"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (2) / ทางเสือผ่าน

ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (2) / ทางเสือผ่าน

ณรงค์ ชื่นชม12/6/2552

                                                                           ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (2)

 

                คนที่มีธุรกิจการค้าประเภทเดียวกันจะไม่ค่อยมาพบกัน   แม้จะเป็นเพื่อความสนุกสนานบันเทิงใจหรืองานอดิเรกยามว่าง   แต่เมื่อเขาพบกันแล้วคำสนทนาของคนเหล่านี้มักจะจบลงด้วยการวางแผนเอาเปรียบมหาชนหรือหาวิธีเพิ่มราคาสินค้า ข้อความนี้บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์   อดัม  สมิธ มีไว้ตั้งแต่ประมาณปี 1776

                เขาเชื่อโดยพื้นฐานว่า  นักธุรกิจมีแนวโน้มที่จะรวมหัวกันเอาเปรียบมหาชน  แม้เขาจะกลัวการผูกขาดทางเศรษฐกิจ  แต่ถ้าเป็นการผูกขาดที่จะมีการให้สิทธิพิเศษและการคุ้มครองจากรัฐบาลยิ่งจะทำให้สังคมเลวร้าย  ทั้งเขายังมั่นใจว่า  จะไม่มีการผูกขาดส่วนบุคคลใด-ใดสามารถคงอยู่ได้นานเท่านาน  หากไม่ได้รับการคุ้มครองจากอำนาจรัฐ  เพราะเม็ดเงินที่สร้างกำไรด้วยการผูกขาดของเอกชน เพียว-เพียว   ย่อมจะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขันทันที    นั่นย่อมจะทำลายการผูกขาดนั้นๆ

                วินาทีนี้...อำนาจรัฐกับอำนาจทุนยังคงร้อยรัดอยู่ทุกเส้นหญ้า  มีความซับซ้อนมากขึ้น  ผลประโยชน์มหาศาลมากขึ้น  แม้อีกด้านหนึ่งจะมีการประกอบสร้างทั้งวาทกรรมที่งดงาม  มีโวหารที่สุดสวยหรู  และมีความพยายามสร้างหลักการให้ดูดีแบบ เสรีนิยม   อาจจะเป็นเสรีนิยมทางการค้า   เป็นเสรีนิยมทางการเงิน   เป็นเสรีนิยมทางการลงทุน   ทว่า เนื้อแท้แล้วการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจทุนก็ยังดำเนินแนบแน่น-แนบเนียนมากขึ้น 

(นับจากยุคพาณิชย์นิยมที่กษัตริย์กับพ่อค้านายทุนร่วมมือกันรุกรานดูดดึงความมั่นคั่ง จากประเทศอาณานิคมต่างๆทั่วโลก  เพื่อค้ำจุนอำนาจของกษัตริย์ที่ปูด้วยความรุ่มรวยและอิทธิพลอันไพศาลยิ่งขึ้น-ยิ่งขึ้น  นายทุนกับกษัตริย์แบ่งปัน-จัดสรรผลประโยชน์กันอย่างลงตัว  แต่ประชาชนในประเทศเหล่านั้นแทบจะไม่ได้อะไรมากนัก  ยุคนี้กินเวลานานถึง 200-300 ปี   แม้ในปัจจุบันซากความคิดนี้ยังคงตรึงอยู่ในจิตและวิญญาณของรัฐกับนายทุนข้ามชาติ)

หรือมองมาที่เมืองไทยจะเห็นได้ว่า  พรรคการเมืองที่เป็นสถาบันสำคัญทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็จะต้องมีนายทุนเข้ามาเป็นหลักในพรรค  หรือมีนายทุนใหญ่ให้เงินสนับสนุน  เมื่อมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีนายทุนทั้งในและนอกพรรคก็จะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐมนตรี หรือตำแหน่งสำคัญอื่นๆ  หรือเมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จ่าย 30 ล้านบาทเป็นค่าเก้าอี้รัฐมนตรี   สมาชิกพรรคที่ทำงานการเมืองมาแทบล้มแทบตาย แห้ว (คิดถึงคุณองอาจ   คล้ามไพบูลย์)

หรือเมื่อมีการรัฐประหาร  ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ก็ยังไม่พ้นจะต้องมีนายทุนบริจาคเงินทั้งโดยเต็มใจและฝืนใจ 

หรือขณะจัดตั้งม็อบหรือผู้ชุมนุมทางการเมือง  ก็จะต้องมีนายทุนช่วยกันระดมค่าใช้จ่าย  หรือกว่าจะ จุดติด   ก็ใช้เงินไปมากมายทั้งสีเหลือง-สีแดง   ทั้งค่าใช้จ่ายระหว่างการดำเนินการประท้วงก็มากโข   จึงมักจะได้ข่าวคราวว่า   ใคร-กลุ่มใดให้การสนับสนุน

หรือแม้กระทั่งจะมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ยังจะมีการสมรู้ร่วมคิดกันทางอำนาจ ระหว่างทหารสีเขียวกับนักการเมือง  ถึงเกิดผลิตผลเป็นรัฐบาลปัจจุบันที่มีคุณษอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เป็นผู้นำรัฐนาวา  ซึ่งบางท่านอาจจะมองว่า  เป็นการแทรกแซงระบบการเมืองในรัฐสภาจากทหาร

เหล่านี้  ผมอาจจะมองเป็น ภาพกว้าง ที่จะยังคงใช้กรอบของทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (Conspiracy Theory) ฮั๊วกันระหว่างนายทุนกับนายทุนเพื่อการผูกขาด   ฮั๊วกันระหว่างนายทุนกับกษัตริย์   ฮั๊วกันระหว่างนักการเมืองกับนักการเมืองเพื่ออำนาจและผลประโยชน์   หรือการฮั๊วกันระหว่างทหารกับนักการเมือง   อะไรเหล่านี้เป็นต้น

เฉพาะเจาะจงลงมา  ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดอาจจะถูกบันทึกไว้ครั้งแรกเมื่อปี 1909 โดยเป็นคำกลางๆไม่ได้ใส่ค่านิยมหรือตีค่าถูกหรือผิด ดีหรือเลว   เป็นการตกลงลับๆในการกระทำความผิดกฏหมาย   หรือกระทำความผิดใด-ใดร่วมกัน   หรือเป็นการร่วมกันกระทำอะไรให้ก่อผลสำเร็จและถูกต้องงดงาม    พอมีการต่อสู้-ช่วงชิงอันนำสู่ความเปลี่ยนแปลงที่วุ่นวายและรุนแรง ประมาณปี 1960 ทั้งด้านความเชื่อ   ลัทธิอุดมการณ์   คำนี้จึงกลายเป็นคำที่ให้ความรู้สึกทางวาทกรรมในแง่มุมเสื่อมเสีย   เสียหาย   หรือถึงขั้นระยำ

อย่างไรก็ตาม  ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดยังถูกใช้เป็นตัวชี้แสดงถึง  การบรรยายโวหาร-สุนทรพจน์  ประหนึ่งนักอุดมคติหรือนักการเมืองที่เปี่ยมในหลักการหรือคุณธรรม  เพื่อหนุนเนื่อง-ยึดให้การคงอยู่ของการสมรู้ร่วมคิดที่ ยิ่งใหญ่  แต่เนื้อแท้หรือแก่นแกนของมันก็คือ การเสแสร้งหรือเข้าขั้นลวงโลกเลยทีเดียว

อาทิ  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแลและบริหารสื่อภาครัฐ  เสแสร้งผุดโวหารหรูในที่ประชุมรัฐสภาหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน  แสดงจุดยืนในเสรีภาพของสื่อและต้องการให้มีการปรับปรุงและพัฒนายกระดับคุณภาพ จริยธรรม  อะไรทำนองนี้   แต่ของจริงแล้ว-หรือว่าด้วยการปฏิบัติ หลังฉากที่ไฟส่องไม่ถึงก็มีการร่วมไม้ร่วมมือสมคบคิดในระหว่างนักการเมือง  ข้าราชการหรือบริษัทพรรคพวก  เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองในการใช้สื่อรัฐให้เป็นประโยชน์ในการจูงมติมหาชน เป็นการสมคบคิดระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจสื่อ เพื่อเสถียรภาพทางการเมือง  ถือเป็นการสร้างภาพให้ประชาชนเข้าใจหรือคิดว่า เป็นนักประชาธิปไตยแต่เบื้องหลัง สุมหัวและแทรกแซงยิ่งกว่ายุคสมัยใด-ใด

ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดถูกบรรจุเข้าในพจนานุกรมอ๊อกฟอร์ด และถูกใช้บ่อยขึ้น-บ่อยขึ้นในแวดวงวิชาการและในวัฒนธรรมอันมีชื่อเสียงโด่งดัง  อาจจะนำมาใช้เพื่อการจำแนกแยกแยะความถูกต้องหรือความจริงกับความเท็จทางการทหาร  ความลับทางการธนาคาร  หรือการกระทำทางการเมืองที่มุ่ง ขโมยอำนาจหรือเงินทอง จากประชาชน

ในบางเวบไซด์มีการให้คำนิยมไว้อย่างน่าสนใจว่า  ทฤษฏีสมรู้ร่วมคิด  จะเป็นเรื่องเล่า  หรือบทความที่สร้างขึ้นมาจากความคิดของคนหรือกลุ่มคน  โดยนำเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน  ซึ่งอาจจะมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นอื่นๆ  เพื่อที่จะให้ประโยชน์หรือโทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งใด  หรือเป็นเพียงการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ลักษณะของทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดอาจมีเหตุผลสนับสนุนความเชื่อส่วนบุคคล  ความเชื่อเกี่ยวกับศาสนา  การเมืองหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป

หรือแม้กระทั่งเรื่องราวที่หาคำอธิบายไม่ได้  มีอยู่จริงหรือไม่  และถ้ามีจริง  ใครหรือผู้มีอำนาจใด  จะทรงอิทธิพล-อำนาจจนสามารถเสกเรื่องราวขึ้นมาได้

กรณีคาร์บอมบ์ในยุครัฐบาลทักษิณ  ชินวัตร  กรณีทักษิณใช้พาสปอร์ตชื่อปลอม  กรณีตำรวจเสื้อน้ำเงินก่อกวนเสื้อแดง  กรณีรถแก๊ส  กรณีมาร์คอยู่ในรถหรือไม่  เหล่านี้ย่อมจะมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดไม่มากก็น้อย

และที่สำคัญยิ่งก็คือ  สื่อมวลชน  พรรคการเมืองและขบวนการประชาสังคม  ถ้าเป็นเนื้อเดียวกันและ/หรือสมคบคิดกัน  มันเป็นอันตรายต่อบ้านต่อเมืองมากกว่าที่จะรังสรรค์เพื่อความสุขและความมั่งคั่งของพลเมือง  ซึ่งหากจะให้ยกตัวอย่างคนเสื้อเหลืองที่เป็นขบวนการประชาสังคม  มีสื่อสารมวลชนอยู่ในมือ  และตั้งพรรคการเมืองเข้ามาทำงานในรัฐสภา  หรือคนเสื้อแดงก็มีทั้งขบวนการคนเสื้อแดงข้างถนน  มีพรรคเพื่อไทยในรัฐสภาและมีสื่อมวลชนขึ้นมาทั้งโทรทัศน์และสื่อกระดาษ  ย่อมจะทรงพลังอำนาจและอิทธิพลยิ่ง  และพรรคประชาธิปัตย์กำลังสร้างในโมเดลเดียวกัน  แต่อาจจะ  free-rider   ด้วยการนำสถานีโทรทัศน์ช่อง 11  มาใช้ประโยชน์ให้กับพรรคและรัฐบาล?  ทั้งๆที่เป็น สื่อรัฐ  หาใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง  ของพรรคการเมือง หรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง  และจะต้องเฝ้าดูว่า  พรรคนี้จะสร้างพลังมวลชนของพรรคหรือไม่-น่าติดตาม

กล่าวเฉพาะเจาะจงช่อง 11 แล้วจะต้องจับตาอย่ากระพริบ   เพื่อไม่ให้มีการนำทรัพย์สมบัติของชาติไปเป็นของใคร    ด้วยฐานคติทั้งทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด   ทฤษฎีการละคร   สื่อมวลชนภาคเอกชนเองต้องระวัง อย่าตกเป็นเครื่องมือทางอำนาจหรือตกอยู่ในสายใยสมคบคิดเลยครับ.
 

               

    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew