สีสันประท้วงการเลือกตั้งในอิหร่าน จากสนามฟุตบอลสู่กระดานข่าว
Thu, 2009-06-18 04:58
โมฮัมหมัด อาลี คาริมี (ซ้าย) กัปตันทีมชาติอิหร่านสวมปลอกแขนสีเขียว (สีของผู้สนับสนุนมูวซาวี) ขณะแข่งขันฟุตบอลกับทีมชาติเกาหลีในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก
(ที่มา : AP Photo / Lee-Jin Man)
ฟุตบอลอิหร่านก็เอาด้วย สวมปลอกแขนสีเขียวลงฟาดแข้งที่กรุงโซล
ในวันที่ 17 มิ.ย. ฟุตบอลทีมชาติอิหร่านได้ไปแข่งกับทีมชาติเกาหลีใต้ในฐานะทีมเยือนที่กรุงโซล มีสมาชิกในทีมอิหร่านบางคนสวมปลอกแขนสีเขียวในครึ่งแรก แต่ถูกบังคับให้ถอดออกในครึ่งหลัง โดยเหลือเพียงเมห์ดี มาห์ดาวิเคีย เท่านั้นที่ยังไม่ยอมถอดออก
ซึ่งสีเขียวในอิหร่านตอนนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของมีร์ ฮอสเซน มูวซาวี จากพรรคฝ่ายค้านไปแล้ว โดยนักฟุตบอลที่ชื่อ เมห์ดี มาห์ดาวิเคีย มีปลอกแขนสีเขียวหนากว่าคนอื่นในทีม ขณะที่อาลี คาริมี ดาราใหญ่ของวงการน่องเหล็กอิหร่านก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สวมปลอกแขนสีเขียว โดยการแข่งขันในครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดไปในประเทศอิหร่านด้วย
เกมจบลงด้วยการเสมอกัน 1-1 มีแฟนลูกหนังคนหนึ่งที่ดูการแข่งขันจากเตหรานบอกว่า ไม่ว่าอิหร่านจะชนะหรือแพ้ในวันนี้ แต่สิ่งที่ผู้เล่นบางคนทำไว้ก็ทำให้รู้สึกชื่นบาน
แต่ทางผู้จัดการทีมฟุตบอล แมนซัวร์ พัว-เฮย์ดารี ดูจะพยายามลดความสำคัญของการใส่สีเขียวของลูกทีมลง เขาบอกกับสำนักข่าว Mehr ว่าการใส่ปลอกแขนสีเขียวของผู้เล่นเป็นการแสดงความเชื่อทางศาสนา และเป็นเสมือนของนำโชคเท่านั้น
ภาพตราของเว็บเดอะ เปอร์เซียน เบย์
ภาพตราของเว็บเดอะ ไพเรท เบย์ ก่อนการเปลี่ยนแปลง
เว็บไพเรท เบย์ ก็ทา 'เขียว' พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นเปอร์เซียน เบย์ ลิงค์เข้ากระดานข่าวคนอิหร่าน
เว็บไซต์ดาวน์โหลดไฟล์บิททอเรน (BitTorrent) ของสวีเดนที่ชื่อเดอะ ไพเรท เบย์ (The Pirate Bay) เปลี่ยนตราในหน้าแรกของตนเป็นเดอะ เปอร์เซียน เบย์ (The Persian Bay) ซึ่งเป็นความพยายามเพิ่มความตื่นตัวในกระดานข่าวที่สร้างขึ้นโดยกลุ่ม "นิรนาม" (Anonymous) ทางอินเตอร์เน็ตที่อนุญาตให้ชาวอิหร่านได้สื่อสารกันโดยไม่มีรัฐบาลคอยตรวจสอบ
"นิรนาม" หรือ Anonymous เป็นกลุ่มหลวมๆ ตั้งแต่ปี 2006 ที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตหลายคนใช้ตอบโต้และจัดตั้งการประท้วงในหลายๆ ประเด็น ก่อนหน้านี้เป้าหมายที่เคยถูกประท้วง YouTube, Habbo Hotel (เว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมที่มีเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่น) และลัทธิ Scientology (ลัทธิที่มีความเชื่อด้านจิตวิญญาณ และมีดาราฮอลลิวูดสนับสนุนมากมาย)
และดูเหมือนว่าเป้าหมายต่อไปจะเป็นรัฐบาลอิหร่าน ที่ตอนนี้เหมือนจะพยายามปิดกั้นการสื่อสารกันทางอินเตอร์เน็ต กระานข่าวดังกล่าวมีไว้เพื่อ "เป็นหนทางการสื่อสารกันระหว่างชาวอิหร่านด้วยกันเอง กับครอบครัวของพวกเขาที่อยู่ต่างประเทศรวมถึงกลุ่มอื่นๆ ในอินเตอร์เน็ต"
โดยเมื่อเราเข้าไปในเว็บไซต์ http://www.thepiratebay.org แล้วคลิกที่โลโก้ใหม่ของเว็บ ก็จะเข้าไปสู่เว็บกระดานข่าว Anonymous Iran ซึ่งมีกระดานข่าวพูดคุยเรื่องทั่วไป ข่าวและเหตุการณ์ ประกาศหาคนหาย รายชื่อและการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ การวางแผนชุมนุม รวมถึงมีกระดานข่าวสำหรับแปลข้อมูลจากสองภาษาระหว่างภาษาฟาร์ซี (หรือภาษาเปอร์เซียซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในอิหร่าน) กับภาษาอังกฤษ
บนที่คาดสีเขียวบนหัวกระดานข่าวมีคำขวัญว่า "แม้บัตรเลือกตั้งพวกเราจะถูกริบเสียง แต่เสียงร้องที่อยู่เบื้องหลังก็ไม่อาจหายไป" (Even if a ballot is silenced, the voice behind it cannot be.) ผู้ที่ต้องการใช้เว็บไซต์นี้ยังสามารถโพสท์ข้อความในแบบผู้ไม่เปิดเผยสถานะ หรือจะสมัครเว็บเพื่อโพสท์ข้อความก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้รายชื่อของ facebook ในการ login เข้าสู้ระบบได้ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่ระแวงว่าเว็บนี้อาจเป็นเว็บของรัฐบาลอิหร่านที่แฝงตัวมาเก็บเลขไอพีคอมพิวเตอร์และข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ จนต้องมีผู้ตั้งกระทู้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์
ในขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ (Twitter) อีกหลายคนที่พยายามเล่นกับการเซนเซอร์ของอิหร่าน โดยสร้างความสับสนด้วยการเปลี่ยนสถานที่อยู่ (Location) ให้เป็น "เตหราน" (Tehran - เมืองหลวงของอิหร่าน) และเปลี่ยนเวลาเป็น "+3.30 GMT" จากเวลามาตรฐานโลก เพื่อทำให้ผู้เซนเซอร์งงว่า คนไหนมาจากประเทศอิหร่านหรือไม่ได้มาจากประเทศอิหร่านจริงๆ กันแน่
ที่มา แปลและเรียบเรียงจาก
- Pirate Bay becomes the Persian Bay - Shows support for Iran , Duncan Geere , Pocket-lint , 17-06-2009
http://www.pocket-lint.com/news/news.phtml/24848/pirate-bay-becomes-persian-bay.phtml
- Iran’s footballers show support for Moussavi , Financial Times , Najmeh Bozorgmehr and Roula Khalaf , 17-06-2009
http://www.ft.com/cms/s/0/1e2c6eee-5b3b-11de-be3f-00144feabdc0.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น