทางไปกลับบ้านได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง
       
       โครงการเพิ่มประสิทธิภาพของส่วนราชการ วงเงินลงทุนเพื่อจัดหาครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง 9,346 ล้าน
       
       5) โครงสร้างพื้นฐาน/พัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข, กทม., ศึกษาธิการ, กลาโหม รวมงบ 32,325 ล้าน
       
       6) โครงสร้างพื้นฐานเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กลาโหม ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยตำรวจชั้นผู้น้อยและข้าราชการ กระทรวงกลาโหม งบรวม 4,826 ล้าน
       
       7) โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์, อุตสาหกรรม, ท่องเที่ยว รวมงบ 3,564 ล้าน
       
       8) โครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ฟื้นฟูต้นน้ำ ลดภาวะโรคร้อน ป้องกันไฟป่า อนุรักษ์ดิน น้ำ กระทรวงทรัพยากรฯ มหาดไทย และเกษตรฯ รวมงบ 2,108 ล้าน
       
       9) การพัฒนาท่องเที่ยว งบ 3,179 ล้านบาท กระจายไปในงานประชุมฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ จัดงานแสดงสินค้า ร่วม 200 กว่าล้าน, โครงการเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ 765 ล้าน, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพของส่วนราชการด้านท่องเที่ยว 619 ล้าน โดยไม่มีรายละเอียดลักษณะโครงการแต่อย่างใด
       
       *** ทุ่ม 500 ล้านตั้งนิคมฯบันเทิง
       
       10) เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ รวมเม็ดเงินลงทุน 4,873 ล้านบาท เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมผลิตสื่อบันเทิง 500 ล้าน ของการนิคมอุตสาหกรรมฯ การส่งเสริมยกระดับทักษะความชำนาญด้านการสร้างสรรค์ ออกแบบ การสร้างองค์ความรู้ต่อยอดและนวัตกรรม ของสภาพัฒน์ 2,000 ล้าน
       
       ***หว่านหมื่นกว่าล้านลงแก้ปัญหาใต้
       
       11) การลงทุนในระดับชุมชน รวม 36,622 ล้าน ประกอบด้วย แผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 14,542 ล้าน, แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 14,713 ล้าน, แผนการสร้างอาชีพและรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพ (ต้นกล้าอาชีพ) 7,115 ล้าน
       
       12) แผนการเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 5 แห่ง คือ บยส., ธกส., ธอส., ธพว. และธสน. เพื่อให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง วงเงิน 14500 ล้าน

http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9520000064318

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew