สถาบันอิศรา: รัฐไขปมใต้เดือดระลอกใหม่ กับคำถามถึงความสำเร็จลดสถิติความรุนแรง
Thu, 2009-06-11 07:44
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาร้อนระอุอีกครั้ง ในรอบ 20 วันที่ผ่านมา คำถามที่ระเบ็งเซ็งแซ่ในสังคมก็คือ เหตุร้ายที่ชายแดนใต้กลับมาปะทุอย่างรุนแรงอีกครั้งได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงก็ยืนยันมาตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า สถิติการก่อความไม่สงบลดจำนวนลงแล้ว
วันพุธที่ 10 มิถุนายน 2009
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาร้อนระอุอีกครั้ง โดยในรอบ 20 วันที่ผ่านมานับตั้งแต่เปิดภาคเรียนใหม่เมื่อวันที่ 18 พ.ค.จนถึงคืนวันที่ 8 มิ.ย. มีครูถูกสังหารไปแล้ว 4 คน ได้รับบาดเจ็บ 5 คน ชุดคุ้มครองครูถูกโจมตี 6 ครั้ง มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บ 15 นาย
นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์ประเภทช็อคความรู้สึกสังคมไล่มาตั้งแต่การก่อ วินาศกรรมย่านธุรกิจ 9 จุดกลางเมืองยะลาเมื่อวันที่ 27 พ.ค. เหตุระเบิดคาร์บอมบ์กลางอำเภอยี่งอ จ.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 19 คน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. และล่าสุดคือเหตุบุกยิงพี่น้องมุสลิมเสียชีวิต 11 ศพถึงในมัสยิด ที่บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
คำถามที่ระเบ็งเซ็งแซ่ในสังคมก็คือ เหตุร้ายที่ชายแดนใต้กลับมาปะทุอย่างรุนแรงอีกครั้งได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงก็ยืนยันมาตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า สถิติการก่อความไม่สงบลดจำนวนลงแล้ว
แหล่งข่าวระดับสูงจากกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) แยกแยะเหตุรุนแรงออกเป็น 2 บริบท ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกัน กล่าวคือ
1.เหตุการณ์ลอบทำร้ายครู และเจ้าหน้าที่ชุด รปภ.ครู ถือเป็นการก่อเหตุปกติที่กลุ่มก่อความไม่สงบกระทำทุกครั้งในห้วงเปิดภาค เรียนใหม่ ซึ่งชุด รปภ.ครูถือเป็น "เป้าเคลื่อนที่" ที่ป้องกันยากที่สุด แต่ปีนี้ความสูญเสียค่อนข้างร้ายแรงกว่าช่วง 1 ปีก่อนหน้า
2.เหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่ อ.ยี่งอ และเหตุสังหารหมู่ถึงในมัสยิดที่ อ.เจาะไอร้อง พตท.มองว่าต้นเหตุสำคัญมาจากการจับกุมรองหัวหน้าระดับเขต หรือที่เรียกว่า "กัส" ในพื้นที่นราธิวาสเมื่อราว 2 เดือนก่อน ทำให้ฝ่ายตรงข้ามวางแผนแก้แค้น และตั้งรองหัวหน้าระดับเขตคนใหม่เข้ามา จึงต้องก่อเหตุรุนแรงเพื่อเรียกความมั่นใจ และสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน
ที่สำคัญ เหตุร้ายซึ่งเกิดในพื้นที่ใหม่ๆ และไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงมานานอย่าง อ.ยี่งอ เป็นผลจากโครงการหมู่บ้านเสริมสร้างสันติสุข หรือ "หมู่บ้าน 3 ส." ที่ พตท.ส่งกำลัง "ชุดพัฒนาสันติ" เข้าไปอาศัยอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่สีแดง 217 หมู่บ้านทั่วสามจังหวัด ทำให้แกนนำระดับหมู่บ้านไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิม บางส่วนต้องหนีออกนอกพื้นที่ และหันกลับมาก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดเหตุมานาน ซึ่งมีระดับการคุมเข้มต่ำกว่าพื้นที่สีแดง
มุมวิเคราะห์จากหน่วยกำลังในพื้นที่สอดรับกับการประชุม "วงใหญ่" ของหน่วยงานความมั่นคงเมื่อวานนี้ ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) นั่งหัวโต๊ะ ซึ่งสรุปว่า ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงเอาชนะฝ่ายก่อความไม่สงบทั้งทาง ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี กล่าวคือ
ในแง่ยุทธวิธี กลุ่มผู้ไม่หวังดีไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระจากโครงการหมู่บ้าน 3 ส. ขณะที่การข่าวในพื้นที่ดีขึ้น สามารถปิดล้อมตรวจค้นจับกุมแนวร่วมและยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดจนอุปกรณ์ที่ ใช้ในการก่อเหตุรุนแรงได้เป็นจำนวนมาก
ในระดับยุทธศาสตร์ ฝ่ายความมั่นคงสามารถหยุดการสร้างความเข้าใจผิดในเวทีนานาชาติที่ฝ่ายขบวน การพยายามทำมาตลอดได้ การนำเอกอัครราชทูตจากชาติยุโรปลงพื้นที่ สามารถสร้างความเข้าใจได้อย่างดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สงครามศาสนา แม้จะมีข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ภาพรวมของการแก้ปัญหาดีขึ้นกระทั่งในการประชุมใหญ่ขององค์การการประชุมอิส ลาม หรือโอไอซี เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ไม่ได้บรรจุกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นวาระพิเศษที่ต้องหารือ
วงประชุมหน่วยงานความมั่นคงชายแดนใต้ฟันธงว่า นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงจากฝ่ายขบวนการในห้วงเวลานี้ เพื่อตรึงสถานการณ์และทำให้ประชาคมโลกเห็นว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ยังมีปัญหา พร้อมๆ กับการใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนและความอยุติธรรม โดยเฉพาะความคืบหน้าล่าสุดของ "คดีตากใบ" เป็นเครื่องมือในการปลุกระดม
แม้บทวิเคราะห์จากฝ่ายความมั่นคงจะมีเหตุผลพอรับฟังได้ แต่ประเด็นที่จะมองข้ามมิได้เป็นอันขาดก็คือ เหตุการณ์กราดยิงถึงในมัสยิดซึ่งมีความละเอียดอ่อนสูงมาก และเมื่อตรวจสอบข่าวลือในพื้นที่ก็พบว่า มีการสร้างกระแสสวนทางกับบทสรุปของฝ่ายความมั่นคง นั่นคือกระจายข่าวไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแก้แค้นที่ "คนของรัฐ" ตกเป็นเหยื่อไปหลายรายในรอบ 20 วันที่ผ่านมา
เป้าหมายชัดเจนว่าต้องการ "ตอกลิ่ม" ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ ระหว่างผู้คนสองศาสนา และยกระดับสถานการณ์ไปพร้อมกัน
โจทย์ของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงก็คือ เหตุใดสิ่งที่เรียกว่า "เดินมาถูกทางแล้ว" และ "เอาชนะได้ทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี" จึงถูกตอบโต้สวนกลับได้อย่างรุนแรงเช่นนี้...หรือนั่นเป็นเพียงภาพลวงตา?
ที่สำคัญเป็นสถานการณ์ความรุนแรงในช่วงที่งบด้านการทหารกำลังถูกตั้งคำถาม จากสังคมและฝ่ายการเมือง ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งคำถามที่ฝ่ายความมั่นคงต้องตอบให้ได้เช่นกัน
แนวรบที่ชายแดนใต้กำลังสร้างโจทย์ข้อใหญ่ที่รัฐคงก้าวข้ามไม่ง่ายอย่างที่คิด!
(บางส่วนของรายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าในประเทศ ฉบับวันที่ 10 มิ.ย.2552)
ที่มา: http://www.isranews.org/cms/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น