"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วิทยุชุมชน: การมีส่วนร่วมของประชาชนในสื่อเพื่อชีวิตและสังคมท้องถิ่น

วิทยุชุมชน: การมีส่วนร่วมของประชาชนในสื่อเพื่อชีวิตและสังคมท้องถิ่น

 

การตรากฎหมายลูก คือพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ย่อมถือว่าเป็นการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยชุมชนสามารถบริหารจัดการวิทยุชุมชนได้ด้วยตนเอง จึงมีนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และนักพัฒนาองค์กรเอกชน ได้ออกมาส่งเสริมและขยายความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดำเนินงานวิทยุชุมชน ให้แก่ประชาชนผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการที่ว่า วิทยุชุมชนเป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ดำเนินการโดยใช้รูปแบบอาสาสมัคร และไม่แสวงหากำไรทางธุรกิจ และในปี พ.ศ.2545 วิทยุชุมชนต้นแบบ 100.75 กาญจนบุรี ซึ่งถือว่าเป็นวิทยุชุมชนแห่งแรก จึงเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ
 
ในทางปฏิบัติการ มีความไม่โปร่งใสในส่วนของที่มา ของคณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่ หรือข้อกำหนดเดิมที่รัฐจัดสรรคลื่นความถี่ร้อยละ 20 ให้ประชาชนใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ในช่วง พ.ศ.2547 รัฐบาลโดยกรมประชาสัมพันธ์ อนุญาตให้วิทยุชุมชนสามารถมีโฆษณาได้ ส่งผลให้จำนวนวิทยุชุมชนจากประมาณ 500 สถานี เพิ่มเป็น 2,000 กว่าสถานี ภายในเวลา 3 เดือนหลังจากประกาศอนุญาตให้มีโฆษณา และเพิ่มเป็นกว่า 4,000 สถานี ในปัจจุบันนโยบายนี้มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อวิทยุชุมชนที่ดำเนินตามหลักเกณฑ์ วิทยุชุมชน เพราะสาธารณชนเกิดความสับสนว่าวิทยุชุมชนคืออะไร แต่จะอย่างไรก็ตาม วิทยุชุมชนที่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ชุมชนเป็นเจ้าของ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง ยังคงดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมายังไม่เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้าง
 
ถึงแม้ว่าวิทยุชุมชนที่ดำเนินตามหลักการ “ของชุมชน โดยชุมชนและเพื่อชุมชน” สามารถหยัดยืนดำรงอยู่ แต่ก็ยังมีขวากหนามอุปสรรคมากมายที่ต้องรอการแก้ไขจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยว ข้องทุกภาคส่วน ความน่าสนใจของการมีส่วนร่วมวิทยุชุมชนในพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สถาบันชุมชนอีสาน และสมาพันธ์วิทยุชุมชนคนอีสาน ได้พัฒนาโครงการระยะสั้น ประมาณ 7 เดือน (พฤษภาคม – พฤศจิกายน 2552) ชื่อว่าโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนในวิทยุชุมชนพื้นที่ภาคอีสาน โดยการศึกษาเจาะลึกวิทยุชุมชนที่เป็นตัวอย่างที่ดีใน 5 จังหวัด คือ วิทยุชุมชนคนนาทอง จังหวัดมหาสารคาม วิทยุชุมชนชาวธาตุพนม จังหวัดนครพนม วิทยุชุมชนคนภูไท จังหวัดอุดรธานี วิทยุชุมชนเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย และ วิทยุชุมชนพระพุทธศาสนาวัดดอกจานรัตนาราม จังหวัดสุรินทร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมในงานวิทยุชุมชนของท้องถิ่นอีสาน และเผยแพร่ให้สังคม สาธารณะได้เข้าใจถึงวิทยุชุมชนที่มุ่งสร้างวิทยุชุมชนให้ เป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน อย่างแท้จริง ทั้งนี้ โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิไฮน์ริค เบิล์ล (Heinrich Boll Foundation)
 
บทความนี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อตอบคำถามว่า “ประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานมีส่วนร่วมในวิทยุชุมชนอย่างไร การมีวิทยุชุมชนได้ส่งผลอย่างไรต่อชุมชน และได้กำหนดแนวทางการพัฒนาวิทยุชุมชนไว้อย่างไร”

 

 
ความเป็นมาของวิทยุและบริบทที่เกี่ยวข้อง: จากโลกสากลถึงประเทศไทย
 
วิทยุเป็นเครื่องมือการสื่อสารมวลชนชนิดแรกที่มีบทบาทต่อผู้ฟังและสามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้ ดังที่ กาญจนา แก้วเทพ ได้บรรยายไว้ในหนังสือ ศาสตร์แห่งสื่อและวัฒนธรรมการศึกษา (2544) ว่า สถานะพิเศษของวิทยุ คือ อาจถือได้ว่าเป็นการสื่อสารมวลชนด้านข่าวสารและความบันเทิงชนิดแรกที่นำมาติดตั้งไว้ในบ้าน “เนื้อหาวิทยุนั้นมีความหลากหลาย เช่น รายการ News & Talk Show ซึ่งจะมีพิธีกรและแขกรับเชิญมาสนทนา พูดคุยอภิปรายโต้แย้งได้ทุก ๆ เรื่องทั้งการเมือง ศาสนา ศิลปะ กีฬา ปัญหาสังคม เพศ ฯลฯ ซึ่งรายการประเภทนี้มีผู้ฟังที่มีความสนใจอย่างแท้จริง ดังนั้นในแง่นี้วิทยุจึงเป็นสื่อที่มีบทบาทในการดึงหรือเชื่อมโยงประชาชนให้มีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะของสังคม”
 
ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา ได้เริ่มบุกเบิกก่อตั้งวิทยุชุมชนมากว่า 50 ปีแล้ว ต่อมาวิทยุได้ขยายตัวออกไปทั่วโลกสู่ประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีนัยยะสำคัญคือ การที่รัฐซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลมาตลอดได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นเจ้าของได้ โดยอนุญาตให้เอกชนและกลุ่มต่างๆ เป็นเจ้าของวิทยุกระจายเสียงได้ (จิรพร วิทยศักดิ์พันธ์และคณะ, 2550)
 
วิทยุถือว่าเป็น “สื่อสาธารณะ” หรือ “สื่อมวลชน” แขนงหนึ่ง ที่ปัจจุบันได้กลายธุรกิจแสวงหากำไร “สื่อมวลชน ถูกยึดครองโดยอาณาจักรทุน คำว่าอาณาจักรทุน หมายถึง กลุ่มทุนที่มีธุรกิจหลากหลายนับเป็นสิบเป็นร้อยธุรกิจในบรรดาธุรกิจของอาณาจักรทุน ตัวธุรกิจได้สร้างมลพิษ มลภาวะ เอาเปรียบแรงงาน ทางธุรกิจก็เอาเปรียบผู้บริโภค (ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, 2545)
 
ที่ผ่านมา คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียและวิทยุโทรทัศน์ ตกเป็นสิ่งของ “สงวน” ไว้สำหรับกับกลุ่มหน่วยงานราชการหรือองค์กรภาครัฐ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) หน่วยงานในกองทัพ หน่วยงานตำรวจ เป็นต้น ซึ่งยังไม่ได้เป็นของกลุ่ม องค์กรภาคประชาชนหรือปัจเจกชน
 
ในประเทศไทย วิทยุชุมชนเกิดขึ้นภายใต้การรับรองของกฎหมาย 2 ฉบับ คือ 1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง เป็นสมบัติสาธารณะของชาติแก่ประชาชนในประเทศและให้มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เป็นไปเพื่อการศึกษา วัฒนธรรมและความมั่นคง และประโยชน์อื่น ๆ อย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ได้กำหนดรูปธรรมในการปฏิรูปสื่อ คือ ได้จัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาดูการใช้คลื่นความถี่ของประเทศแทนหน่วยงานต่าง ๆ ตามระบบการใช้คลื่นความถี่เดิม และ 2) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 มาตรา 26 วรรค 3 ซึ่งระบุให้ภาคประชาชนเข้าถึงและเข้าไปใช้คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคประชาชนมีโอกาสใช้คลื่นความถี่ตามสัดส่วนดังกล่าวหากชุมชนมีความพร้อม (กุลวดี หวังดีศิริสกุล, 2546)
 
อย่างไรก็ดีรัฐก็พยายามเข้ามาควบคุมการดำเนินงานวิทยุชุมชนผ่านช่องทางกฎหมายและการอ้างความมั่นคงของภาครัฐ ยกตัวอย่าง ในกรณีที่คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ได้พิจารณากรอบการเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชน และมีมติรับสมัครวิทยุชุมชนเข้าร่วมโครงการ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2547 โดยกรมประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัครวิทยุชุมชนเข้าร่วมโครงการ ภายใต้เงื่อนไปให้มีโฆษณาในวิทยุชุมชนได้ไม่เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีเจตนาแทรกแซงบิดเบือนกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาชน
 
โดยเฉพาะฝ่ายที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ พยายามที่จะดึงสิทธิและอำนาจคืนจากประชาชน เช่น ในช่วงหลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ได้ทำการรัฐประหารในเดือนกันยาน 2549 ได้มีการออกข้อตกลงและสั่งการ สถานีวิทยุชุมชน 17 จังหวัดภาคเหนือ ให้สถานีวิทยุชุมชนถ่ายทอดเสียงคำสั่ง แถลงการณ์ของ คปค.ทุกครั้งที่มีประกาศ งดเปิดสายหน้าไมค์และให้สถานีวิทยุที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนหรือส่งข้อมูลกับสำนักประชาสัมพันธ์เขตให้ดำเนินการโดยเร็ว (เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคตะวันตกและคณะ, 2551) รวมทั้งการออกกฎหมาย พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2551 (เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคตะวันตกและคณะ, 2551) ที่มีผลให้วิทยุชุมชนไม่ได้รับการคุ้มครองโดยตรง ต้องเข้าสู่กระบวนการขอใบอนุญาตชั่วคราวภายใต้การดำเนินการของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และคณะกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กฎหมายนี้ยังให้อำนาจรัฐในการสั่งเซ็นเซอร์หรือสั่งถอดรายการได้ด้วยวาจา โดยมีบทลงโทษทางอาญาสูง หากเห็นว่ารายการวิทยุและโทรทัศน์นั้น ๆ อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งคำนิยามยังขาดความชัดเจน เปิดช่องให้เกิดการตีความของรัฐ อันนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนได้
 
 
วิทยุชุมชน สื่อเพื่อประชาชนและสาธารณะ
 
ภายหลังจากรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540 ประกาศใช้ และรัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ประชาชนในหลายพื้นที่ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และนักพัฒนาองค์กรเอกชน ได้ขยายความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดำเนินงานวิทยุชุมชน ด้วยมีเจตนารมณ์ที่จะให้วิทยุชุมชนเป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
 
แนวคิดเกี่ยวกับวิทยุชุมชน มีอยู่หลากหลายแง่มุมด้วยกัน แต่เมื่อพิจารณาเป้าหมายของวิทยุชุมชนที่มุ่งตอบสนองในสิ่งที่วิทยุกระแสหลักไม่สามารถตอบสนองให้ได้ มีอยู่ 4 แง่มุมด้วยกัน
 
1. วิทยุชุมชนเป็นสื่อทางเลือก(Alternative Media) ในแง่มุมนี้ วิทยุชุมชนเป็นวิทยุที่ประชาชนเป็นเจ้าของไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ ส่วนการดำเนินงานนั้นก็ไม่หวังผลกำไร นอกจากนี้ยังเป็นอิสระจากรัฐและองค์กรทางสังคมอื่นๆ และไม่สนใจการทำงานแบบมืออาชีพ แต่พึ่งพาอาสาสมัคร ส่วนการผลิตรายการนั้น ผู้รับสารทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร โดยนำเสนอเนื้อหาจากเกณฑ์การเลือกที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก เช่น เรื่องต้องห้ามหรือไม่ได้นำเสนอในสื่อกระแสหลัก เรื่องชีวิตประจำวันหรือเรื่องของคนสามัญ เป็นต้น
 
2. วิทยุชุมชนเป็นสื่อชุมชน (Community Media) วิทยุชุมชนถูกมองว่าเป็นการออกแบบขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มที่อยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะอยู่ในระดับสังคมเศรษฐกิจใด องค์กรใด หรือคนกลุ่มน้อย/กลุ่มวัฒนธรรมย่อยใด นอกจากนี้ วิทยุชุมชน เป็นการสื่อสารแบบสองทาง(Two-way Communication) และมีทิศทางการไหลของข่าวจากบนลงล่าง (Top-down) และจากล่างขึ้นบน (Bottom-up) และในระนาบเดียวกัน (Horizon) โดยการดำเนินงานมีเป้าหมายที่หลากหลายตามระดับของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิทยุชุมชนมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร สร้างความรู้สึกร่วมในชุมชน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข่าวสาร/ความคิด และเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหา คนในชุมชนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้วางแผนการใช้สื่อ ผู้ใช้ ผู้ผลิต ผู้แสดง ฯลฯ
 
3. วิทยุชุมชนเป็นสื่อภาคประชาชน (Civic Media) เป็นมุมมองในแง่ที่ว่าวิทยุชุมชนไม่ได้เป็นทั้งของภาครัฐและเอกชน ไม่มุ่งกำไรสูงสุด และมีพันธกิจเพื่อสนองประโยชน์ของสาธารณะ นอกจากนี้รายการยังมีเนื้อหาที่หลากหลายกว่าสื่อภาครัฐและเอกชน โดยนอกจากจะมุ่งเน้นที่ข่าวและสาธารณะประโยชน์มากกว่าเนื้อหาบันเทิงแล้ว ยังมุ่งหวังการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนอีกด้วย ทั้งในเรื่องของการเป็นเจ้าของ การกำหนดทิศทางของเนื้อหา การผลิต การแสดง ความคิดเห็น การสนับสนุนด้านการเงิน การรวบรวมกำลังคนและทรัพยากร และการประเมินผล
 
4. วิทยุชุมชนเป็นสื่อสาธารณะ (Public Service Broadcasting) ความเป็นสาธารณะทำให้วิทยุชุมชนต้องยึดถือประโยชน์ของประชาชน โดยมีอิสระจากอิทธิพลของรัฐและกลุ่มทุน และมีความหลากหลายและแตกต่างจากสื่อเชิงพาณิชย์ ส่วนเนื้อหาที่นำเสนอต้องเป็นกลาง สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ และรายได้หลักควรมาจากประชาชนในรูปแบบของ “ค่าธรรมเนียม”เป็นหลัก (ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ และวีระยุทธ กาญจนชูฉัตร, 2546)
 
วิทยุชุมชนเป็นรูปแบบหนึ่งของสื่อภาคประชาชน ชุมชนเป็นเจ้าของ และมีสวนร่วมในการบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายและการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะของชุมชน โดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจและผลประโยชน์ทางการเมือง องค์การยูเนสโก(UNESCO) ได้กำหนดหลักการในวิทยุชุมชนไว้ 3 ประการ คือ
  1. ประชาชนเข้าถึงง่าย ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงองค์ประกอบเหล่านี้คือ การมีสิทธิเป็นเจ้าของ มีสิทธิบริหารจัดการ มีสิทธิผลิตรายการ มีสิทธิได้รับฟังรายการที่เหมาะสมและมีคุณภาพ มีสิทธิให้ข้อเสนอแนะ มีสิทธิเข้าถึงสถานี มีสิทธิเข้าถึงข้อมูล
  2. ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนมีดังนี้คือ ร่วมเป็นเจ้าของสถานี ร่วมกำหนดนโยบาย ร่วมบริหารจัดการ ร่วมผลิตรายการ
  3. ประชาชนบริหารจัดการด้วยตนเอง คือ สมาชิกในชุมชนดำเนินการเองในรูปแบบของอาสาสมัคร และไม่อยู่ใต้อิทธิพลของ “กลุ่มธุรกิจ”หรืออิทธิพลของ “กลุ่มการเมือง”
ดังนั้นหลักการสำคัญของการดำเนินการวิทยุชุมชน คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน
(จุมพล รอดคำดี, 2542 และ กาญจนา แก้วเทพ, 2546)
 
อย่างไรก็ตาม การเกิดของวิทยุชุมชนสอดคล้องกับกระแสความต้องการเสรีภาพในการสื่อสารตามระบอบของสังคมประชาธิปไตย และการขยายตัวทางธุรกิจ การเมือง ทำให้มีผู้ใช้ช่องทางสื่อวิทยุชุมชนเป็นการแสดงออกทางเสรีภาพในการเลือกนำเสนอเนื้อหาที่ไม่มีอยู่ในสื่อกระแสหลัก บ้างก็เป็นการแสดงออกถึงสิทธิการใช้สื่อของภาคประชาชน บ้างก็เป็นการใช้สื่อวิทยุเพื่อแสวงหากำไรทางธุรกิจ และบ้างก็ใช้สร้างฐานเสียงเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
 
 
การมีส่วนร่วมของชุมชน (People Participation)
 
ความหมายของคำว่า “การมีส่วนร่วมในวิถีทางประชาธิปไตย” ไม่ได้ชี้วัดกันเพียงแค่การมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หรือมีการเลือกตั้งเท่านั้น หากแต่ต้องทำให้นิยามความหมายของคำว่าประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งกินได้หรือเป็นเรื่องปากเรื่องท้องของประชาชน(อนุสรณ์ ไชยพาน, 2545) ฉะนั้นการรวมกลุ่มของชาวนาชาวไร่ เกษตรกรที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นพลังต่อรองทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ถือว่าเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมีลักษณะประการสำคัญ คือ จะต้องมีพื้นที่ทางการเมืองให้กับภาคประชาชนทุกส่วนทุกภาคของสังคม ซึ่งในบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาตรา 40 ย่อมถือว่าเป็นการกระจายคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย
 
การมีส่วนร่วมก่อให้เกิดผลดีต่อการขับเคลื่อนองค์กรหรือเครือข่าย เพราะมีผลในทางจิตวิทยาเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมย่อมเกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร ความคิดเห็นถูกรับฟังและนำไปปฏิบัติเพื่อการพัฒนาเครือข่าย และที่สำคัญผู้ที่มีส่วนร่วมจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของเครือข่าย ความรู้สึกเป็นเจ้าของจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนเครือข่ายที่ดีที่สุด (วันชัย วัฒนศัพท์,2546)
 
การสรุปบทเรียนขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานร่วมกับชุมชน มีหลักปฏิบัติการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่สำคัญที่ได้นำไปเป็นแนวทางในการศึกษา มีดังนี้ 1) การมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มในสังคมหมายถึง ในชุมชนหนึ่ง ๆ ย่อมประกอบด้วย ความแตกต่างหลากหลายทั้งด้านฐานะ เพศ วัย สถานะทางสังคม ฯลฯ การสร้างโอกาสเปิดพื้นที่ทางสังคมอย่างเท่าเทียมในการให้ทุกส่วนได้มีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความคิด ศักยภาพ และความรู้และร่วมมีบทบาทดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 2) การมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนหมายถึง ควรให้ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การวิเคราะห์ปัญหา การวางแผน การกำหนดเป้าหมาย การตัดสินใจ การปฏิบัติ การตรวจสอบ การติดตามประเมินผล การสรุปบทเรียน การขยายผลและเผยแพร่สู่สาธารณะ (บัณฑร อ่อนดำ, 2544)
 
ในเรื่องการมีส่วนร่วมของสตรีกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ธีรนาถ กาญจนอักษร (2542) ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้หญิงจะต้องเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเป็นธรรมของประชาชนบนหลักการของความเสมอภาคเอื้ออาทรกัน มิใช่เป็นเพียงผู้ช่วยเหลือ สนับสนุนและรับภาระต่าง ๆ ตามบทบาทที่ถูกกำหนดให้เท่านั้น” การต่อสู้เรื่องความเสมอภาค นั้น ธีรนาถ ไม่ได้หมายความว่าเป็นการแย่งความเป็นใหญ่จากผู้ชาย แต่ต้องการเกื้อกูล ร่วมมือกันและให้มีการประสานงานกันมากขึ้น
 
ในด้านสื่อมวลชนก็เช่นกัน เพราะผู้หญิงก็ต้องต่อสู้กับสิทธิและความเสมอภาคเช่นกัน จากการศึกษาในแนวเศรษฐศาสตร์การเมืองของ Baehr & Gray,1994 (กาญจนา แก้วเทพ,2544) ได้กล่าวโดยสรุปว่า จากประวัติศาสตร์สื่อมวลชนเริ่มต้นจากผู้ชายเป็นเจ้าของสื่อ และผู้ทำงานที่เป็นผู้ชาย ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นว่า สื่อให้ความสำคัญต่อผู้ชายและการผลิตรายการโดยใช้มุมมองแบบผู้ชาย ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้หญิงสนใจหรือต้องการ นักสตรีนิยมจึงมีข้อเสนอ 2 ประการ คือ 1) ผลจากการสร้างสื่อกระแสหลัก (Mainstream Media) ในแง่ปริมาณต้องเพิ่มปริมาณสื่อมวลชนสตรีให้มากขึ้น ในแง่คุณภาพต้องเพิ่มจำนวนผู้หญิงในระดับชั้นสูงของวิชาชีพ เช่น ระดับบริหาร นโยบายและการตัดสินใจ 2) สร้างสื่อทางเลือกของผู้หญิงขึ้นมาเอง (กาญจนา แก้วเทพ, 2544)
 
ในเชิงประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชน มีเงื่อนไขที่ไม่ควรมองข้าม คือถ้าพื้นที่ใดมีฐานของงานพัฒนาและมีแกนนำที่ทำงานเพื่อสังคมมากหรือเป็นพื้นที่ ที่มีปัญหาสาธารณะที่คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนจะมีอยู่สูง ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีฐานงานพัฒนาและแกนนำที่ทำงานเพื่อสังคมมีไม่มากนัก หรือไม่ใช่พื้นที่ที่มีปัญหาสาธารณะ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนจะมีต่ำมาก (เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคตะวันตกและคณะ, 2551)
 
แนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมนี้ สถานีวิทยุชุมชนหลายสถานี ได้มีประกาศเพื่อตอกย้ำอยู่เสมอว่าสถานีวิทยุแห่งนี้เป็นของชุมชน และเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมอยู่เสมอๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การรับบริจาคเงินและหรือสิ่งของ การรับฟังข้อเสนอแนะที่ผู้ฟังโทรศัพท์เข้ามาและคณะกรรมการ ผู้จัดรายการรับออกไปพบปะพูดคุยกับผู้ฟัง เป็นต้น
(เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคตะวันตกและคณะ, 2551)
 
 
วิทยุชุมชนในฐานะพื้นที่ทางสังคม
 
วิทยุชุมชนส่วนใหญ่มีรูปแบบการบริหารจัดการเช่นเดียวกันกับสถานีวิทยุระดับอื่น ๆ เพียงแต่อาจจะมีขนาดองค์กรที่เล็กกว่า เนื่องจากมีพื้นที่การออกอากาศเฉพาะในท้องถิ่น ไม่ใช่การออกอากาศกว้างทั่วประเทศ ซึ่งคำว่าท้องถิ่นนั้น หมายถึง ความใกล้เคียงกันของพื้นที่อยู่อาศัย วัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัย การศึกษา และความสนใจ (แวง พลางวัน, 2550)
 
ภายใต้ภาวะสงครามด้านการค้าเสรี สังคมท้องถิ่นกำลังถูกรุกรานอย่างหนักจากกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาครอบครองสื่อด้วยอำนาจเงินตราและที่เน้นการขายสินค้า และในขณะเดียวกันสื่อหรือศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาการดำรงชีพก็ถูกเบียดขับพ้นจากพื้นที่การสื่อสาร “สื่อก็ตกเป็นสมบัติส่วนตัวของบริษัทเอกชน แนวโน้มปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้พื้นที่สาธารณะ (Public sphere) ซึ่งเป็นปริมณฑลและผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องส่วนรวม มีน้อยลง สิทธิของประชาชนในฐานะพลเมือง ก็จะมีช่องทางการแสดงออกได้น้อยลงตามไปด้วย” (กนกศักดิ์ แก้วเทพ, 2546)
 
จึงมีความพยายามร่วมกันของคนอีสาน ที่มีความคิดเห็นและความต้องการที่สอดคล้องกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาคประชาชนต้องมี “สื่อ” ที่เป็นเครื่องมือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น เป็นช่องทางการสื่อสารใหม่ที่สะดวก กว้างขวาง และหลากหลายมากกว่าหอกระจายข่าว หรือสื่อที่มีอยู่เดิมๆ เป็น “สื่อ” ที่ชุมชนสามารถเป็นเจ้าของร่วมกัน บริหารจัดการ ผลิตรายการ ภายใต้ความต้องการและกฎกติการ่วมกันของชุมชน ตามหลักการ “ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” อย่างแท้จริง ดังนั้นจึงได้เกิดการรวมตัวกันของแกนนำสื่อชุมชน องค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรชุมชนอันหลากหลายจาก 19 จังหวัดภาคอีสาน ในนาม “เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคอีสาน”
 
 
การก่อตัวของวิทยุชุมชนอีสานและการมีส่วนร่วมในเชิงนโยบาย
 
การก่อตัวของวิทยุชุมชนมีผลอันสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งมีบทบัญญัติในมาตรา 40 ที่ว่าด้วยคลื่นความถี่วิทยุและการกำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ที่มีความว่า “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม” หมายถึง ได้กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ แทนที่จะเป็นทรัพยากรของรัฐตามที่เคยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ รัฐบาลจึงได้มีนโยบายจัดทำโครงการนำร่องวิทยุชุมชนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
 
ผลจากมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญนี้ เท่ากับการบอกให้ประเทศไทยจัดการปฏิรูประบบการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ และให้มีองค์กรกำกับการใช้คลื่นใหม่ทั้งหมด ในส่วนของประชาชน ก็เป็นที่แน่นอนว่าประชาชนเกิดความตื่นตัว ความหวังที่จะได้รับการจัดสรรหรือได้โอกาสในการจัดทำวิทยุของตนเอง และต่อมาองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการหัวก้าวหน้าด้านสื่อสารมวลชนก็รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับรู้สิทธิและทดลองปฏิบัติการวิทยุชุมชนจริงอีกด้วย
 
ในปี พ.ศ.2543 ได้มีพระราชบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. มาตรา 40 ชื่อ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 โดยเฉพาะในมาตรา 26 ซึ่งมีใจความสำคัญระบุไว้ว่า
“...ในการจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และการอนุญาตให้ประกอบการดังกล่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะระดับท้องถิ่น อย่างน้อยจะต้องให้มีสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำจังหวัดและสถานีวิทยุโทรทัศน์ สำหรับการกระจายข้อมูลข่าวสารของประชาชนเพื่อการพัฒนาต่างๆ และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนในท้องถิ่น อย่างทั่วถึงและเพียงพอ
 
...ให้ กสช.ได้สนับสนุนให้ตัวแทนประชาชนสาขาอาชีพต่าง ๆ ในจังหวัดมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเสนอแนะความเห็นแก่ กสช.ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ กสช. การจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และการอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าวต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน และภาคประชาชนโดยจะจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยร้อยละยี่สิบ ในกรณีที่ภาคประชาชนยังไม่มีความพร้อมให้ กสช. ให้การสนับสนุนเพื่อให้ภาคประชาชนมีโอกาสใช้คลื่นความถี่ในสัดส่วนตามที่กำหนดมา” หมายความว่าให้มีการจัดทำแผนแม่บทซึ่งทำให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนร้อยละ 20 ขึ้นมา
 
มูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาสังคม (Civic Net Foundation) คณะทำงานติดตามมาตรา 40 มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และตัวแทนภาคประชาชนจากจังหวัดต่าง ๆ ได้ร่วมประชุม และสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อสร้างความตื่นตัวและการมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 40 อย่างต่อเนื่อง (เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคตะวันตกและคณะ, 2551) การมีส่วนร่วมในเวทีสัมมนาอย่างต่อเนื่องได้ก่อให้เกิด “เครือข่ายวิทยุชุมชน” ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และได้เกิด “จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน 144 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาค (มารยาท พงษ์ไพบูลย์, 2546) และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอยู่ 39 แห่งที่มีความพร้อมและทักษะในการดำเนินงานตามหลักการวิทยุชุมชนและต่อมาได้รวมตัวกันเป็น “สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ”ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2545
 
ทำให้เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคอีสานได้เตรียมความพร้อมให้คนในชุมชนได้ทราบถึงสิทธิในการสื่อสารตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญ ผู้แทนแต่ละสถานีได้ร่วมกับผู้ประสานงานวิทยุชุมชนในระดับจังหวัดจึงได้รวมตัวกันเป็น “สมาพันธ์วิทยุชุมชนฅนอีสาน” เพื่อเป็นองค์กรประสานงานระหว่างวิทยุชุมชนในระดับชาติและวิทยุชุมชน 39 สถานีในภาคอีสาน
 
 
เกณฑ์ร่วมกันเรื่องกำลังส่งและพื้นที่กระจายเสียง
 
รัฐบาลได้อนุญาตให้มีจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน โดยมีหลักเกณฑ์ทางด้านเทคนิคคือกำลังส่งไม่เกิน 30 วัตต์ เสาอากาศสูงไม่เกิน 30 เมตร และรัศมีกระจายเสียงไม่เกิน 15 กิโลเมตร ในขณะเดียวกัน กรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ(กกช.)ได้พิจารณากรอบการเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชนและมีมติรับสมัครวิทยุชุมชนเข้าร่วมโครงการโดยให้กรมประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัครในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 ให้วิทยุชุมชนมีโฆษณาได้ชั่วโมงละไม่เกิน 6 นาที ส่งผลให้เกิดการตั้งวิทยุชุมชนขึ้นอีกกว่า 2,000สถานี ภายในระยะเวลา 3 เดือน (เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคตะวันตกและคณะ,2551)และยิ่งกว่านั้น สถานีวิทยุชุมชนเหล่านี้ ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด และส่งผลกระทบต่อคลื่นวิทยุชุมชนอื่นที่พยายามจะปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ และก่อให้เกิดปัญหาคลื่นแทรกหรือทับกับสถานีอื่นที่อาจมีกำลังน้อยกว่า จากการสอบถามกับกรรมการสถานีวิทยุชุมชนทั้ง 5 แห่งพบว่าโดยส่วนใหญ่ได้พยายามปฏิบัติตามเกณฑ์ทางด้านเทคนิคนี้ เพราะถือว่าเป็นกติกาที่กำหนดไว้ร่วมกันกับรัฐบาล ในกรณีที่บางสถานีต้องใช้กำลังส่งมากกว่า 30 วัตต์หรือเสาสูงมากกว่า 30 เมตร เพราะว่ามีคลื่นแทรกและมีสถานีอื่นที่ตั้งอยู่ในระยะใกล้เกินไป จำเป็นที่จะต้องเพิ่มกำลัง(วัตต์)ส่งที่สูงกว่าเพื่อที่จะสามารถส่งคลื่นกระจายเสียงได้ตามระยะทางที่ต้องการ ขณะเดียวกันบางกรณีก็ถูกร้องเรียนอย่างไม่มีข้อมูลว่าคลื่นรบกวนวิทยุการบินอย่างเช่น กรณีของวิทยุชุมชนเด็กและเยาวชนเลย
           
 
ความเป็นมาของวิทยุชุมชนพื้นที่ภาคอีสาน ประวัติศาสตร์การต่อสู้และเรียนรู้
 
สถานีวิทยุชุมชนหลายแห่งเริ่มต้นจากกลุ่มสนใจเล็กๆ 1– 5 คน ที่มีความปรารถนาที่จะสื่อสารสิ่งที่ดีต่อชุมชน และสร้างวิทยุชุมชนให้เป็นของประชาชน โดยชุมชน เพื่อประชาชน ในแนวความคิดเริ่มต้นของสถานี มีความคิดแตกต่างกันออกไป แต่มีอุดมการณ์เพื่อท้องถิ่นและแนวทางการพึ่งตนเองเหมือนกัน
 
วิทยุชุมชนคนนาทอง บ้านแบก ม.7 ต.นาทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2544 มีคนหลักคือ นายมงคล บริสุทธิ์ เป็นแกนนำในการก่อตั้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อตั้งจากสำนักงานกองทุนการลงทุนเพื่อสังคม (SIF) และจัดผ้าป่าระดมทุนมีเป้าหมายในระยะเริ่มต้นคือการสื่อสารข้อมูลให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับพิษภัยจากสารเคมีและสารพิษ
วิทยุชุมชนชาวธาตุพนมหมู่บ้านพัฒนาชาติไทย ต.อุ่มเหม้า อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นหมู่บ้านที่ทางราชการจัดสรรเพื่อรองรับให้กับกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2548 มีนายเข็มพร เชื้อตาหมื่น เป็นแกนนำหลัก ที่ได้ศึกษาและฟังแนวคิดของ อาจารย์เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของสถานีวิทยุชุมชนได้ตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2540 ประกอบกับตนเองเชื่อว่า การได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารถือเป็นสิทธิและเสรีภาพจึงได้จัดประชุมชาวบ้านเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตั้งสถานี ทุนที่ได้ มาจากการระดมทุนภายในชุมชนทั้งหมด
 
วิทยุชุมชนคนภูไทวัดป่าโพนพระเจ้า ต.นายูง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2546 มีพระครูศาสนกิจสุนทร (พระ) นายบุญมี มาพร (ชาวบ้าน) นาวาเอกทวีศักดิ์ สุภานันท์ (ทหาร) เป็นคณะผู้ริเริ่ม ด้วยจุดประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสารงานเครือข่ายธนาคารหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลนายูง เดิมเป็นชื่อวิทยุชุมชนคนนายูง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้ดูกว้างขึ้นเป็นวิทยุชุมชนคนภูไท ได้รับทุนจากการระดมในชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบลในช่วงแรก
 
วิทยุชุมชน เด็กและเยาวชนจังหวัดเลยบ.แฮ่ ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลยก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2546จากความคิดริเริ่มของ นายวีรพล เจริญธรรม ที่มีความสนใจที่จะพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเพื่อให้หลีกพ้นไปจากปัญหาสังคม จากกลุ่มเด็กที่ผู้ใหญ่มองว่ามีพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าวชอบมั่วสุมมาเป็นผู้จัดรายการวิทยุ ช่างเทคนิค และเป็นผู้นำ โดยได้รับทุนช่วงแรกจากกัลยาณมิตรที่รู้จัก
 
วิทยุชุมชนพระพุทธศาสนาวัดดอกจานรัตนาราม ต.ทับใหญ่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยเห็นว่าเรื่องรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 โดยมีพระอธิการภูชิต ยสินฺธโรเป็นแกนหลัก เริ่มแรกได้ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ของชุมชน 150,000 บาทเพื่อมาซื้อเครื่องส่งวิทยุและต่อมามีการทอดผ้าป่าสามัคคี และมีองค์การบริหารส่วนตำบลทับใหญ่อนุมัติงบประมาณให้ทุกปี มีเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าเพื่อเผยแพร่ธรรมะแก่ประชาชน
 
ในช่วงแรกของการก่อตั้งวิทยุชุมชน การจัดซื้อเครื่องส่งวิทยุและอุปกรณ์ ต้องจัดหากันเองเป็นส่วนใหญ่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำผ้าป่าสามัคคี คณะกรรมการผู้ก่อตั้งระดมทุนภายในกันเอง ขอจากกัลยาณมิตร มีบางวิทยุชุมชนที่ได้งบประมาณจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF)
 
สถานที่ตั้งของวิทยุชุมชนก็มีจุดที่ตั้งที่น่าสนใจ ทางด้านความหลากหลายของจุดที่ตั้ง และทั้งหมดตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะประโยชน์หรือพื้นที่ส่วนกลาง ไม่ได้เป็นที่ของคนใดคนหนึ่ง เช่น วิทยุชุมชนคนนาทอง ตั้งอยู่ที่กลุ่มเกษตรทำนานาทอง วิทยุชุมชนชาวธาตุพนม ตั้งอยู่ที่ศาลาอีสานเขียว วิทยุชุมชนคนภูไท ตั้งอยู่ที่วัดป่าโพนพระเจ้า วิทยุเด็กและเยาวชนจังหวัดเลยตั้งอยู่ที่สำนักงานประชาสังคมจังหวัด วิทยุชุมชนพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ที่วัดดอกจานรัตนาราม ซึ่งมีนัยบ่งบอกถึงการเป็นสมบัติสาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามอุดมการณ์วิทยุชุมชน “ของชุมชน โดยชุมชนเพื่อชุมชน” คณะกรรมการวิทยุชุมชนคนภูไทได้กล่าวถึงเรื่องการเลือกสถานที่ไว้ว่า “เป็นการจัดการโดยใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน วัดเป็นของส่วนกลางของชุมชน ทุกคนเป็นเจ้าของ ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็อาศัยวัด ญาติโยมก็มาทำบุญ”
 
ส่วนการตั้งชื่อวิทยุชุมชนก็มีเอกลักษณ์บ่งบอกถึงการสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ(Sense of belonging) เช่น วิทยุชุมชนคนภูไท เดิมชื่อว่า “วิทยุชุมชนคนนายูง” แต่เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วิทยุชุมชนคนภูไท” เพราะว่าทำให้ไม่ได้มีความหมายเฉพาะขอบเขตคนตำบลนายูงเท่านั้นแต่มีความหมายถึงคนที่เป็นคนชาติพันธุ์ภูไททั้งหมด
 
 
แนวคิดให้ชุมชนเป็นเจ้าของ รัฐเป็นผู้สนับสนุน
 
วิทยุชุมชนเป็นรูปแบบหนึ่งของสื่อภาคประชาชน ชุมชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายและการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะของชุมชน โดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจและผลประโยชน์ทางการเมือง แต่เมื่อกระแสภาคประชาชนเริ่มตื่นตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 และเริ่มจัดตั้งเป็นสถานีเรียนรู้วิทยุชุมชนขึ้นในชุมชนต่าง ๆ เจ้าหน้าที่รัฐก็คิดเพียงให้ชุมชนนำเสนอและประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในรายการ เพียงช่วงเวลาหนึ่งของสถานีวิทยุชุมชน หากสถานีวิทยุชุมชนจะให้หยุดหรือเลิกผลิตรายการเมื่อไหร่ก็ได้ ตามแต่ความพอใจหรือพิจารณาความเหมาะสมของสถานี ได้แสดงว่าชุมชนก็ยังถูกควบคุม ถูกปิดกั้นและถูกจำกัดสิทธิ โดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ดี
 
ดังนั้น วิทยุชุมชนจึงเป็นเรื่องของคนที่ต้องการรักษาสิทธิ ต้องการใช้สิทธิและต้องการสื่อสารเพื่อสิ่งที่ดีต่อชุมชน ไม่ใช่เรื่องของการได้มีเพียงแค่สถานีหรือรายการ แต่เป็นเรื่องของการสร้างสมดุลแห่งอำนาจในการสื่อสารของประชาชน ชุมชนสามารถนำเอาแนวคิด วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นออกมานำเสนอได้ จากการศึกษาวิทยุชุมชนทั้ง 5 สถานีพบว่ามีแนวความคิดในการก่อตั้งวิทยุที่ชัดเจนในเรื่องของสิทธิ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และนำเรื่องราวการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นมาเป็นสาระสำคัญของการนำเสนอ อีกทั้งแต่ละสถานีมีรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างกัน ดังได้แสดงตามตารางต่อไปนี้ วิทยุชุมชนของแท้ต้องไม่มีโฆษณา
 
ตามหลักของกฎหมาย วิทยุชุมชนมีวัตถุประสงค์การดำเนินการเพื่อประโยชนสาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ ชุมชนจึงยึดหลักการที่ไม่แสวงหารายได้ในช่องทางการโฆษณาผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทหรือหน่วยงาน นั่นคือการไม่มีโฆษณานั้นเอง จึงต้องแสวงหางบประมาณเพื่อซื้อเครื่องส่งกระจายเสียง เสาอากาศ เทป ซีดี คอมพิวเตอร์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งลักษณะรายปีและรายเดือน ทางเลือกของวิทยุชุมชนคือการพึ่งพาคนในชุมชนกันเอง เช่น จัดทำผ้าป่าสามัคคี รับบริจาคจากผู้ฟัง การรับจ้างทำงาน ขอรับการสนับสนุนจาก องค์การบริหารส่วนตำบล กระบวนการสร้างสรรค์ของชุมชนได้แสดงให้เห็นว่าวิทยุชุมชนเหล่านี้ได้พยายามยืนหยัดตามข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลในระยะเริ่มแรก(ก่อนการเปิดรับสมัครของกรมประชาสัมพันธ์ในปี พ.ศ.2547) โดยที่ไม่ตกเป็นเครื่องมือของระบบธุรกิจและสามารถดำรงศักดิ์ศรีของสื่อที่เป็นธรรม
 
 
กลุ่มแกนนำวิทยุชุมชนกับภารกิจอันหนักอึ้งบนบ่า
 
การเป็นเจ้าของสถานีวิทยุชุมชน ตามเจตนารมณ์มาตรา 40 เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย สื่อเป็นสมบัติสาธารณะชิ้นใหม่ของชุมชน การดำเนินงานวิทยุชุมชนต้องมีองค์ประกอบในการบริหารจัดการคือคณะกรรมการบริหารวิทยุชุมชน ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าเป็นแกนนำหลักที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องแนวคิดวิทยุชุมชน มีภารกิจที่ต้องเตรียมชุมชนให้เข้าใจถึงการใช้สิทธิในการสื่อสารตาม มาตรา 40 เพื่อให้เกิดความความรู้ ความเข้าใจและประโยชน์ของวิทยุชุมชน
 
กลุ่มแกนนำหลักทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นผู้จัดรายการวิทยุด้วยตนเอง สามารถนำเอาแนวคิดเรื่องการใช้สิทธิในการสื่อสารตามมาตรา 40 ความรู้เรื่องวิทยุชุมชน เผยแพร่ สอดแทรก ในรายการวิทยุชุมชนเป็นระยะ นอกจากนี้กลุ่มแกนนำหลักยังมีภารกิจส่งเสริมสนับสนุนคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการดำเนินการ นักจัดรายการ ให้เข้าใจแนวคิดและหลักการการบริหารจัดการสถานีวิทยุชุมชน การร่วมกับชุมชนกำหนดกติกา การค้นหาผู้จัดรายการ การวางแผน การพัฒนาและการประเมินผล
 
การประชุมก็เป็นช่องทางที่จะสื่อสารของสถานีวิทยุชุมชน เพื่อให้กลุ่มแกนนำและชุมชนให้เข้าใจละเอียดชัดเจนและซักถามได้ แต่โดยปกติจะไม่ได้เป็นการประชุมเกี่ยวกับเรื่องวิทยุชุมชนอย่างเดียว จะเป็นวาระหนึ่งในงานพัฒนาอื่นๆ และมักจะไม่จัดประชุมบ่อยนัก เนื้อหาในการประชุมส่วนใหญ่จะหยิบยกเรื่องการปรับผังรายการ ค่าใช้จ่ายของสถานีและรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ฟัง
 
จากการศึกษาพบว่า สัดส่วนผู้หญิงที่มีรายชื่อเป็นคณะกรรมการมีน้อย แกนนำที่เป็นผู้ชายให้ข้อมูลว่าชุมชนมีความเคารพต่อสตรีเป็นอย่างมาก และสตรีมีบทบาทมากมายหลายอย่าง ทั้งในบ้าน(Reproductive work) และงานชุมชน (Community Work) ที่มีสัดส่วนน้อยเพราะว่าผู้หญิงเลือกที่จะมีบทบาทในการผู้สนับสนุนให้สามีหรือลูกมาทำงานมากกว่า หรืออย่างกรณีของวิทยุชุมชนธาตุพนม มีการจัดแบ่งบทบาทกันโดยที่ผู้หญิงเข้าไปทำงานเป็นกรรมการในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชน แต่มีการทำงานประสานกับคณะกรรมการวิทยุชุมชนโดยตลอด ถึงแม้ว่าจะไม่มีผู้หญิงในสัดส่วนของคณะกรรมการวิทยุชุมชน
 
ลักษณะการตั้งกรรมการ โดยส่วนใหญ่จะคำนึงถึงว่าวิทยุชุมชนไม่เป็นของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นกรรมการบริหารสถานีจึงมาจากตัวแทนหลากหลายสาขาในรูปกลุ่มอาชีพ หมายถึง เป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานการทำการผลิตเช่น กลุ่มเกษตร กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ กลุ่มประชาสังคม หมายถึง กลุ่มที่เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กรเอกชน ชุมชน วัด โรงเรียน ฯลฯ กลุ่มสนใจ หมายถึง กลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ เช่น สนใจเรื่องธรรมะ สนใจในเรื่องของการสื่อสาร เป็นต้น
 
ยกตัวอย่างวิทยุชุมชนคนนาทอง มีกลุ่มตัวแทนอาชีพ องค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มธุรกิจชุมชน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส(พิการ) เป็นต้น
 
 
องค์ประกอบของเนื้อหาสาระและรูปแบบรายการ  
 
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 โดยเฉพาะในมาตรา 26 ซึ่งมีใจความสำคัญระบุไว้ตอนหลังว่า “ในการจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และการอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าว เพื่อประโยชน์ สาธารณะระดับชาติ อย่างน้อยต้องครอบคลุมองค์ประกอบของเนื้อหาสาระดังต่อไปนี้
 
(1) การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
(2) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
(3) การเกษตรและการส่งเสริมอาชีพอื่น ๆ
(4) ความมั่นคงของรัฐ
(5) การกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน
(6) การกระจายข้อมูลข่าวสารของรัฐสภาเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐสภากับประชาชน
(7) การกระจายข้อมูลข่าวสาร เพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
 
สถานีวิทยุชุมชนที่เป็นแบบอย่างของวิทยุชุมชน ได้ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย มีเนื้อหาสาระที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิต และเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของชุมชน ส่วนการจัดรูปแบบรายการได้พยายามเลือกรูปแบบโดยคำนึงถึงความเป็นท้องถิ่นและความเป็นวิทยุชุมชน ซึ่งมีรูปแบบที่เฉพาะของวิทยุชุมชนดังนี้
 
รูปแบบการอ่านข่าว
เป็นรูปแบบเป็นที่นิยมจัดทำกันทุกสถานี รูปแบบการอ่านข่าวมีวัตถุประสงค์เพียงแจ้งให้ผู้ฟังทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน โดยจะมีการรายงานข่าวภายในประเทศ ข่าวท้องถิ่น ข่าวต่างประเทศ โดยจะนำมาจากหนังสือพิมพ์ หรือจากอินเตอร์เนท (Internet) อย่างในกรณีของวิทยุชุมชนธาตุพนม จะมีการค้นข้อมูลจากเว็บไซด์ที่น่าสนใจ หนังสือพิมพ์ วารสาร รวมทั้งจดหมายข่าวที่มาจากองค์กรหน่วยงานที่ทางกลุ่มคิดว่าน่าสนใจ เช่น จาก สมาคมสิทธิเสรีภาพแห่งประเทศไทย (สสส.) มูลนิธิผู้หญิง และพัฒนาสังคมจังหวัด
 
รูปแบบการวิเคราะห์ข่าว
เป็นการจัดรายการที่มุ่งเสนอเรื่องราวที่ลึกซึ้ง โดยการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์ ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุการณ์ และยังชี้ให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของเหตุการณ์นั้นด้วย ยกตัวอย่างในกรณีของวิทยุชุมชนคนนาทอง ได้เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตรโดยการวิเคราะห์ให้เห็นผลดี ผลเสีย เบื้องหน้าเบื้องหลังของบริษัทธุรกิจขายสารเคมี อันตรายของสารเคมี นำไปสู่การการส่งเสริมเกษตรกรทำปุ๋ยอินทรีย์
 
การบรรยาย
เป็นรายการเพื่อการศึกษาที่มุ่งให้เนื้อหาความรู้แก่ผู้ฟังเฉพาะกลุ่ม โดยมีประเด็นที่แน่ชัด ไม่ซับซ้อน โดยจะมีผู้มาบรรยายในประเด็นนั้นๆ ในรูปนี้สถานีวัดดอกจานรัตนารามจะมีความเด่นเพราะว่า วัดดอกจานสามารถนำเสนอเรื่องธรรมะเป็นหลัก การบรรยายเป็นเรื่องที่อาจจะทำให้ผู้ฟังเบื่อง่าย ก็จะคิดรูปแบบใหม่ ๆ ในการนำเสนอให้สนุก เช่น นิทานธรรมะ หมอลำกลอนธรรมะ เพลงเกี่ยวกับธรรมะ ในส่วนของวิทยุชุมชนคนภูไท ได้นำเสนอจะเป็นรายการที่เกี่ยวกับกิจกรรมในงานพัฒนาชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์, ธนาคารหมู่บ้าน เป็นต้น
 
การจัดรายการคู่
เป็นรายการสนทนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างผู้จัดรายการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีผู้ดำเนินรายการทั้งสองสามารถแสดงความคิดเห็นร่วมไปกับการสนทนาได้ด้วย มีบรรยากาศที่เป็นกันเองมากกว่า ในรูปแบบนี้วิทยุชุมชนเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย มีความโดดเด่นในเรื่องนี้เพราะว่ามีรูปแบบนี้ถึง 10 รายการ จาก 13 รายการ เช่น รายการสัมภาษณ์รายการสุขกายสบายใจกับสุขภาพ จัดโดย นางสาวพชรพร วรชัยพิทักษ์ และด.ญ.วิลาวรรณ อุ่มบางตลาด รายการรอบรู้ทั่วเลย จัดโดย ด.ญ.วิลาวรรณ อุ่มบางตลาด และ ด.ช.กัมพล จันทร์กระจ่าง
 
รายการสัมภาษณ์
ในรูปแบบนี้ได้ถูกนำไปใช้ทั้ง 5 สถานี เพราะทุกสถานีคำนึงถึงความเป็นวิทยุชุมชนที่ควรมีการนำเรื่องราวของท้องถิ่นมาเผยแพร่และได้พยายามที่จะทำให้เกิดการสื่อสารสองทาง (Two way communication) โดยการเชิญปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้ ผู้นำท้องถิ่น มาออกรายการพูดคุยกันในลักษณะการซักถามและตอบปัญหา หรือแสดงความคิดเห็นระหว่างบุคคล 2 คน ขึ้นไป โดยมีผู้ซักถามคือ ผู้สัมภาษณ์คนหนึ่ง และผู้ตอบคำถามหรือผู้ถูกสัมภาษณ์ เช่น วิทยุชุมชนวัดดอกจานฯ เชิญคนเคยดื่มสุราอย่างหนักและสามารถเลิกได้มาออกรายการ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้ต้องการเลิกดื่มสุรา
 
ช่วงเวลาออกอากาศ
จากการศึกษาพบว่า ช่วงเวลาการเปิดและปิดสถานีเป็นการออกแบบที่สัมพันธ์สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอีสาน หมายถึงการกำหนดช่วงเวลาออกอากาศที่สะดวกในการรับฟัง และเอื้ออำนวยให้นักจัดรายการ ด้วยการไม่ทำให้นักจัดรายการเสียงานหลักของเขาไป เป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับบรรทัดฐาน (Norms) ของชุมชน จะสังเกตได้ว่าวิทยุเด็กและเยาวชนจังหวัดเลยกลุ่มผู้จัดรายการส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน จึงกำหนดช่วงเวลาเปิดสถานี 17.00 น.และปิดในเวลา 21.00 น. เพื่อให้เด็กได้ไปโรงเรียนและกลับมาจัดรายการในช่วงเลิกเรียน ส่วนสถานีวิทยุชุมชนชาวธาตุพนมเปิดสถานีในช่วงเช้า 05.00 น ปิดช่วง 14.00 น. และจะไปเปิดอีกครั้งเวลา 16.30-19.00 น. ในช่วงเย็นที่ทุกคนกลับเข้าบ้านแล้ว พร้อมที่จะฟังวิทยุอีกครั้งหนึ่ง
 
 
บทบาทของผู้หญิงในวิทยุชุมชน
 
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2540 อันเป็นกฎหมายหลักของประเทศได้มีการบัญญัติรับรองสิทธิสตรีในมาตรา 30 ไว้ว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ที่ยกอ้างกฎหมายปี 2540 เพราะว่าเป็นปีเดียวกับการอนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิในการเป็นเจ้าของวิทยุชุมชน
 
จากการศึกษาพบว่าบทบาทผู้หญิงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาวิทยุชุมชน เพราะผู้หญิงเป็นทั้งผู้ฟังรายการประจำ ผู้ระดมทุนสนับสนุนค่าใช้จ่าย ผู้บริจาค ผู้โทรเข้ามาร่วมขอเพลง ผู้สนทนากับผู้จัดรายการ เป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะและสะท้อนความคิดเห็นต่อการจัดรายการ เป็นนักจัดรายการ เป็นกรรมการบริหาร เป็นเหรัญญิก
 
โดยหลักการในฐานะที่เป็นประชากรกึ่งหนึ่งของชุมชนผู้หญิงต้องได้รับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่ผู้หญิงสนใจ คณะผู้ศึกษาได้พบว่ามีรายการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้หญิง อยู่ในทุกสถานีวิทยุชุมชนทุกแห่ง เช่น เรื่องสิทธิผู้หญิง สุขภาพอนามัย ครอบครัว กลุ่มสตรีขณะเดียวกันผู้ที่รับฟังรายการวิทยุชุมชนอย่างเหนียวแน่น ถือว่าเป็น “แฟน” ในการให้กำลังใจ (โทรศัพท์เข้าไปในสถานี) จัดหาอาหารการกินให้ผู้จัดรายการ ตัวอย่าง แม่เกสร เลื่อนคำแสน ซึ่งเป็นผู้ฟังรายการวิทยุชุมชนคนนาทอง ได้พูดถึงวิทยุชุมชนว่า “เป็นสถานีวิทยุของเรา เสนอรายการที่ใกล้ตัว สามารถเดินไปขอเพลงด้วยตนเอง ได้แจ้งข่าว ฝากข่าว เช่น การดำนา เกี่ยวข้าว กิจกรรมของกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มทำถุงเท้า กระติบข้าว กลุ่มปลาร้า เป็นต้น”
 
ในกรณีนางบุญเติม ค้าพันธ์ เป็นผู้ฟังรายการของวิทยุชุมชนคนภูไท “โดยเฉพาะรายการแรงใจวัยฝันที่มีการแนะนำการใช้ชีวิตให้เด็กและเยาวชน ให้เล่นกีฬาและสอนเทคนิคในการทำข้อสอบ อยากให้ลูกได้ฟังด้วย” นอกจากนั้นชอบฟังรายการสุขภาพดีกับหมออนามัย ที่ให้ความรู้เรื่องสุขภาพ” นอกจากนี้นางบุญเติมยังเล่าให้ฟังต่อว่าเธอมีส่วนร่วมกับวิทยุชุมชน โดยการทำบุญบริจาคสนับสนุน ค่าน้ำ ค่าไฟวัด (วิทยุชุมชนตั้งอยู่ในวัด) และนำอาหารไปถวายพระ และมีส่วนร่วมมาตลอดไม่ว่าจะมีการระดมทุนครั้งใด จากการสอบถามนางบุญเติมแสดงให้เห็นว่าผู้ฟังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนสถานีวิทยุชุมชน
 
คำว่าผู้หญิงมักเป็น “ช้างเท้าหลัง” เป็นเพียงแค่ผู้สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชาย ผู้หญิงมักถูกคาดหวังจากครอบครัวให้ดูแลงานที่บ้านหรือเป็นแม่ศรีเรือน ในขณะที่ผู้ชายเป็นผู้นำชุมชน เป็นผู้มีเกียรติในสังคม และมีโอกาสได้พัฒนาความเป็นทักษะความเป็นผู้นำสูงขึ้นเรื่อย ๆ มีหลายฝ่ายที่เห็นว่าผู้หญิงควรได้รับโอกาสมากกว่านี้ในงานวิทยุชุมชน ผู้หญิงสามารถใช้เวทีแห่งนี้ฝึกฝนความสามารถในการสื่อสารและ ความเป็นผู้นำ เราพบว่าทุกสถานีมีนักจัดรายการที่เป็นผู้หญิง แต่ก็ยังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชาย อย่างไรคณะทำงานพบว่ามีสตรีมีบทบาทสำคัญในงานวิทยุชุมชน
 
วิทยุชุมชนคนนาทอง มีคุณครูมณี สุครีพ หรือ “สาวโคกสูง” ก็เข้ามาจัดประมาณ เกือบ 2 ปี เนื้อหาก็จะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องสุขภาพ แต่ตอนนี้เลิกจัดแล้ว เพราะมีอุปสรรคในเรื่องการใช้เทคโนโลยี ด้วยการหาเพลงจากคอมพิวเตอร์ เลยทำให้ไม่อยากมาจัดเพราะไม่ชำนาญเรื่องเทคโนโลยี
 
วิทยุชุมชนธาตุพนม มีจำนวนผู้จัดรายการที่เป็นผู้ชาย จำนวน 14 คน ผู้จัดรายการหญิง จำนวน 2 คน ผู้จัดรายการที่เป็นเยาวชน จำนวน 11 คน (ไม่ได้แยกเพศ)
 
วิทยุชุมชนคนภูไทมีรายการที่ผู้หญิงเคยจัดทั้งอดีตและปัจจุบัน คือ
1. ศิวสุดา จันดาวาปี รายการสุขภาพดีกับหมออนามัย
2. วันเพ็ญ (สาวสตรีเหล็ก) รายการธนาคารหมู่บ้าน
3. สาวดวงตา รายการเพลงก่อนงาย
4. ครูกาญจนาและนักเรียน รายการแรงใจวัยฝัน
 
วิทยุชุมชนเด็กและเยาวชนเลย มีผู้จัดรายการผู้หญิงที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกับผู้จัดรายการที่เป็นชาย คือมีผู้หญิงจำนวน 7 คนในขณะที่ผู้จัดรายการชาย 12 คนในรายการที่จัดจะเป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความรู้สำหรับผู้หญิง เช่น สุขภาพกายสบายใจ ฉลาดซื้อฉลาดใช้ รอบรู้ทั่วเลย เด็กรู้เท่าทันโลก เป็นต้น
 
วิทยุชุมชนพระพุทธศาสนาวัดดอกจาน ฯ มีนางราตรี นนทศิลา เป็นผู้จัดรายการคนเดียวที่มีอยู่ แต่มีบทบาทสำคัญ ประเด็นในการจัดจะเป็นเรื่องอันตรายของยาเสพติด สุขภาพอนามัย และพัฒนากลุ่มสตรีทอผ้าไหม การมีส่วนร่วมในระดับการตัดสินใจหรือเข้าร่วมในระดับนโยบายผู้หญิง หมายถึงว่า ผู้หญิงมีส่วนเข้าร่วมในการกำหนด วางแผนและบริหารจัดการอย่างเสมอภาค ในเชิงปริมาณปรากฏว่าผู้หญิงมีจำนวนน้อยที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ แต่ก็บางส่วนที่มีส่วนสำคัญในการบริหารวิทยุชุมชน
 
นางราตรี นนทศิลา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะตัวแทนของผู้หญิงที่มีความสามารถที่ได้เข้ามาเป็นกรรมการบริหาร ร่วมวางแผน ในฐานะเหรัญญิก ตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็น ผู้จัดรายการและคัดคนเข้าจัดรายการ ในการจัดรายการ บางครั้งนางราตรี ต้องหาข่าวเองด้วย ราตรี บอกว่า “ตอนแรกแม่และน้องชายไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทุ่มเทงานขนาดนี้ ประกอบทั้งมีคนปรามาสว่าคงทำไปได้ไม่เท่าไหร่ มาบัดนี้ภูมิใจที่ตนเองทำได้และ ครอบครัวเข้าใจแล้ว”
 
 
ปัญหาอุปสรรคของวิทยุชุมชนพื้นที่ภาคอีสาน
จากการศึกษาพอจะประมวลสรุปได้ว่า
 
ปัญหาด้านงบประมาณและทุน
วิทยุชุมชนทั้ง 5 แห่ง ต่างประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการบำรุงรักษาเครื่องส่งและค่าใช้จ่ายรายเดือน เพราะว่าไม่ได้มีรายได้จากการโฆษณาเหมือนกับวิทยุชุมชนกระแสหลัก การซ่อมแซมบำรุงอุปกรณ์เครื่องส่งในแต่ละครั้งจึงใช้การระดมทุนกันเป็นครั้งคราว เช่นการทอดผ้าป่า ทำบุญบริจาค เป็นต้น ค่าบริหารจัดการอื่น ๆ บางครั้งกลุ่มแกนนำหลักเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวไป
 
ปัญหาคลื่นแทรกคลื่นทับ
ในสถานการณ์ที่มีการเปิดวิทยุชุมชนเป็นจำนวนมากตามนโยบายของรัฐเมื่อปี พ.ศ.2547 ทำให้เกิดการตั้งสถานีใกล้กัน ประกอบกับมีการเพิ่มกำลังส่งสูงกว่าเกณฑ์ทางเทคนิคกำหนด 30-30-15 ทำให้วิทยุชุมชนทั้ง 5 แห่ง ถูกคลื่นทับ คลื่นแทรกด้วย
 
บุคลากรด้านเทคนิคมีจำกัด
ปัญหาที่พบมากคือบุคลากรในชุมชนไม่มีความรู้ประสบการณ์การใช้เครื่องส่ง การใช้คอมพิวเตอร์ บุคลากรที่มีความชำนาญด้านนี้จะมีโดยเฉลี่ย 1-2 คนต่อสถานี ซึ่งไม่เพียงพอและวิทยุชุมชนก็ไม่สามารถที่จะสนับสนุนค่าตอบแทนให้เขาอยู่ประจำการที่สถานีตลอดเวลาได้
 
ผู้จัดรายการโดนซื้อตัว
เนื่องจากการจัดรายการวิทยุชุมชน 100% เป็นรูปแบบอาสาสมัคร ทำให้บางครั้งก็ยากที่จะดูแลให้อยู่กับวิทยุชุมชนได้ บุคลากรที่เก่งมีทักษะ คนชื่นชอบมากจะถูกซื้อตัวไปจัดในวิทยุกระแสหลัก
 
ผู้จัดรายการขาดข้อมูลใหม่ๆ มานำเสนอ
ปัญหาที่พบบ่อยคือ ผู้จัดรายการรู้สึกว่าไม่มีเนื้อหาที่จะนำเสนอต่อไป ทำให้ขาดความกระตือรือร้นและเลิกจัดรายการ
 
การมีส่วนร่วมของประชาชน
ประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจว่าวิทยุชุมชนเป็นของชุมชนและทำให้ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังที่กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่าคณะกรรมการที่กระตือรือร้นจำนวนหนึ่ง อีกส่วนใหญ่จะยังแค่การเป็นแกนร่วมคือมีการเข้ามาช่วยเป็นครั้งคราว ในช่วงแรกการก่อตั้งจะมีคนสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เมื่อระยะเวลาผ่านไปก็ทยอยหยุดไป
 
การแทรกแซงของรัฐ
เมื่อมีการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ได้มีกฎหมายลูกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 คือ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งมีเนื้อหาสาระในการควบคุมสื่อมากขึ้น ทำให้วิทยุชุมชนเกิดความหวั่นเกรงว่าจะโดนยุบหรือโดนปิดสถานีวิทยุ การนำเสนอรายการอาจถูกเหมาว่า “กระทบต่อความมั่นคง” รัฐกำหนดให้วิทยุชุมชนทั่วประเทศต้องไปขออนุญาตจดทะเบียนใหม่ และอาจส่งผลให้วิทยุชุมชนหลายแห่งที่อาจจะไม่ผ่านเกณฑ์ขอใบอนุญาต
 
 
บทสรุป : บทเรียนและทางเลือกในอนาคต
 
ในเชิงเชิงวิชาการ
 
จากการสำรวจองค์ความรู้ด้านวิชาการเกี่ยวกับวิทยุชุมชน มีงานด้านการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานวิทยุชุมชนโดยตรงน้อย จึงสรุปว่าควรจะมีการส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชน หากพิจารณาตามผลวิจัยในครั้งนี้ได้ค้นพบประเด็นสำคัญหลากหลาย จึงเห็นว่าการวิจัยครั้งต่อไปควรศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) โดยมุ่งศึกษาในเรื่องการพัฒนารูปแบบและเนื้อหาของวิทยุชุมชน การสื่อสารวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อสาธารณะ และบทบาทหญิงชายในการพัฒนาวิทยุชุมชน การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้จะทำให้แน่ใจว่าจะได้นำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์แบบมีส่วนร่วม หลังจากนั้นนำไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาปรับปรุงวิทยุชุมชนและคนในชุมชนได้ โดยเฉพาะประเด็นการวิจัยเรื่องบทบาทชายหญิง ควรเป็นประเด็นงานวิจัยที่จะทำให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามากขึ้น โดยเชื่อว่าผู้หญิงมีความสามารถ มีพลัง และสามารถพัฒนาวิทยุชุมชนได้เป็นอย่างดี
ในเชิงปฏิบัติการ
 
ก. สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ
ความรู้สึกเป็นเจ้าของเกิดขึ้นได้เมื่อเข้ารู้สึกว่า วิทยุชุมชนช่วยแก้ไขปัญหาให้เขาได้และเขาสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตามเจตนารมณ์ของวิทยุชุมชนคือเป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ถ้าแกนนำหลักสามารถเข้าหาคนในชุมชนมากขึ้น และพูดคุยสร้างความเข้าใจเพื่อขยายแนวร่วมมาทำงานมากขึ้น อาจจะเข้ามาเป็นกรรมการ เป็นนักจัดรายการ หรือเป็นผู้ระดมทุน ฯลฯ และสร้างภาพลักษณ์วิทยุชุมชนเหมือนบ้าน ที่มีความอบอุ่น เป็นกันเอง และน่าหวงแหน เฉกเช่นสถาบันสำคัญที่มีอยู่เดิมในชุมชน เช่น วัด โรงเรียน
 
ข. พัฒนาศักยภาพ
ด้วยการใช้เวทีวิทยุชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาทักษะการพูด การอ่าน
การสนทนา การบริหารจัดการ นอกจากพัฒนาทักษะแล้ว การสรุปบทเรียนเพื่อทบทวนการทำงาน จะทำให้เกิดวิธีคิดใหม่หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ การพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ ๆ เพื่อสืบสานภารกิจก็อยู่ในกระบวนการหล่อหลอมคนรุ่นถัดไปมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
 
ค.นำเสนอภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น
สามารถนำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่นมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นบุญประเพณี หรือเชิญปราชญ์ชาวบ้านมานำเสนอองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านวิทยุชุมชน การทำดังนี้ชุมชนจะรู้สึกได้ถึงว่าวิทยุชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนที่แท้จริงไม่ใช่เป็นกระบอกเสียงให้กับนายทุน หรืออำนาจอื่น ๆ
 
ง. การระดมทุน
ให้พยายามคิดสรรรูปแบบต่าง ๆ ที่จะสามารถให้วิทยุชุมชนยืนอยู่ได้ ซึ่งก็มีแนวความคิดและปฏิบัติการขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดทำผ้าป่าสามัคคี การรับบริจาค ฝากประกาศงานพิธี ฝากประกาศผ้าป่าประชาสัมพันธ์ให้ตลาดท้องถิ่น การรับจ้างทำสื่อ สิ่งเหล่านี้เป็นทางเลือกระดมทุนโดยไม่ต้องโฆษณา ควรมีการสร้างการระดมทุนอย่างต่อเนื่อง และผลักดันให้ชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่เฉพาะกรรมการแกนนำคนเดียวหรือกลุ่มเดียว
 
จ. การสร้างกลไกระดับชุมชน
โดยมุ่งการประสานความร่วมมือกับกลุ่มต่าง ๆ สามารถเป็นกลไกทางด้านการ
สื่อสารให้กับกลุ่มต่าง ๆในชุมชน และน่าจะเป็นการประสานให้เกิดความร่วมมือ เกิดแนวทางการพัฒนาร่วมกัน อย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งสามารถประสานสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่น
 
ฉ. การสร้างกลไกเครือข่ายทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
วิทยุชุมชนจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ต้องร่วมมือ รวมใจกับอาศัยองค์กรอื่น เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือกัน ถ่ายเทความรู้ ทักษะแก่กันและกัน การเยี่ยมเยือนแบบพี่น้อง การแลกเปลี่ยน การแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น การพัฒนาทักษะการจัดรายการวิทยุ มีเวทีแลกเปลี่ยนเรื่องความรู้เรื่องสิทธิและกฎหมาย และรวมทั้งการรณรงค์เคลื่อนไหวเชิงนโยบายร่วมกัน
 
 
การดำเนินการเชิงนโยบายและการใช้กฎหมาย
 
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย ก่อนมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ประชาชนไม่เคยเข้าถึงและไม่เคยมีส่วนร่วมโดยตรงมาก่อนเลย เมื่อมีโอกาสอันดีที่เกิดการปฏิรูปและให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงในการบริหารจัดการวิทยุ ซึ่งถือว่าเป็นสื่อของประชาชนโดยตรง รัฐต้องตระหนักในสิทธิของประชาชนและขณะเดียวกันประชาชนต้องให้ความสำคัญและเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และควรจะมีแนวทางส่งเสริมสนับสนุน ดังนี้
 
ก. รัฐควรเปิดโอกาสอย่างเต็มที่ รัฐต้องปรับเปลี่ยนจากการควบคุมเนื้อหาสื่อสาร มวลชน มาเป็นการเปิดโอกาสให้เสรีภาพทางความคิดของประชาชนแสดงออกผ่านสื่อได้มากขึ้น ควรจัดการให้มีกลไกการตรวจสอบกำกับดูแลทางสังคม มากกว่าที่รัฐจะใช้แนวทางการควบคุมกำกับดังที่เป็นอยู่ ซึ่งควรเลิกพฤติกรรมในการข่มขู่คุกคามการแสดงออกของสื่อมวลชนและประชาชนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงคุกคามซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป
 
ข. การกำหนดนโยบายหรือแผนในการสนับสนุนสื่อภาคประชาชน รัฐควรจะส่งเสริมผู้ไร้สิทธิ์ ไร้เสียง ขาดโอกาส ได้มีช่องทางในการสื่อสารกับรัฐกับสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ร่วมกัน การสื่อสารผ่านแนวราบ ไม่ใช่แบบบนลงล่าง (Top down) อีกต่อไป ประชาชนจะไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำอีกต่อไป แต่จะเปลี่ยนมาเป็นผู้สื่อสารด้วยตนเอง
 
ค. ภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคมต้องช่วยกันกำหนดทิศทางอย่างชัดเจน เตรียมความพร้อมของภาคประชาชนในการเข้ามาสร้างสรรค์สื่อภาคประชาชน ด้วยการให้ข้อมูล ความเคลื่อนไหวทางการเมืองและกฎหมาย หนุนเสริมวิทยุชุมชนใน 5 -10 สถานีวิทยุในเบื้องต้น โดยให้กลุ่มวิทยุที่จะเติบโตในภายหลังสามารถพัฒนาได้อย่างมีทิศทางและมีแบบอย่างที่ดี
 
ง. วิทยุชุมชนต้องตอบสนองกลุ่มประชาชนที่หลากหลายทั้งในทางด้านกายภาพ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และภูมิภาค ที่มีความหลากหลายในเชิงประเด็น ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เกษตร ผู้หญิง ชุมชนชาวบ้าน เขมร ภูไท ฯลฯ
 
 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หนังสืออ้างอิง
 
  • กนกศักดิ์ แก้วเทพ.2546. เศรษฐศาสตร์การเมือง สื่อมวลชนบนเส้นทางทุนนิยม.พิมพ์ครั้งแรก กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง.
  • กาญจนา แก้วเทพ. 2544.ศาสตร์แห่งสื่อและวัฒนธรรมการศึกษา. กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • กุลวดี หวังดีศิริสกุล. 2546. เศรษฐศาสตร์การเมือง สื่อมวลชนบนเส้นทางทุนนิยม.กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง.
  • เข็มพร เชื้อตาหมื่น.2548.จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนชาวธาตุพนมเอฟ.เอ็ม.105.25
  • เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคตะวันตกและคณะ .2551.วิทยุชุมชน: รายงานการศึกษาข้อมูลพื้นฐานวิทยุชุมชนภาคประชาชน.เชียงใหม่: มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
  • เครือข่ายสื่อประชาชนภาคอีสาน. 2550.หอมดินอีสาน.อุบลราชธานี: จัดพิมพ์โดย เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคอีสาน.
  • จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์และคณะ. 2550.คู่มือวิทยุชุมชน.พิมพ์ครั้งที่ 1เชียงใหม่: จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อภาคเหนือ.
  • จุมพล รอดคำดี, 2542 และ กาญจนา แก้วเทพ, 2546 แนวคิดวิทยุชุมชนและการศึกษาที่เกี่ยวข้อง หอมดินอีสาน.อุบลราชธานี: จัดพิมพ์โดย เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคอีสาน.
  • ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ และวีระยุทธ กาญจนชูฉัตร, 2546 แนวคิดวิทยุชุมชนและการศึกษาที่เกี่ยวข้อง หอมดินอีสาน.อุบลราชธานี: จัดพิมพ์โดย เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคอีสาน
  • ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ. 2546.เศรษฐศาสตร์การเมือง สื่อมวลชนบนเส้นทางทุนนิยม.พิมพ์ครั้งแรก กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง.
  • ทวีศักดิ์ สุภานันท์และคณะ(2551).ศูนย์การเรียนรู้เพื่อชีวิตที่พอเพียงเครือข่ายธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริวิทยุชุมชนคนภูไท เอฟ.เอ็ม.106.2มฮ.อุดรธานี : ศูนย์การเรียนรู้เพื่อชีวิตที่พอเพียง. ชุดเอกสารเย็บเล่ม
  • ธีรนาถ กาญจนอักษร.2542.หญิง-ชายกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม. กรุงเทพ ฯ: บริษัทเอดิสันเพรส โปรดักส์.
  • บัญชร อ่อนดำและคณะ.2544.การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม. เชียงใหม่: หจก.เชียงใหม่ บี. เอส.การพิมพ์.มฮ.นครพนม: จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนชาวธาตุพนม.
  • มารยาท พงษ์ไพบูลย์.2546. วิทยุชุมชน: รายงานการศึกษาข้อมูลพื้นฐานวิทยุชุมชนภาคประชาชน เชียงใหม่: มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
  • วันชัย วัฒนศัพท์.2546. เอกสาร “การมีส่วนร่วมกับการพัฒนาองค์กร” บรรยายในการสัมมนานายจ้างและลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจ เรื่อง “ระบบทวีภาคีกับการแก้ปัญหาแรงงานในรัฐวิสาหกิจ วันที่ 6-8 มีนาคม 2546. ชลบุรี :จัดโดย กองรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
  • แวง พลางวัน. 2550.หอมดินอีสาน.อุบลราชธานี: จัดพิมพ์โดย เครือข่ายสื่อภาคประชาชน ภาคอีสาน.
  • สมาพันธ์วิทยุชุมชนฅนอีสาน.2546. หมายเหตุวิทยุชุมชนฅนอีสาน พ.ศ.2545-2 เอกสารเย็บเล่ม
  • อนุสรณ์ ไชยพาน.2545.วาระประชาชนเพื่อความเป็นไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ เดือนตุลา.

http://www.prachatai.com/journal/2009/06/24613

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew