"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552

"ตู้เย็น" ยี่ห้อ "สภาพัฒน์"

 ตู้เย็น / ซอยสวัสดี

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ5/6/2552

 

ตู้เย็น

 

ในที่สุดนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ตัดสินใจใช้บริการ ไม่เพียงเฉพาะ “ยาสามัญประจำบ้าน” ที่ทุกรัฐบาลต้องมีไว้อย่างน้อยหนึ่ง “ยี่ห้อ” ซึ่งสำหรับรัฐบาลมาร์ค 1 (และอีกหลายๆมาร์ค) คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เลขาธิการพรรค และ “ผู้ผสมพันธุ์ทำคลอด” รัฐบาลชุดปัจจุบัน

                หากแต่ นายกฯมาร์ค ยังได้หันไปใช้ “ตู้เย็น” ยี่ห้อเก่าขนานแท้และดั้งเดิม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ตัวย่อ “สศช.” หรือเรียกขานกันติดปากว่า “สภาพัฒน์”  ที่จัดตั้งแต่ยุคนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์

                ซึ่งแต่เดิมตั้งมาเพื่อวางแผนพัฒนาประเทศชาติ และเป็นหน่วยงานที่ต้องทั้งศึกษาแนวคิด เสนอนโยบาย และประสานงานหน่วยงานเพื่อตรวจสอบความเห็นข้อเท็จจริง ตลอดจนสร้างแนวร่วมเพื่อผลักดันให้ความคิดความฝันนั้นเป็นจริง

                ด้วยความที่ต้องรวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่มีความหลากหลายในสาขาความรู้ ทั้งตัวคณะกรรมการเองก็ประกอบด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ จึงต้องทำหน้าที่เสมือน “ที่ปรึกษา” ให้กับรัฐบาลทุกชุด โดยมีหัวหน้าสำนักงานที่มีตำแหน่งทางการเป็น “เลขาธิการ” คอยขับเคลื่อนและเชื่อมต่อระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำ

                อีกบทบาทที่สำคัญคือ “สภาพัฒน์” จะเป็นผู้ “กลั่นกรอง” โครงการพัฒนาต่างๆที่หน่วยงานเสนอเพื่อบรรจุไว้ใน “แผน” และเพราะทักษะสำคัญนี้ “สภาพัฒน์” จึงเป็นทั้ง “ผู้ให้” “ผู้รับประกัน” และ “ผู้เก็บเรื่อง” อย่างหลังนี้จะเกิดเมื่อโครงการแผนงานไม่เข้าหลักเกณฑ์ในแง่เทคนิค หรือมีปัญหาเป็นความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน หรือนักการเมือง

                โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องบริหารการเมืองรัฐบาลผสม ไม่ผิดกับยุคปัจจุบัน ดังนั้น “สภาพัฒน์” ที่มี ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นเลขาธิการฯ จึงต้องรับบทหนักในการพิจารณาโครงการที่รัฐมนตรีแต่ละคนเสนอมาเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และเมื่อโครงการนั้นๆ มีผลประโยชน์ไม่ใช่เพื่อส่วนรวม เรื่องก็จะหายเงียบไป ศึกษา “ไม่เสร็จ” บ้าง “รอข้อมูล” หน่วยงาน บ้าง คละเคล้ากันไป

                บางครั้งเป็นเพียง “ที่หลบลมพายุ” เมื่อเวลาผ่านไป ตกลงกันได้ โครงการนั้นก็จะถูกนำขึ้นมาพิจารณาอีก แต่หากนายกฯ “ไม่ปลื้ม” โครงการจะถูก “แช่แข็ง” ใน “ตู้เย็น” ยี่ห้อ “สภาพัฒน์” จนในหลายยุคกลายเป็นที่ “หมั่นไส้” ของนักการเมืองถึงขั้น “ทุบโต๊ะ” ก็มีให้เห็น

                จึงไม่แปลกใจที่ นายกฯอภิสิทธิ์ ซึ่งเคย “ฝึกงาน” อยู่ที่สำนักงานนี้ระยะหนึ่ง จะเข้าใจกลไกดังกล่าว และหยิบเลือกขึ้นมาใช้เป็นทางออกจากความร้อนแรงของกระแสต่อต้านโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ที่ทีมงานบุรีรัมย์ “เพื่อนเนวิน” ต้องการจัดให้ชาว กทม.

                ซึ่งก็ไม่น่าผิดหวัง เพราะเลขาธิการฯคนปัจจุบัน ดร.อำพน กิตติอำพน ถึงจะข้ามห้วยมาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ทักษะการประสานงานไม่เป็นสองรองใคร การเมืองพูดได้กับทุกฝ่าย และหลักการทำงานแม่นยำ จึงน่าจะรับลูก ครม. ได้ ไม่มีปัญหา

                ทั้ง นายกฯอภิสิทธิ์ ยัง “ล็อก” ไว้อีกชั้นหนึ่ง ด้วยการย้ำว่าให้ “คณะกรรมการ” พิจารณา ไม่ใช่เฉพาะส่วนของ “สำนักงาน” ถึงแม้ว่าในข้อเท็จจริงแล้ว “คณะกรรมการ” ต้องฟังข้อมูล “สำนักงาน” เป็นพื้นฐานสำคัญ เรื่องนี้เป็นการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้ตัวเลขาธิการฯไปในตัวด้วย

                การบอกกล่าวง่ายๆว่าให้ไปพิจารณาระหว่าง “ซื้อ” หรือ “เช่า” นั้น มีความสลับซับซ้อนมากกว่าตัวเลขเปรียบเทียบบนแผ่นกระดาษ เพราะโครงสร้างผลประโยชน์ผิดกัน ต้องมีการจัดขบวนใหม่พอสมควร

                การกำหนดระยะเวลา 1 เดือน จึงถือว่า “ซื้อเวลา” แน่นอน ไม่ต้องปฏิเสธเป็นอย่างอื่น เพราะในหนึ่งเดือน พรก.กู้เงิน 400,000 ล้านแรกน่าจะผ่านสภาฯ แล้ว รวมทั้ง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 และ พรบ.กู้เงินอีก 400,000 ล้านบาท ผ่านวาระ 1 เป็นที่เรียบร้อย

                กระบวนการต่อรองเพื่อ “แบ่งเค้ก” งบประมาณ ก็จะไม่มีเพียง “รถเมล์” รายการเดียว เปิดกว้างแล้วแต่ว่าใครจะไขว่คว้าอะไรไว้ได้!!

http://www.siamrath.co.th/uifont/Articledetail.aspx?nid=3466&acid=3466

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew