วันครบรอบ 77 ปีของการปฏิวัติประชาธิปไตยกำลังจะเวียนมาถึงอีกครั้ง ท่ามกลางความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมือง ที่หันมายึดถือประวัติศาสตร์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นสัญลักษณ์หนึ่งในการต่อสู้
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การปลุกกระแสสีเหลืองด้วยอุดมการณ์ราชาชาตินิยม แม้จะห้อยท้ายว่า "เพื่อประชาธิปไตย" แต่ก็ทำให้การปฏิวัติ 2475 โดนหางเลขว่า "ชิงสุกก่อนห่าม" หรือ "เอาประชาธิปไตยแบบฝรั่งมาใช้" กระทั่งไปถึงว่า รัชกาลที่ 7 ต่างหากทรงเป็นผู้พระราชทานประชาธิปไตย เป็นบิดาแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ขณะเดียวกัน การปลุกกระแสสีแดงก็เปรียบเปรยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประสบชะตากรรมไม่ต่างจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จนกระทั่งมาสู่การนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 27 มิถุนายน และเรียกร้องให้วันที่ 24 มิถุนายน กลับมาเป็นวันชาติ
บทสัมภาษณ์ครั้งนี้มิได้มุ่งหมายจะโต้ตอบกระแสฝ่ายใด เพียงต้องการสะท้อนความรู้สึก และถ่ายทอดเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของคณะราษฎร-บิดาแห่งประชาธิปไตยผู้ถูกลืม ถูกให้ร้าย และประสบชะตากรรมต่างๆ กันไป
ศุขปรีดา พนมยงค์
"บางคนก็พยายามที่จะให้ผมไปพูดไปเป็นเครื่องมือบางอย่าง ซึ่งผมไม่พร้อมที่จะทำอย่างนั้น การต่อสู้เดินไปผมไม่ว่า และผมเห็นว่าบางส่วนเขาก็ถูกต้อง แต่จะเอาตัวผมไปอย่างนั้น ผมคงทำไม่ได้ เรามองปัญหาต่างกัน ผมมองก็พอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ช่วงนี้มันกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นความยุ่งเหยิงก็มีมากเหลือเกิน"
ลูกชายคนเล็กของ อ.ปรีดี เกิดในปี 2478 ตอนที่ อ.ปรีดีเป็น รมว.มหาดไทย "ผมเกิดไม่ทันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่ก็ได้ติดตามอยู่"
ตอนเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ยังอยู่ชั้น ม.4
"ผมเรียน ม.4 มาอยู่บ้านคุณยายที่สีลม ตอนนี้เป็นถนนนราธิวาสราชนครินทร์ไปแล้ว ได้ทราบว่ามีทหารคณะรัฐประหารบุกเข้าไปทำเนียบท่าช้าง พวกผมก็ต้องไปอยู่ที่เขตทหารเรือที่สัตหีบ"
จนเมื่อจบ ม.ปลาย ก็เดินทางไปอยู่เมืองจีน
"ปี 2495 ตอนนั้นมีกบฏสันติภาพ แม่กับพี่ผม (ปาล พนมยงค์) โดนจับ ตอนนั้นมี พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ผมก็รวบรวมรายชื่อเพื่อนๆ เซ็นให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ ได้ข่าวว่าเขาเอาชื่อผมไปในที่ประชุม ก็มีการคัดค้านว่าถ้าทำอย่างนั้นมันรังแกกันเกินไป ผมเลยออกไปอยู่ที่จีนกับพ่อ เรียนมหาวิทยาลัยที่นั่น ต่อมาเมืองจีนยุ่งเหยิง สมัยแก๊งออฟโฟร์ ผมก็มาอยู่ที่ปารีส มาอังกฤษ"
มาอยู่ปารีสก่อนแล้ว อ.ปรีดีจึงตามมา ตลอดช่วงเวลานั้นกลับเมืองไทยไม่ได้ เพราะสมัยนั้นใครไปเมืองจีนกลับเมืองไทยต้องเข้าคุก จนกระทั่งหลัง 14 ตุลาจึงได้กลับเมืองไทยครั้งแรก แต่พอเกิด 6 ตุลาก็ออกไปอยู่ฮ่องกง เพียงแต่ยุคหลังนี้ยังไปๆ มาๆ "ผมอยู่เมืองนอก 37 ปี"
กลับมาอีกทีก็มาทำงานให้บริษัทผลิตไฟฟ้า (มหาชน) จนเกษียณแล้วก็ยังเป็นที่ปรึกษาโครงการผลิตไฟฟ้าในลาว เดินทางไปลาวเดือนละครั้ง พร้อมเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
"ผมเป็นนักเขียนอิสระ เขียนเรื่องของเพื่อนบ้าน ประวัติโฮจิมินห์ ชีวประวัติท่านสุภานุวงศ์ บางครั้งมหาวิทยาลัยเชิญไปบรรยายบ้าง แต่ส่วนใหญ่การบรรยายหรืองานเขียนผมจะไม่เข้าไปเขียนเกี่ยวกับเมืองไทย จะเป็นลาว เวียดนาม จีน"
เพราะอะไร
"ยังไม่ถึงเวลา ไม่อาจที่จะอยู่ในฐานะที่จะทำอย่างนั้นได้ ผมไม่อยากจะให้นำตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นมากมายเหลือเกิน"
"คลื่นในปัจจุบันเป็นคลื่นที่มีปัญหาอย่างที่ทราบกันว่าความคิดไม่ตรงกัน บางคนก็พยายามที่จะให้ผมไปพูดไปเป็นเครื่องมือบางอย่าง ซึ่งผมไม่พร้อมที่จะทำอย่างนั้น การต่อสู้เดินไปผมไม่ว่า และผมก็เห็นว่าบางส่วนเขาก็ถูกต้อง แต่จะเอาตัวผมไปอย่างนั้น ผมคงทำไม่ได้ เรามองปัญหาต่างกัน ผมมองก็พอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรบางอย่าง ช่วงนี้กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นความยุ่งเหยิงมันก็มีมากเหลือเกิน"
ช่วงหนึ่งเขาก็พยายามดึงอาจารย์ไปร่วม
"ก็เพื่อนฝูง น้องๆ แต่เหตุการณ์ช่วงสงกรานต์ผมดูแล้วไม่ทราบว่าวิธีคิดเขาเป็นอย่างไร"
ใช่ไหมว่าลูกหลานคณะราษฎรจำเป็นต้องปกป้องเจตนารมณ์ 2475 เพราะเกิดกระแสว่าปฏิวัติ 2475 ชิงสุกก่อนห่าม
"อันนี้เราเข้าใจ เราพยายามทำเท่าที่จะทำได้ ก็มองเห็นว่าความยุ่งเหยิงตอนนี้ คนที่อยากรู้ความจริงตามอินเทอร์เน็ตมีมากมาย แต่ก็ยังสับสน เรื่อง 2475 ก็พยายามกล่าวหาอยู่ตลอด ทายาทผู้ก่อการก็มีหลายส่วน บางส่วนอาจจะมองว่าถูกเหยียบย่ำ ย่ำยี แต่คิดอย่างไรหรือไม่ ความคิดเขาก็อาจจะต่าง ทั้งนี้ทั้งนั้นลูกหลานผู้ก่อการมาถึงบัดนี้ก็มีความรักใคร่ ไม่มีปัญหา ทางจอมพล ป.ก็เรียกพี่เรียกน้องกัน เราก็รู้เหตุการณ์ที่ผ่านมา บรรพบุรุษเราร่วมกันฝ่าคมหอกคมดาบมาด้วยกัน ที่เขาพยายามต่อต้านหรือทำลายชื่อเสียงผู้ก่อการ เขามีทั้งกำลังคนกำลังทรัพย์แน่นหนามาก เราไม่มี เขาก็พูดไป ในที่สุดคนก็จะกลับมาคิดเอง แทนที่เราจะออกพร่ำเพรื่อไปกับการโต้เถียง เราก็วางเฉยแทน"
มันเริ่มจากไล่ทักษิณ แล้วอ้างสถาบัน แล้วก็พูดต่อไปว่า 2475 ไม่ควรเกิดขึ้น
"ก็เป็นคลื่นที่เอากลับมาใช้อีก ใครเป็นใครอยู่ข้างหลังก็รู้อยู่ ทุกอย่างมันไม่อยู่กับที่หรอก มันต้องดำเนินต่อไป ผมเชื่ออย่างนั้นนะ ความเปลี่ยนแปลงใหญ่จะต้องมี"
ในช่วงที่ผ่านมาเกียรติภูมิของ อ.ปรีดี ได้รับการฟื้นฟูยกย่องโดยคนที่มีบทบาทสำคัญ ก็รวมทั้ง ส.ศิวรักษ์, พิภพ ธงไชย แต่ตอนนี้เขาพลิกไปอยู่กระแสสีเหลือง แม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่โจมตีคณะราษฎรโดยตรง มองแล้วรู้สึกอย่างไร
"คนที่อยู่ในกระแสนั้นก็มีหลายคน เราไม่มีความเห็น ปล่อยเขาไป อ.สุลักษณ์ท่านก็เป็นปัญญาชนชนิดพิเศษของท่าน คุณพิภพก็เป็นลูกศิษย์สนิทกับ อ.สุลักษณ์ แม้กระทั่งคนที่เราถือว่ามีประโยชน์อย่างเนาวรัตน์ ก็อยู่ในขบวนการเสื้อเหลือง บางทีเมื่อไปแล้วมันสุดสายป่าน มันดึงกลับไม่ได้"
แล้วที่ฝ่ายเสื้อแดงเขาจะเชิดชูวันที่ 24 มิถุนา กลับมาเป็นวันชาติ และจะม็อบวันที่ 27
"อันนี้มันเป็นเรื่องของประชาชน แต่ตัวผมไม่เข้าไปเกี่ยว ขอตัว ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปในนั้น"
มองแล้วเหมือนเขาจะอาศัยเจตนารมณ์ 24 มิถุนา
"มันก็ในทำนองนั้น เขาอยากจะยึดอะไรบางอย่าง แต่การกระทำบางอย่างก็เลยเถิด"
แต่หลักการของอาจารย์ปรีดีที่เขาเอามาพูดเหมือนถูกต้อง
"หลักของ อ.ปรีดีน่ะถูก หลักที่เขาพูด แล้วแต่ว่าเขาจะพูดในช่วงไหน อันนี้สำคัญนะ ต้องแยกแยะ เพราะบางทีพูดเพื่ออะไรบางอย่าง"
เจตนารมณ์ 2475 มาถึงวันนี้ยังคงอยู่ไหม
"การต่อสู้กันระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ ในสิ่งเก่าที่ได้ถูกลดทอนลงไปจาก 2475 ก็ยังไม่หมดสิ้น ไม่ตายไปเสียทีเดียว อันนี้เป็นเรื่องของทางการเมือง เพราะฉะนั้นก็มีการลุกขึ้นมาใหม่ ต่อสู้ใหม่ สิ่งใหม่เองไปถึงในจุดหนึ่ง ก็ไม่สามารถที่จะผลักดันสังคมให้ไปข้างหน้าได้ มันก็จะกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้นอีกระยะหนึ่งทีเดียว จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ถ้าเรามองอย่างนี้เราพอเข้าใจ"
แล้วที่มาโทษว่าการเมืองเละเทะเพราะ 2475 เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป
"จะมองอย่างไรก็ได้ อันนี้เราไม่ติดใจ ที่ว่าชิงสุกก่อนห่ามก็เป็นขบวนการ เราเข้าใจ ทันทีที่ได้โอกาส เหมือนตอนเกิดเหตุการณ์วันที่ 9 พ.ย.(2490) ที่โหมกำลังกันเข้ามาตี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีตัว อ.ปรีดี จนสำเร็จ ด้วยเหตุการณ์ทางเมืองต่างๆ"
อ.ศุขปรีดากล่าวว่า คนรุ่นหลังอาจยังไม่เข้าใจว่าในยุค 2475 ความศรัทธาต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เสื่อมลงอย่างมาก
"ได้มีลักษณะเสื่อมคลายตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ ประกอบกับผลพวงของเศรษฐกิจ มาถึงรัชกาลที่ 7 มีคนถวายฎีกาเรื่องความเดือดร้อนต่างๆ ความรู้สึกอันนี้มาสร้างขึ้นใหม่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่ไปอเมริกาเพื่อต้องการจะยันและต้านคอมมิวนิสต์ ก็ได้กุนซือคนสำคัญ หลวงวิจิตรวาทการ มาชี้แนะให้ปลุกกระแสรักชาติ"
มีคนเปรียบเทียบว่าทักษิณก็โดนเล่นงานเหมือน อ.ปรีดี จริงๆ แล้วเหมือนไหม
"ไม่น่าจะเหมือนกัน เพราะ อ.ปรีดีไม่มีเรื่องผลประโยชน์ ถ้าจะเหมือนกันก็คือการถูกกระทำทางการเมือง แต่ไม่ควรเปรียบเทียบ เหตุการณ์ต่างๆ ไม่เหมือนกัน ในการมองสังคมไปข้างหน้า พ.ต.ท.ทักษิณไม่เข้าใจวิวัฒนาการของสังคมที่มองไปข้างหน้า แต่เป็นคนเก่งในการแก้ปัญหา ในการจับมาเข้าแถวหมวดหมู่ ความชำนาญในการเป็นนักธุรกิจ แต่การมองทางการเมืองมีไม่มาก ในสมัยหนึ่งถึงต้องมีคนเดือนตุลามาให้ความคิดความเห็น บางส่วนก็ดี บางส่วนท่านก็ไม่ฟัง"
คนเปรียบเทียบเพราะทักษิณโดนคล้ายๆ อ.ปรีดีหลายอย่าง
"อันนั้นก็ว่ากันไป ในทางการเมืองอาจจะใช่ ในประเทศใดในยุคใดมันก็มีลักษณะเช่นนี้ ประเทศที่มีความก้าวหน้าเจริญแล้วเขาก็ผ่านมาแล้ว เมืองไทยยังไม่ไปไหนสักที 2475 แล้วยังไม่ไปไหนสักที"
บอกด้วยว่ามีคนพยายามโยงว่าแม่คุณหญิงพจมานนามสกุล ณ ป้อมเพชร เหมือนท่านผู้หญิงพูนศุข
"จริงๆ แล้วก็ญาติห่างๆ ไม่เคยไปมาหาสู่กัน ถ้าโยงกันอย่างนี้ คุณยายภรรยาคุณอภิสิทธิ์ก็ต้องนับว่าเป็นญาติสนิทกว่า เพราะคุณยายภรรยาคุณอภิสิทธิ์กับคุณแม่ผมเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน"
"คุณตาผมถือเป็นวงในของรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานนามสกุล สมัยก่อนใครเป็นญาติกันแล้วไม่มีนามสกุลก็มาขอใช้ แต่ก็ดีเหมือนกัน เห็นว่าคุณพจนีย์สนใจบริเวณตำบลป้อมเพชร ที่อยุธยา ไปซื้อที่บูรณะ"
แต่ถึงเป็นญาติอภิสิทธิ์ก็ไม่นิยม ปชป.แน่เพราะประวัติศาสตร์ 2490
"ตอนนั้นมันเป็นการยุยงเตรียมการของพรรคประชาธิปัตย์ ในกรณีสวรรคต หลังรัฐประหารนายควงเป็นนายกฯ แต่เป็นได้ไม่นานทหารก็เขี่ยออก อันนี้ก็คล้ายกับการขับไล่ทักษิณ ประชาธิปัตย์ก็มีส่วน พรรคประชาธิปัตย์ผมก็มีเพื่อนหลายคน แต่เขานับถือปูชนียบุคคลของเขา ซึ่งมีลักษณะตลบตะแลงเอาบ้านเมืองเป็นเครื่องเล่น ตั้งแต่สมัยหม่อมคึกฤทธิ์เป็นสมาชิกรุ่นแรก หม่อมเสนีย์ นายควง ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเขาอยู่กันได้"
(ล้อมกรอบใช้ภาพกับพระ)
ลูกหลานเข้าใจกัน
อ.ศุขปรีดาบอกว่า วันที่ 24 มิถุนายนทุกปี ลูกหลานคณะผู้ก่อการจะไปทำบุญที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ซึ่งน้อยคนที่จะรู้ว่าเดิมทีวัดนี้ชื่อ "วัดประชาธิปไตย"
"ที่ไปเป็นประจำก็มีลูกหลานทางบ้านผม ทางจอมพล ป. พิบูลสงคราม คนอื่นๆ ก็มีไปหลายคน หลังจากนั้นก็จะถวายสังฆทานที่วัด เพราะถือว่าวัดพระศรีฯ เป็นวัดที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สร้างขึ้น เดิมชื่อวัดประชาธิปไตย"
เรื่องนี้เคยเขียนลงในหนังสืองานศพท่านผู้หญิงพูนศุขแล้ว
"เหตุผลคือ ในเมื่อผู้ก่อการได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ก็มีวัดประชาธิปไตย โดยความต้องการทางพระพุทธศาสนา อยากจะเห็นมหานิกายกับธรรมยุติกนิกายรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ภายหลังก็ไม่สามารถเป็นได้ ท่านเจ้าคุณพหลฯ ก็บวชเป็นพระที่วัดนี้เป็นองค์แรก"
"ในความคิดผมมองว่าเป็นการอโหสิกรรมอย่างหนึ่ง แนวรบ 2475 (กบฏบวรเดช) ก็ได้ยิงกันในบริเวณนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกพลทหาร เกณฑ์มาจากโคราชก็ล้มหายตายจากไป ก็คงจะดำริอันนี้ด้วย หลังจากนั้นมาทางอินเดียขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ ก็ขออัญเชิญมาเมืองไทย โดยแต่งตั้งคณะผู้แทนไปคือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ วัดนี้เลยชื่อวัดพระศรีมหาธาตุฯ เอาต้นศรีมหาโพธิ์มาปลูก ส่วนการก่อสร้างถ้าคุณเข้าไปดูเป็นอุโบสถแบบวัดเบญจมบพิตรฯ มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ดินส่วนหนึ่งมารดาท่านพิชัย รัตตกุล เป็นผู้บริจาค ก่อสร้างโดยกรมรถไฟ หลวงเสรีเริงฤทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อการคนหนึ่งควบคุมการก่อสร้าง มีหลวงวิจิตรวาทการมาร่วมดูแลด้วยในฐานะอธิบดีกรมศิลปากร นี่คือประวัติวัดพระศรีมหาธาตุฯ คุณแม่ท่านได้จากโลกนี้ไป ท่านก็ได้ระบุแล้วท่านไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น สรีระของท่านก็ไปเป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านสั่งไว้ว่าให้มาฌาปนกิจที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ ซึ่งเราก็ทำเมื่อปลายปีที่แล้ว"
บอกว่ากับลูกหลานจอมพล ป.ก็ไม่ได้มีปัญหาต่อกัน
"เรียกพี่เรียกอา คนโตท่านเป็นผู้หญิงเกือบ 90 แล้ว คนเล็กคุณนิตย์ พิบูลสงคราม อ่อนกว่าผม 6 ปี"
"ตอนจอมพล ป.อยู่ในอำนาจก็มีหลายช่วง ช่วงสุดท้าย จอมพล ป.มองเห็นความบริสุทธิ์ของ อ.ปรีดี และเห็นว่านโยบายตามก้นอเมริกามันไม่ไหว ระยะหลังท่านก็ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับ อ.ปรีดี เมื่อกลางปี 2500 ท่านตกลงให้คณะทนายไปพบ อ.ปรีดี เพื่อให้ศาลเปิดคำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต เรื่องใหญ่มากนะ ผมไปรับรองคณะทนายที่เดินทางไปเมืองจีน ทนายกลับมาปลายเดือน ส.ค.2500 พอ 16 ก.ย.2500 สฤษดิ์ทำรัฐประหารด้วยเหตุผลบางอย่าง เหตุผลที่อเมริกาไม่พอใจจอมพล ป.คบกับจีน เหตุผลที่จะให้ศาลมีคำตัดสินใหม่ เลยต้องรีบทำอะไรเสียก่อน"
"หลังจากนั้นท่านผู้หญิงละเอียดได้สร้างพระพุทธชินราชจำลองขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งให้จอมพล ป. ส่วนอีกองค์ให้พ่อผม ตอนนี้อยู่กับผม เป็นการนัดหมายว่าถึงเวลาคงจะได้มาพบกันที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้พบ ในที่สุดอยู่มาวันหนึ่งจอมพล ป.มีจดหมายถึงคุณพ่อ ลงท้ายเป็น ป.ล.เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า please อโหสิ เขียนอย่างนี้พ่อผมก็เข้าใจ เพราะฉะนั้นอาจจะด้วยอันนี้ ทำให้พวกเราถือว่าอโหสิหมดแล้ว"
กับ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี อ.ศุขปรีดาก็บอกว่าไม่ติดใจแม้มีเรื่องเคยฟ้องร้องกัน
"คืออย่างนี้ สมัยหลังๆ ท่านไม่ค่อยมีอะไรทำ ก็ไปนั่งตามโรงแรมใหญ่ๆ พวกรุ่นหลังเรียกท่านว่าเจ้ากรม คนหนึ่งเป็นนักเขียน ให้เล่าเรื่องให้ฟังแล้วจะเขียน เขียนออกมาผิดข้อเท็จจริง ท่านปรีดีเลยฟ้อง เขาจะทำเป็นหนังสือแบบเรียนเลยนะ ศาลสั่งเก็บ แต่ว่าถ้าพูดถึง 2475 คนที่ร่วมสองคนแรกคือ คุณประยูรกับ อ.ปรีดี เดินด้วยกันบนถนนที่ปารีส คุณประยูรสังเกต อ.ปรีดีแล้วถามว่าอาจารย์คิดอะไรอยู่ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด 7 คน"
อ.ศุขปรีดากล่าวว่า บุคคลสำคัญอย่างพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ก็เป็นที่น่าเสียใจว่าไม่ค่อยมีคนศึกษาประวัติและคุณูปการของท่าน
"ตอนนี้เพิ่งมี พล.อ.ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์ รวบรวมประวัติเตรียมจัดพิมพ์เรื่องท่านเจ้าคุณพหลฯ ผมเคยไปงานรำลึกถึงท่านที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ทหารกล่าวสดุดี ทหารเขียน-ไม่มีเกี่ยวกับ 24 มิ.ย.เลย ผมอดไม่ได้ก็ถาม-ไม่กล้าเขียน เขียนเพียงว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บัญชาการทหารบก ว่ากันไปอย่างนั้น"
http://www.thaipost.net/tabloid/210609/6553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น