| วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4115 ประชาชาติธุรกิจ "ทีวีไทย"จัดทัพท้าชนช่อง 3-7 มุ่งสู่สื่อสาธารณะเต็มรูปแบบ "ทีวีไทย" ปรับยุทธศาสตร์สู้ทีวีช่อง 3, 5, 7, 9 เน้นความหลากหลาย ไม่ผูกติดตัวเลขเรตติ้ง เชิญผู้เชี่ยวชาญนำเสนอแนวทางรายการให้สอดรับกับความต้องในทุกกลุ่ม ผู้ชม คาดอีก 2 เดือนสรุป-นำไปกำหนดผังปีหน้า ล่าสุดเตรียมปรับโครงสร้างทีมข่าวครั้งใหญ่สู้อีกระลอก เผยเน้นการนำเสนอข้อเท็จจริง-ตรวจสอบได้เป็นหลัก นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ "ทีวีไทย" ทีวีสาธารณะ เปิดเผยว่า สถานีโทรทัศน์ทีวีไทยจะมุ่งเน้นนำเสนอความหลากหลาย โดยจะให้น้ำหนักกับรายการที่สะท้อนความเป็นทีวีสาธารณะ โดยไม่ผูกติดกับตัวเลขเรตติ้ง อาทิ รายการประเภทศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สารคดี ฯลฯ ที่เป็นภารกิจหลักของสื่อสาธารณะ เพื่อให้ทีวีไทยสามารถก้าวสู่ความเป็นทีวีสาธารณะได้เต็มรูปแบบในปี 2553 นี้ โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หน้าจอทีวีไทยได้ปรับเปลี่ยนในทิศทางที่ดีขึ้น และจะยิ่งเข้มข้นขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อนสถานีทีวีไทยได้ประกาศเชิญชวนผู้ผลิตต่างๆ เข้ามาร่วมงาน พร้อมทั้งแจกคู่มือแนวทางในการผลิตรายการของทีวีไทย เพื่อเป็นแนวทางในการนำเสนอรายการ พร้อมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาหารือและหาแนวทางในการนำเสนอรายการที่เหมาะสำหรับแต่ละกลุ่มเฉพาะ อาทิ กลุ่มแพทย์ ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ เพื่อนำมากำหนดผังรายการปีหน้าให้สอดรับกับความต้องการของแต่ละกลุ่ม คาดว่าน่าจะสรุปได้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า จากนั้นจะเข้าสู่กระขบวนการผลิต และพร้อมออกอากาศในต้นปีหน้าเป็นต้นไป "ตอนนี้เรามาถูกทางแล้ว เพียงแต่ยังไม่สมบูรณ์ โดยจะพบว่าในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างชัดเจน ทั้งรายการข่าว รายการเยาวชน สำหรับช่วง วันเสาร์-อาทิตย์ ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาทำรายการ ส่วนรายการสาระบันเทิงก็ได้รับการตอบรับที่ดีไม่แพ้กัน" นอกจากนี้สถานียังอยู่ระหว่างการปรับทีมข่าว และโฉมรายการข่าว โดยสร้างความแตกต่างด้วยการหลีกเลี่ยงกระแส และหันมาจับประเด็นที่มีผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะประเด็นการตรวจสอบมากขึ้น เพื่อแข่งขันกับสถานีเชิงพาณิชย์ที่กำลังแข่งขันกันอย่างรุนแรงในขณะนี้ แต่ทีวีไทยจะเน้นรายการข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น การตรวจสอบเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับรูปแบบการนำเสนอ นายเทพชัยกล่าวถึงงบฯสนับสนุนว่า ปีที่ผ่านมา ทีวีไทยมีงบฯ 1,790 ล้านบาท แบ่งเป็นต้นทุนค่าผลิตและจัดหารายการประมาณ 28% ส่วนปีนี้คาดว่าจะใช้งบฯใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่สำหรับงบฯผลิตและจัดหารายการน่าจะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการสร้างรายได้นั้นได้เปิดโอกาสให้สามารถนำรายการที่สถานีผลิตขึ้นเองและจ้างผลิตไปต่อยอดด้วยการขายลิขสิทธิ์ ให้บริการเช่าอุปกรณ์ รวมถึงรับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ได้ คาดว่าภาพความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนน่าจะชัดเจนขึ้นในปีหน้า อาทิ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมทำรายการยุติธรรมชุมชน หรือร่วมกับธนาคารอิสลามทำละคร เป็นต้น หน้า 22 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น