"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สุนทรภู่เข้าสำนักเรียนของ"ผู้ดี" วัดศรีสุดารามวรวิหาร (วัดชีปะขาว) ในคลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

 
วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11422 มติชนรายวัน


สุนทรภู่เข้าสำนักเรียนของ"ผู้ดี" วัดศรีสุดารามวรวิหาร (วัดชีปะขาว) ในคลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ


โดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล



 

 
ปรับปรุงจากหนังสือศรีสุดารักษนุสรณ์

ของสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จัดพิมพ์ถวายเป็นพุทธบูชา พ.ศ.2551

วัดศรีสุดาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 83 ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก ถนน-แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

เดิมชื่อว่า วัดชีผ้าขาว หรือชีปะขาว สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างขึ้นในราวสมัยกรุงศรีอยุธยา

ประวัติความเป็นมา

ประวัติศาสตร์ของวัดศรีสุดารามมีหลักฐานชัดเจนมากขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ด้วยปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (เจ้าคุณแก้ว หรือเจ้าคุณตำหนักแดง) สมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัดขึ้นใหม่

พุทธศักราช 2379 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งแกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏความว่า พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แต่งคำประพันธ์เรื่องนิราศสุพรรณขึ้น เนื้อความในนิราศตอนหนึ่งกล่าวถึงวัดศรีสุดาราม หรือวัดชีปะขาว ว่าเคยเป็นสำนักเรียนหนังสือเมื่อครั้งวัยเยาว์

ภายหลังจากนั้นอีกประมาณ 5 ปี คือราว พ.ศ.2384 สุนทรภู่เดินทางไปนมัสการพระประธม (พระปฐมเจดีย์) ระหว่างเดินทางได้ผ่านหน้าวัดชีปะขาวและบันทึกเป็นเชิงนิราศไว้

อนึ่ง นอกจากสุนทรภู่จะเคยเรียนหนังสือไทยที่วัดชีปะขาวนี้แล้ว เมื่อสุนทรภู่เจริญวัย ได้รับการศึกษาตามสมควรแก่ฐานะแล้ว ยังปรากฏเป็นผู้เปรื่องปราดในวิชาอักษรศาสตร์มาแต่เยาว์ เมื่อรุ่นหนุ่มก็สามารถบอกดอกสร้อยสักวาและมีอาชีพเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดชีปะขาวในคลองบางกอกน้อยด้วย

 


ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว น้ำได้เซาะตลิ่งพังเข้ามาจนถึงหน้าพระอุโบสถวัดชีปะขาว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยามุขมนตรี (เกษ สิงหเสนี) บุตรเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่กองสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่โดยเลื่อนขึ้นจากที่เดิม ทรงโปรดให้เจ้าพนักงานปักกำหนดเขตรอบโรงพระอุโบสถลงใหม่ใช้แทนวิสุงคามสีมาเดิม โดยให้มีความกว้าง 7 วา ยาว 15 วา ทรงพระราชอุทิศถวายให้เป็นที่วิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2410 แล้วโปรดให้สร้างเขื่อนหน้าวัด เพื่อป้องกันน้ำเซาะตลิ่งจนเป็นผลสำเร็จ

ภายหลังเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแปลงนามวัดใหม่ พระราชทานนามว่า "วัดศรีสุดาราม" ด้วยทรงพระราชอนุสรณ์ถึงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชอัยยิกาเจ้าของพระองค์ ทั้งยังเป็นผู้ทรงสถาปนาและอุปถัมภ์วัดชีปะขาวมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ให้คล้องจองกับนาม "หิรัญรูจี" ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของวัดน้อยในคลองบางไส้ไก่ ที่ทรงแปลงนามเสียใหม่

เนื่องด้วยเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ กับพระภัสดา คือเจ้าขรัวเงินได้บูรณปฏิสังขรณ์คนละวัด คือ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ทรงรับพระธุระอุปถัมภ์วัดชีปะขาว ส่วนท่านเจ้าขรัวเงิน พระภัสดา รับดูแลวัดน้อย ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ 4 จึงทรงตั้งพระทัยให้ชื่อวัดทั้งสองแห่งคล้องจองกันเป็น "หิรัญรูจี ศรีสุดาราม"

 


ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 วัดศรีสุดารามก็ได้รับการทะนุบำรุงอีกครั้ง ดังปรากฏว่ามีการสร้างสะพานข้ามคลองแบบเก่า ซึ่งมีศาลาไม้หลังเล็กๆ คร่อมอยู่กึ่งกลางสะพาน ที่หน้าจั่วของศาลานั้นจารึกไว้ว่าสร้างเมื่อ ร.ศ.128



"สุนทรภู่"ศิษย์เอกสำนักเรียนวัดชีปะขาว

พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือสุนทรภู่ กวีคนสำคัญของไทย มีชื่อเสียงในด้านสำนวนกลอนเป็นที่เลื่องลือมากทั้งในกรุงและนอกพระนคร รวมทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็น จินตกวีคนสำคัญคนหนึ่งของไทย ที่มีจินตนากากรกว้างไกล สามารถผูกเรื่องและวางเนื้อหาได้น่าสนใจและชวนแก่การติดตาม

นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังสร้างสรรค์ผลงานไว้หลายประเภท หลายเรื่อง ซึ่งผลงานเหล่านี้เป็นที่นิยมของนักอ่านในวงกว้างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในประวัติสุนทรภู่ตอนหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวัดชีปะขาว หรือวัดศรีสุดาราม คือช่วงชีวิตในวัยเยาว์ ท่านได้มาเรียนหนังสือที่วัดแห่งนี้ ดังความปรากฏในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ ตอนหนึ่งว่า

๏ วัดปขาวคราวรุ่นรู้ เรียนเขียน

ทำสรุทสอนเสมียน สมุทน้อย

เดินรวางรวงเวียน หว่างวัดปขาวเอย

เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย สวาดิห้างกลางสวน ฯ

จากคำประพันธ์ข้างต้นทำให้ทราบว่า สุนทรภู่ได้รับการศึกษาวิชาเลขและวิชาหนังสือ ณ วัดชีปะขาว และภายหลังสุนทรภู่ก็ได้สอนวิชาเหล่านี้แก่ผู้ที่จะทำหน้าที่เสมียน โดยสอนอยู่ที่วัดชีปะขาวนี้เอง

นอกจากเป็นครูสอนหนังสือที่สำนักเรียนวัดชีปะขาวแล้ว สุนทรภู่ยังเคยมีอาชีพทำหน้าที่เป็นนายระวางกรมพระคลังสวนอีกด้วย ซึ่งกรมพระคลังสวน มีหน้าที่เก็บอากรสวนและวัดระวาง นอกจากนี้ยังดูแลเก็บขนอนตลาดด้วย

สำหรับนายระวางนี้ คงจะมีหน้าที่เกี่ยวกับการวัดระวางพื้นที่สวน เพื่อใช้ในการคำนวณอากรค่าสวนและพื้นที่ที่สุนทรภู่รับผิดชอบในการวัดระวางก็คงจะเป็นพื้นที่บริเวณวัดชีปะขาวดด้วย ดังที่สุนทรภู่กล่าวว่า "เดินรวางรวงเวียน หว่างวัดปขาวเอย"

ด้วยเหตุนี้ที่วัดชีปะขาว หรือวัดศรีสุดาราม เป็นทั้งที่เรียน และที่ทำงานของสุนทรภู่ จึงทำให้สุนทรภู่มีความผูกพันกับวัดชีปะขาวอย่างยิ่ง

อนึ่ง เหตุที่มารดาของสุนทรภู่เลือกให้สุนทรภู่มาเรียนที่วัดชีปะขาวนั้น นอกจากเหตุผลที่สำนักเรียนวัดชีปะขาวเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังน่าจะเกี่ยวข้องกับฐานะของมารดาของสุนทรภู่ที่เป็นพระนมในพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในกรมพระราชวังหลังด้วย

เพราะวัดชีปะขาวตั้งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับพระราชวังหลัง (บริเวณโรงพยาบาลศิริราชปัจจุบัน) และวัดชีปะขาวยังได้รับพระราชทานพระราชูปถัมภ์จากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นพระโสทรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว ยังเป็นพระมาตุจฉาในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (กรมพระราชวังหลัง) พระราชบิดาของพระองค์เจ้าหญิงจงกล ที่มารดาของสุนทรภู่เป็นพระนมอยู่อีกด้วย

เหล่านี้น่าจะเป็นเหตุผลที่มารดาของสุนทรภู่ให้สุนทรภู่มาเรียนที่สำนักเรียนวัดชีปะขาวแห่งนี้

หน้า 20

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01180652&sectionid=0131&day=2009-06-18

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew