June 18, 2009
การประท้วงผลการเลือกตั้งของอิหร่านดำเนินต่อเนื่องติดกันเป็นวันที่สี่ เครื่องมือสื่อสารทางสังคมอย่างทวิตเตอร์ กลายเป็นแหล่งรับส่งข้อมูลข่าวสาร แม้ว่าตัวเว็บไซต์ทวิตเตอร์จะถูกบล็อกโดยรัฐบาลอิหร่าน
กลุ่ม Citizen Lab ซึ่งมีฐานปฏิบัติงานอยู่นอกศูนย์ Munk Centre แห่งการศึกษานานาชาติมหาวิทยาลัยโตรอนโต เป็นหนึ่งในหลายๆ กลุ่มที่สร้างซอฟต์แวร์ให้ “พลเมือง” ของอิหร่านลงทะเบียนเข้าใช้งานเซิร์ฟเวอร์ เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ที่ใดก็ได้แบบปลอดภัย “ลอดรั้วการปิดกั้น” ของรัฐบาลและเข้าถึงการบริการทวิตเตอร์
ที่มา - boston.com/bigpicture
รอน เดียเบิร์ท ผู้นำศูนย์แห่งนี้ บางทีอาจเป็นที่รู้จักกันดีว่าทำงานกับกลุ่ม “คลังสมอง” ที่มีฐานอยู่ในอ๊อตตาว่าที่ชื่อ
กลุ่ม SecDev ซึ่งเคยตีพิมพ์รายงานเปิดเผยถึงสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า GhostNet — ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายลับของประเทศจีนที่ใช้ดักจับข้อมูลที่ในคอมพิวเตอร์จำนวนนับพันของรัฐบาลและองค์กรอื่นใน 103 ประเทศ
ส่วน เกร็ก วอลตัน เป็นบรรณาธิการของ Information Warfare Network ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างกลุ่ม SecDev, Citizen Lab และ Advanced Network Research Group ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการศูนย์ความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในสหราชอาณาจักร
ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมาวอลตันได้รับมอบหมายจาก Citizen Lab เพื่อทำให้ชาวอิหร่านสามารถเข้าถึง Twitter ได้ โดยการแจกจ่ายซอฟต์แวร์ที่คนอิหร่านสามารถใช้เพื่อเข้าถึงทวิตเตอร์และ เว็บที่ถูกปิดกั้น
รายงานจาก CBC News สัมภาษณ์วอลตันทางอีเมลล์เพื่อสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์การปฏิวัติของประชาชนผ่านระบบออนไลน์
คำถาม : รัฐบาลอิหร่านพยายามตัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหลังการเลือกตั้งได้อย่างไร
ตอบ : ในฐานะนักวิจัยของ ONI (the Open Net Initiative) ของเอเชีย ผมเกรงว่าเรายังคงไม่สามารถพัฒนาระบบเครื่องมือตรวจสอบ อย่างที่ศาสตราจารย์เดียเบิร์ตเรียกว่า “การปิดกั้นแบบทันที” (just-in-time censorship” ในช่วงการรณรงค์การเลือกตั้งได้ แต่วิศวกรของเรากำลังทำงานหามรุ่งหามค่ำกับโครงการนี้ ดังนั้นผมจึงทำได้เพียงแต่รายงานจากสิ่งที่ผมได้ยินมาจากเตหะราน เกี่ยวกับการที่เว็บไซต์โดนบล็อก
เว็บไซต์ที่เป็นเครือข่ายทางสังคม (Social network) ถูกปิดกั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง twitter และ facebook แต่ชาวอิหร่านพยายามใช้พร็อกซี่เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านี้ เว็บไซต์ของฝ่ายค้านก็ถูกบล็อกด้วย เราไม่สามารถยืนยันรายงานเหล่านี้ได้ เครื่องมือวิเคราะห์ที่ดีที่สุดเกี่ยวกับสถานะเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในอิหร่านสามารถดูได้จาก CircleID
คำถาม : สภาพการปิดล้อมทางข้อมูลข่าวสารเป็นอย่างไร?
ตอบ : ผมพูดในฐานะผู้วางระบบ Psi-Operator ของ Psiphon Inc — ผมสามารถบอกคุณได้ว่าเราใช้การรณรงค์ผ่านทางทวิตเตอร์อย่างหนัก ในการปฏิบัติการแพร่กระจายโหนดพร็อกซี่ของเราออกไปทั่ว เราให้สิ่งที่เราเรียกว่า โหนด “right2know” เพื่อ “โยน” เว็บที่ถูกปิดกั้นกลับไปให้ชาวอิหร่าน แล้วพวกเขาก็สามารถ “เซิร์ฟ” ผ่านเนื้อหาที่ถูกปิดกั้นนั้นได้ โดยไม่จำต้องลงทะเบียนล็อกอินเลย พวกเขาอาจจะเลือกที่จะลงทะเบียนใช้งานก็ได้ เรามีคนนับร้อยต่อนาทีเข้าใช้งาน ในช่วงชั่งโมงครึ่งที่เราติดตั้งโหนดแรกสำเร็จ
คำถาม : คนที่ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ไป พวกเขาพยายามจะดูอะไร?
ตอบ : ผมไม่สะดวกนักที่จะพูดถึงสถิติที่คนเซิร์ฟมาจากอิหร่าน แต่เพื่อให้คุณพอได้เห็นภาพบ้าง — RadioFarda ได้รับความนิยมสูงสุดเนื่องจากมันเป็นเฟสบุ๊คฉบับโมบายล์, นอกจากนี้ก็มี BBC และสำนักข่าวต่างประเทศอื่นๆ
คำถาม : ผลกระทบที่เครือข่ายทางสังคม และโลกอินเทอร์เน็ต “ปั้น” โครงร่างของสถานการณ์ในอิหร่านเมื่อ 72 ชั่วโมงที่ผ่านมา?
เมื่อพูดในฐานะที่เป็นบรรณาธิการของ Information Warfare Monitor ผมสามารถยืนยันได้ว่าเราสามารถติดตามการยิงสัญญาณ DDOS (distributed denial of service - เป็นกระบวนการส่งแพ็คเก็ตทางอินเทอร์เน็ตเพื่อมีเป้าหมายทำลายการให้บริการของเซิร์ฟเวอร์แบบหนึ่ง) จำนวนนับพันๆครั้งเพื่อโจมตีช่องทาง #iranelection ของทวิตเตอร์ ที่ใช้ในการต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน
เราได้ เตือนให้ผู้ใช้งานอดทนต่อการโจมตี (โดยที่เราส่งข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ไปว่า : ) “Pls resist calls to DDOS govt websites - will slow down access for everybody going through Iran’s int gateway #cyberwar.” เราสามารถยืนยันได้ว่าเว็บไซต์รัฐบาลบางเว็บไซต์ถูกเข้าไปแก้ข้อมูล — แต่ตอนนี้ก็ถูกกู้กลับคืนมาแล้ว — นอกจากเว็บ http://radio.irib.ir/ ซึ่งตอนนี้หยุดการให้บริการ และถูกเข้าไปแก้ข้อมูล แต่ผมไม่มี screenshot ของเว็บนี้เก็บไว้ ที่มันต้องยุติการให้บริการอาจเป็นเพราะ DDOS
ผมอยากจะเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า “สงครามเน็ต” (netwar) ซึ่งตรงข้ามกับ “สงครามไซเบอร์” (cyberwar)
สงครามเน็ตเป็นคำศัพท์ที่ถูกนิยามขึ้นโดยจอห์น อาร์คิวลา และ เดวิด รอนเฟลดท์ นักวิจัยจาก RAND เพื่ออธิบายการผุดบังเกิดขึ้นมาเป็นรูปแบบของ ความขัดแย้งที่มีความเข้มข้นน้อย, อาชญากรรม หรือ การรณรงค์โดยแอ็คติวิสท์ผ่านเน็ต ซึ่งบางทีอาจจะรวมไปถึงผู้ก่อการร้ายข้ามขาติ, องค์กรอาชญากรรม, กลุ่มแอ็คติวิสท์ หรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เคลื่อนไหวแบบปราศจากการรวมศูนย์ ยืดหยุ่น และมีโครงสร้างแบบเครือข่าย
คำศัพท์นี้ถูกนิยมขึ้นเพื่ออธิบายถึงการแพร่กระจายขององค์กรที่มีโครงสร้างแบบฐานเครือข่าย (network-based) ที่เกิดขึ้นจากการขัดแย้งทางสังคมที่มีความเข้มข้นต่ำ ส่วนการใช้คำศัพท์อื่นเช่น “สงครามข้อมูลข่าวสาร” (information warfare) นั้นไม่เพียงพอต่อการอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากมันให้ภาพทางเทคโนโลยีที่แคบเกินไป และมองข้ามการเปลี่ยนผ่านทางสังคมที่เกิดขึ้นโดยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ส่วนคำศัพท์ “สงครามไซเบอร์” จะหมายถึงสิ่งที่อาร์คิวลา และรอนเฟลดท์ ต้องการมุ่งหมายถึงความขัดแย้งในยุคข้อมูลข่าวสารที่มีความเข้มข้นสูง [1]
SIU จะรายงานสถานการณ์การเมืองในอิหร่านอย่างต่อเนื่อง
………………………………………………………….
หมายเหตุ
[1] หมายถึงความขัดแย้งรัฐต่อรัฐ
http://www.prachatai.com/journal/2009/06/24739
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น