สฤณี อาชวานันทกุล และ กอปรทิพย์ อัจฉริยโสภณ
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพยิ่งในการเสริมสร้างกระแส ประชาธิปไตยและกระตุ้นความสนใจในการอภิปรายประเด็นสาธารณะ โดยเฉพาะท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่กดดันให้คน "เลือกข้าง" และสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่และสื่อกระแสรองบางรายเลือกทำข่าวอย่างมีอคติ บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือรายงานความจริงเพียงครึ่งเดียว
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่อินเทอร์เน็ตจะได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ กระดานสนทนาหรือ "เว็บบอร์ด" หลายแห่งที่เปิดให้คนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกันอย่างเสรีกลาย เป็น "สื่อทางเลือก" ที่ทรงพลังในการสืบค้นข้อเท็จจริง แลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลาย และอภิปรายประเด็นสาธารณะ ในเมื่อเว็บบอร์ดหลายแห่งกลายเป็นสื่อของประชาชนในแง่นี้ไปแล้วโดยปริยาย สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่แสดงออกในอินเทอร์เน็ตจึงสมควรได้รับการคุ้มครอง และส่งเสริมจากรัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น ถ้า เจ้าหน้าที่รัฐจะอ้างเหตุผล เช่น "ความมั่นคงของชาติ" หรือ "ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง" ในการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดบนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในทางที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้เน็ตคนอื่นๆ เช่น ด้วยการปิดกั้นเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ด เจ้าหน้าที่ก็ควรจะกระทำการด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และใส่ใจกับ "วิธีการ" ที่จะนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดตัวจริง โดยไม่ตั้ง "ธง" ไว้ล่วงหน้าว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) เว็บ มาสเตอร์ หรือผู้ดูแลเว็บบอร์ดมีเจตนาที่จะยินยอม จงใจ หรือสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดบนเน็ต โดยเฉพาะในฐานความผิดที่ยังมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนต่อคนทั่วไปว่า จะต้องมีเนื้อหาอย่างไรและมีขอบเขตแค่ไหนจึงจะถือว่า "ผิดกฎหมาย" เพราะการตีความของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน อาทิเช่น ข้อหาหมิ่นประมาท และข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ถูกนำมาใช้อย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ต ที่รัฐไทยยังไม่เข้าใจธรรมชาติที่เป็นจริง
ธรรมชาติที่ซับซ้อนของอินเทอร์เน็ต
ธรรมชาติ "เปิด" ของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้คน ทั่วทุกมุมโลกสามารถเชื่อมต่อเข้าหากันได้ตลอดเวลา ทำให้การควบคุมดูแลไม่ให้ความคิดเห็น โพสต์รูป หรือลิงก์ต่างๆ ที่ไม่สุภาพหรือผิดกฎหมายปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์เลยนั้นทำได้อย่างยากลำบาก และถ้าจะให้เว็บไซต์ทุกแห่งกลั่นกรองเนื้อหาและข้อความทุกชนิดก่อนอนุญาตให้ ปรากฏบนเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ด บรรยากาศการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยเสรีของเว็บแห่งนั้นก็จะเสียไป ผู้ใช้เว็บแห่งนั้นจำนวนมากจะย้ายออกอย่างรวดเร็ว ไปโพสต์ความเห็นบนเว็บอื่นที่เปิดโอกาสให้ใช้สิทธิเสรีภาพมากกว่า ซึ่งอาจเป็นเว็บที่โฮสอยู่ต่างประเทศ สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งจะทำให้อำนาจการกำกับดูแลของทางการยิ่งไร้ประสิทธิผลใน ทางปฏิบัติมากกว่าเดิม
ในกรณีของเว็บไซต์ปกติที่เปิดให้ผู้ใช้เน็ตเข้ามาโพสต์ เนื้อหา ผู้ดูแลเว็บบอร์ดหรือเจ้าของเว็บไม่สามารถดูแลตรวจตราพื้นที่ที่เปิดให้ผู้ ใช้เน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ทุกขณะ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ดูแลเว็บอาจคอยเข้ามาตรวจตราการแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดเป็นระยะๆ ในช่วงเวลากลางวัน แต่พอเลิกงานแล้วก็ไม่ได้ดูต่อ ในขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่อยู่ต่างประเทศอาจเข้ามาโพสต์รูปโป๊ที่เข้า ข่ายผิดกฎหมายในเวลากลางคืน (เป็นเวลากลางวันของเขา) กว่า ที่ผู้ดูแลจะทราบว่ามีการโพสต์เนื้อหาที่ผิดกฎหมายลงบนเว็บบอร์ดของตนเอง รูปนั้นก็อาจจะแสดงอยู่บนเว็บบอร์ดเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนที่จะถูกลบไป
ความคลุมเครือของฐานความผิดหลายประเภทในสายตาของผู้ใช้เน็ต ประกอบกับธรรมชาติ "เปิด" ของอินเทอร์เน็ตที่ผู้ใช้ย่อมประสงค์ที่จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิด เห็นกันอย่างเสรี แปลว่าเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจบังคับใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จะต้องใช้ความรัดกุมและระมัดระวังอย่างยิ่งยวดในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเดือดร้อนจากการกระทำผิดของผู้อื่น เช่น ผู้ใช้เน็ตคนอื่นๆ เข้าถึงข้อมูลไม่ได้เนื่องจากเว็บไซต์ทั้งเว็บถูกปิดกั้น ทั้งๆ ที่เนื้อหาซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายนั้นปรากฏอยู่เพียงกระทู้เดียว หรือผู้ดูแลเว็บบอร์ดต้องตกเป็นผู้ต้องหา โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเสมือนหนึ่งว่าเป็นผู้ร่วมสนับสนุนหรือ สมคบคิดในการกระทำความผิดนั้นด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด
คำถามหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นความซับซ้อนของการกำกับดูแลอิน เทอร์เน็ต คือกรณีที่มีรูปโป๊แบบแอบถ่ายหรือ "คลิปหลุด" ซึ่งผิดกฎหมายชัดเจนปรากฏหราอยู่บนเว็บบอร์ดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ใครควรจะต้องรับผิดชอบต่อปัญหานี้บ้าง ระหว่าง คนเข้ามาอ่าน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด เจ้าของเว็บบอร์ด หรือคนโพสต์รูปผิดกฎหมาย? สามัญ สำนึกบอกเราว่าคนผิดย่อมต้องเป็นคนที่นำรูปนั้นมาโพส แต่คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บบอร์ดจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องรับผิดชอบเลย หรือ?
คำตอบของคำถามนี้ย่อมขึ้นอยู่กับ "เจตนา" ของผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บบอร์ด ว่า ยินยอมหรือสนับสนุนให้มีการกระทำผิดหรือไม่ และการพิสูจน์เจตนาก็ต้องดูจากเหตุผลหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกรณีที่เนื้อหานั้นไม่ชัดเจนต่อคนทั่วไปว่าผิดกฎหมายอย่างแน่นอน ตัวอย่างของเหตุผลหลักฐานที่จำเป็นต่อการพิสูจน์เจตนา เช่น ดูว่าผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บบอร์ดดังกล่าวให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ตำรวจมากน้อยเพียงใด เช่น เมื่อตำรวจขอความร่วมมือไปยังผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บบอร์ด ให้ช่วยสืบหาและรายงานไอพีแอ็ดเดรสที่ใช้ในการกระทำผิด และขอให้ลบกระทู้ผิดกฎหมายทิ้งไป ผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บบอร์ดลบกระทู้ที่ตำรวจขอความร่วมมือ และช่วยสืบหาตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ นอกจากนี้ ก็ต้องดูว่าปกติเว็บบอร์ดดังกล่าวมีวิธีปฏิบัติหรือกระบวนการตอบโต้อย่างไร เมื่อมีคนเข้ามาโพสต์เนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมาย มีมาตรการในการป้องกันไม่ให้คนกระทำความผิดอย่างไรบ้าง ถ้าผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บบอร์ดให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยดี เสมอมา ก็เท่ากับเป็นเหตุอันควรให้เชื่อว่าผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บบอร์ดนั้นๆ มิได้มีเจตนาที่จะยินยอมหรือสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิด ในทางกลับกัน หากผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บบอร์ดมีท่าทีว่าสนับสนุนหรือร่วมสมคบคิด เช่น ด้วยการปิดบังหรือบ่ายเบี่ยงไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ กรณีนั้นก็น่าสงสัยว่าอาจมีเจตนาไม่บริสุทธิ์
ธรรมชาติ "เปิด" ของอินเทอร์เน็ต ประกอบกับความคลุมเครือของฐานความผิดที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ต เป็นสาเหตุสำคัญที่อธิบายว่าเหตุใดการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในหลายประเทศ ทั่วโลกที่สังคมอินเทอร์เน็ตเติบโตมาก่อนประเทศไทย มัก จะพุ่งเป้าไปที่การสาวไปให้ถึงตัวผู้กระทำความผิดจริงๆ โดยตั้งสมมุติฐานว่าผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บบอร์ดไม่มีเจตนาสนับสนุนให้เกิด การกระทำผิด เว้นแต่จะมีพยานหลักฐานให้เชื่อเป็นอื่น
บทเรียนจากกรณีคลิปหลุด "เฉินกวนซี"
กรณีตัวอย่างกรณีหนึ่งที่โด่งดังไปทั่วโลก ก็คือกรณี "คลิปหลุด" ของดาราหนุ่มฮ่องกงเชื้อสายแคนาดา เฉินกวนซี หรือ เอดิสัน เฉิน ที่เมื่อต้นปี 2551 มีภาพถ่ายลามกของเขาและดาราสาวฮ่องกงไม่ต่ำกว่า 10 คน ปรากฏบนเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง และหลังจากนั้นไม่นานก็มีผู้นำไปโพสต์ต่อๆ กันในเว็บบอร์ดอีกหลายแห่ง รวมทั้งเว็บบอร์ดในประเทศไทยด้วย ผู้เผยแพร่ภาพดังกล่าวที่ใช้นามแฝงว่า "คิระ" ส่งสารข่มขู่ว่าจะปล่อยภาพลักษณะนี้ออกมาสร้างความเสียหายให้กับวงการ บันเทิงฮ่องกง และสั่นสะเทือนวงการบันเทิงและอินเทอร์เน็ตทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงแรกที่มีการเผยแพร่ภาพลามกของเฉินกวนซีกับดาราสาวหลาย คนนั้น เจ้าหน้าที่ของบริษัทต้นสังกัดของดาราที่ได้รับความเสียหายออกมาปฏิเสธ บอกว่ารูปภาพเหล่านั้นเป็นเพียงภาพที่ถูกตัดต่อขึ้นมาเท่านั้น ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันไปในวงกว้างถึงแถลงการณ์ครั้งนั้น แต่หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ตำรวจฮ่องกงก็ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยรายแรกพร้อมกับของกลาง ซึ่งเป็นชายตกงานวัย 29 ปี และก็ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยรายอื่นๆ เพิ่มได้อีก 4 คน โดยเปิดเผยว่า ภาพลับที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกในตอนนั้น มีสาเหตุมาจากการที่นายเฉินกวนซีนำคอมพิวเตอร์ส่วนตัวไปซ่อม ทั้งๆ ที่นายเฉินอ้างว่าได้ลบภาพเหล่านั้นออกจากเครื่องไปแล้ว แต่ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ก็ยังสามารถกู้ภาพกลับคืนมาได้ จึงได้บันทึกภาพเหล่านั้นเก็บไว้ในซีดี และได้นำไปให้คนอื่นๆ ดู และมีการส่งต่อ จนกระทั่งภาพเหล่านั้นแพร่กระจายในอินเทอร์เน็ต
ตั้งแต่เกิดเรื่อง ตำรวจฮ่องกงได้ขอความร่วมมือไปยังเจ้าของเว็บบอร์ด รวมทั้งตำรวจไทยในการตรวจสอบแหล่งที่มาของรูป จนนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องสงสัยเพิ่ม รวมเป็น 8 ราย ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551 โดย ไม่มีการจับกุมผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บบอร์ดเลยแม้แต่รายเดียว ในขณะเดียวกัน นายเฉินกวนซีก็ได้ออกมาแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และประณามคนที่นำภาพเหล่านั้นไปเผยแพร่ว่ามีเจตนาทำลายคนอื่น รวมทั้งยังขอร้องให้คนที่ได้รับภาพเหล่านั้น ให้ลบและอย่าส่งต่อ
แม้ว่าตำรวจฮ่องกงจะดำเนินการค้นหาผู้กระทำความผิดอย่างต่อ เนื่อง แต่ก็ยังคงมีการเผยแพร่ภาพลามกระหว่างนายเฉินกวนซี กับดาราสาวคนอื่นๆ ออกมาอย่างไม่หยุดหย่อน เป็นการท้าทายการทำงานของเจ้าหน้าที่และทำลายชื่อเสียงของดาราเหล่านั้นเป็น อย่างยิ่ง ดาราหลายคนได้รับผลกระทบจนต้องถูกปลดจากการเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาและภาพยนตร์ ต่างๆ และบางรายมีปัญหากับสามีจนกระทั่งเตรียมหย่าร้างกัน เห็นได้ชัดว่าการเผยแพร่รูปเหล่านี้ เป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายกับคนหลายคนในวงกว้าง นอกจากนั้นยังผิดกฎหมายอีกด้วย ในที่สุด วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 นาย เฉินกวนซี ก็ออกมาแถลงข่าว ขอถอนตัวออกจากวงการบันเทิง และขอให้ทุกคนพิจารณากรณีของเขาไว้เป็นบทเรียน สำหรับคนที่คิดจะบันทึกภาพเก็บไว้ส่วนตัว และไม่เคยคิดว่าจะให้ใครดู ว่าภาพมีโอกาสหลุดออกไปด้วยความไม่ตั้งใจได้เสมอ
หลังจากที่นายเฉินกวนซีออกมาแถลงข่าว ด้านตำรวจฮ่องกงก็ยังคงดำเนินการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยและนายเฉินกวนซีต่อไป[1]
และนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ต่อมาศาลฮ่องกงได้ตัดสินปล่อยตัวนายชุง ยิกทิน ผู้ต้องสงสัยรายหนึ่ง หลังจากควบคุมตัวมานานหลายสัปดาห์และไม่อนุญาตให้ประกันตัว[2] ทั้งนี้ตำรวจในประเทศจีน ก็ได้จับกุมผู้ต้องสงสัย 10 ราย ฐานต้องสงสัยในการผลิต จำหน่าย และซื้อซีดีภาพลามกของเฉินกวนซี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า การ เผยแพร่หรือนำภาพฉาวดังกล่าวไปโพสต์ตามกระดานสนทนาทางอินเทอร์เน็ตล้วนเป็น สิ่งผิดกฎหมาย แม้จะไม่ได้ใช้ภาพเพื่อเจตนาหาผลประโยชน์ก็ตาม ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกจำคุกในความผิดสถานเบา เป็นเวลาสูงสุด 15 วัน และหากผู้ใดมีการเผยแพร่ภาพมากกว่า 200 ภาพขึ้นไป จะต้องถูกดำเนินคดีอาญา[3] นอกจากนั้น เจ้า หน้าที่ตำรวจจีนยังมีคำสั่งให้เว็บไซต์ต่าง ๆ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตดำเนินมาตรการควบคุม กลั่นกรอง และลบภาพฉาวออกจากเว็บไซต์ต่าง ๆ แต่ก็ยังคงมีการส่งต่อภาพผ่านช่องทางส่วนบุคคลอย่างแพร่หลาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ยังอ้างว่าเว็บไซต์ไปตู้ ซึ่งเป็นเว็บสืบค้นข้อมูลรายใหญ่ของจีน เป็นต้นเหตุในการเผยแพร่ภาพ จึงเรียกร้องให้เว็บไซต์ดังกล่าวออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณชนอีกด้วย[4]
ในระหว่างนั้น ตำรวจฮ่องกงและจีนก็มีการจับกุมผู้เผยแพร่ภาพลามกเหล่านี้อยู่เนืองๆ[5] โดยในที่สุด ตำรวจและศาลฮ่องกงก็สามารถสืบสาวไปจนถึงต้นตอผู้กระทำผิดที่แท้จริงได้และนำตัวขึ้นสู่ศาล ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2551 (4 เดือนหลังจากครั้งแรกที่มีการเผยแพร่ภาพทางอินเทอร์เน็ต) ศาลฮ่องกงมีคำตัดสินให้ นาย ซี โห-ชุน วัย 24 ปี ลูกจ้างบริษัทคอมพิวเตอร์อีลิท มัลติมีเดีย ต้องโทษจำคุก 8 เดือนครึ่ง มีความผิด 3 กระทง ในข้อหาแอบเข้าถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นด้วยเจตนาหาผลประโยชน์ที่ไม่สุจริตให้ตนเองและผู้อื่น การก็อปปี้ไฟล์ภาพเป็นการละเมิดอำนาจหน้าที่ของตนเอง
การที่คดีนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องเลวร้ายเพียงใดเมื่อสิทธิส่วนบุคคลถูกละเมิด นายซี โห-ชุน ทำสำเนาภาพของนายเฉินกวนซี ขณะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับดาราสาวฮ่องกงหลายคน จำนวน 1,300 ภาพจากคอมพิวเตอร์แล็บท็อปที่นายเฉินกวนซีนำไปซ่อมเมื่อ ปี 2549 แล้วเก็บไว้ในแผ่นซีดี จากนั้นได้ส่งต่อไปให้ลูกค้าคนอื่นของเขา จนภาพฉาวแพร่ไปทั่วอินเทอร์เน็ต[6] ทั้งนี้ นายซี เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดในการไต่สวนก่อนหน้านี้ 3 ข้อหาเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อหาผลประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองและผู้อื่นอีกด้วย[7]
กรณีของเฉินกวนซี ซึ่งไม่มีผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บต้องตกเป็นจำเลยแม้แต่รายเดียวนั้น แสดงให้เห็นว่าการขอความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐไปยังผู้ดูแลหรือเจ้าของ เว็บต่างๆ โดยไม่ตั้ง "ธง" ไว้ก่อนว่ามีเจตนาสนับสนุนผู้กระทำผิด เป็นวิธีที่ทำให้การสืบสาวไปถึงตัวผู้กระทำผิดทำได้ง่ายขึ้น สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้จริง ส่วนผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บบอร์ดก็ไม่ต้องถูกดำเนินคดีอย่างผิดพลาดและไม่ ต้องหวั่นวิตกว่าจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยในอนาคตจนตัดสินใจห้ามผู้ใช้เน็ตโพสต์ เนื้อหาได้อย่างเสรีหรือควบคุมดูแลเนื้อหาอย่างเข้มงวดกวดขันเกินควร ซึ่งทั้งสองกรณีนี้เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้เน็ต และดังนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นของบทความ นี้
ข้อเสนอแนะ
ถ้ามองกันตามความเป็นจริงแล้ว การกระทำผิดในโลกอินเทอร์เน็ตมักจะไม่ต่างจากการกระทำผิดในโลกนอกอินเทอร์ เน็ตมากนัก ตัวอย่างเช่น ถ้ามีผู้ไม่ประสงค์ดีไปพ่นสีข้อความผิดกฎหมายบนกำแพงบ้านใคร คนที่ตำรวจควรจับมาลงโทษให้ได้ก็คือคนที่พ่นสี ส่วนเจ้าของบ้านที่ไม่อาจดูแลกำแพงบ้านตัวเองได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อพบเห็นข้อความเหล่านั้นแล้ว ก็ต้องรีบทำความสะอาดลบข้อความเหล่านั้นทิ้งไป รวมทั้งให้ความร่วมมือกับตำรวจในการแจ้งเบาะแสของผู้กระทำผิด เท่านี้ตำรวจก็จะสามารถหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ แต่หากตำรวจไม่จับกุมแต่คนพ่นสี กลับไปจับกุมเจ้าของบ้านด้วยโดยแจ้งข้อหาว่า มีเจตนาสนับสนุนคนพ่นสี เพียงเพราะลบสีที่พ่นบนกำแพงบ้านไม่ทันก่อนจะมีคนมาพบเห็นและแจ้งตำรวจ กรณีนี้ตำรวจก็ไม่ยุติธรรมกับเจ้าของบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ถ้าหากเจ้าของบ้านถูกตำรวจจับกุมในข้อหานี้บ่อยๆ ก็คงอยากย้ายบ้านหนีไปอยู่ประเทศอื่นที่ตำรวจไม่ทำแบบนี้
ในประเทศไทย การติดตามสืบค้นตัวผู้กระทำผิดทางอินเทอร์เน็ตนั้นมีขั้นตอนว่า ถ้าหากเราพบเห็นเนื้อหาที่น่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายบนอินเทอร์เน็ต เช่น โพสต์คลิปหลุดรูปเรา เราสามารถไปแจ้งความที่สำนักงานตำรวจใกล้บ้าน ขอสำเนาใบบันทึกแจ้งความ แล้วนำสำเนานี้ไปแจ้งความจำนงต่อเว็บไซต์นั้นๆ เพื่อขอ "ล็อกไฟล์" (log file) หรือปูมบันทึกการใช้งานของเว็บไซต์และ "หมายเลขไอพี" (IP address) ของ ผู้โพสต์เนื้อหาดังกล่าว เสร็จแล้วก็นำล็อกไฟล์และหมายเลขไอพีนั้นไปแจ้งยังกระทรวงเทคโนโลยีและ สารสนเทศ ให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกับไอเอสพีเพื่อสืบค้นว่า หมายเลขไอพีนี้ ใช้งาน ณ เวลาเท่านั้นถึงเท่านี้มาจากที่ใดในประเทศ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะประสานกับตำรวจท้องที่ ไปตรวจค้นยังบ้านเลขที่ดังกล่าว ในกรณีที่ที่อยู่นั้นเป็นร้านให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือร้านเกมส์ เจ้าหน้าที่ก็จะขอดูล็อกไฟล์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ในร้าน จากเจ้าของร้านเพื่อตรวจสอบว่าใครเป็นคนใช้เครื่องในเวลานั้น เมื่อทราบชื่อผู้กระทำความผิดแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการออกหมายเรียกเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป[8]
ขั้นตอนดังกล่าวน่าจะทำให้ผู้ใช้เน็ตสบายใจในระดับหนึ่งว่า หากผู้กระทำผิดอยู่ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่น่าจะสามารถสืบค้นตัวจนเจอภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน อย่างไรก็ตาม การกล่าวหาว่าผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บมี "เจตนา" ยินยอมหรือสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความซับ ซ้อนกว่ากันหลายเท่า และจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ "เปิด" ของอินเทอร์เน็ต ความคลุมเครือของฐานความผิดหลายกระทงซึ่งผู้ดูแลและเจ้าของเว็บ รวมทั้งคนทั่วไป ย่อมมีความเข้าใจน้อยกว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฏหมาย
ถ้าหากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บอย่าง จริงจัง จริงใจ และตรงประเด็น ดังที่ตำรวจฮ่องกงและจีนแสดงให้เห็นในกรณีเฉินกวนซี นอกจากจะช่วยให้สามารถจับกุมผู้กระทำผิดตัวจริงมาลงโทษได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังจะช่วยทำให้ผู้มีเจตนาร้ายมีแรงจูงใจน้อยลงที่จะกระทำผิดบนอินเทอร์เน็ต แต่ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาบรรยากาศการถกเถียงอภิปรายในอินเทอร์เน็ตเอาไว้ ได้ ในฐานะพื้นที่ประชาธิปไตยที่สนับสนุนให้ทุกคนเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความ เห็นกันอย่างเสรี.
[1] "ตำรวจฮ่องกงรวบคนร้ายแพร่คลิปเฉินกวนซีอีกราย", หนังสิอพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551, http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/13/WW19_1901_news.php?newsid=229529
[2] "ปล่อยผู้ต้องหาคดีรูปเฉินก้วนซี", หนังสือพิมพ์ข่าวสด, วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 7
[3] "จับ 10 ผู้ต้องสงสัยผลิต จำหน่ายซีดีลับเฉพาะเอดิสัน", หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551, http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=155381&NewsType=1&Template=1
[4] "ตำรวจจีนประกาศดำเนินคดีผู้เผยแพร่ภาพฉาวดาราฮ่องกง", สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551, http://www.innnews.co.th/entertain.php?nid=90643
[5] "จับเพิ่มอีก 2 มือดีปล่อยคลิป เอดิสัน", หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, วันที่ 1 มีนาคม 2551, http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=156259&NewsType=1&Template=1
[6] "จำคุกช่างคอมฯ ขโมยรูปโป๊ เฉินกว้านซี 8 เดือน", หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันที่ 13 พฤษภาคม 2551
[7] "จำคุกช่างคอมพิวเตอร์ฮ่องกงฐานขโมยภาพฉาวเฉินกวนซี", สำนักข่าวไทย อ.ส.ม.ท., วันที่ 13 พฤษภาคม 2551
[8] "ขั้นตอนการติดตามผู้กระทำผิดทาง Internet" http://webboard.gg.in.th/topic/10/43975
Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น