"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รัฐบาลมีหน้าที่ต้องจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน

รัฐบาลมีหน้าที่ต้องจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ที่ปรึกษาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ฯและโรงพยาบาลทั่วไป

 

ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 " มาตรา 51  บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

    บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

    บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์" (1)

 

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 51 นี้ได้กำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่ต้องจัดบริการสาธารณสุขและป้องกันโรคติดต่ออันตรายให้แก่ประชาชนอย่างเหมาะสม เสมอภาคและได้มาตรฐาน โดยกำหนดให้ผู้ยากไร้ได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

 

  ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ ได้กำหนดคำว่า " สิทธิ  เสมอกัน  เหมาะสม ได้มาตรฐาน ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ ผู้ยากไร้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย "

 "ขจัดโรคติดต่ออันตรายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และทันต่อเหตุการณ์"

 

  ซึ่งรัฐบาลได้ทำตามสิทธิของประชาชนที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 นี้แค่ไหน?

  คำตอบในเรื่องสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการแบบหลายมาตรฐานดังนี้คือ

 รัฐบาลได้ให้สิทธิแก่ประชาชน 47 ล้านคน ทั้งเป็นผู้ยากไร้ และไม่ใช่ผู้ยากไร้ ให้ได้รับ "สิทธิ"ในการรับการรักษาพยาบาลและบริการทางสาธารณสุข โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เรียกว่าประชาชน "กลุ่มบัตรทอง" (2)

  แต่มีประชาชนบางกลุ่ม ไม่ได้รับสิทธิอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกับประชาชน 47 ล้านคนนี้ ได้แก่กลุ่มประชาชนประมาณ 9 ล้านคนที่เป็นลูกจ้างและต้องจ่ายเงินเดือนของตนเองทุกเดือนเข้าสมทบกับกองทุนประกันสังคม จึงจะมี "สิทธิ"ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น เรียกว่า "กลุ่มผู้ประกันตน" (3) ซึ่งแม้จะจ่ายเงินสมทบทุกเดือนแล้วแต่ยังไม่สามารถรับบริการสาธารณสุขอื่นๆเช่นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การตรวจคัดกรองอื่นๆ และการป้องกันโรค เหมือนกับประชาชนกลุ่มบัตรทอง

 ยังมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ "กลุ่มข้าราชการและครอบครัว" ที่ยอมทำงานในระบบราชการที่ได้รับเงินเดือนน้อย (เมื่อเปรียบเทียบผู้มีคุณวุฒิเดียวกันในภาคเอกชน) เพื่อจะได้รับสวัสดิการในการรักษาพยาบาลเมื่อตนเองและครอบครัวเจ็บป่วย

  ฉะนั้น  ประชาชนทุกคนจึงยังไม่ได้รับการตอบสนองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการมีสิทธิ เสมอภาคและ เท่ากัน ในการรับการรักษาพยาบาลและการรับบริการสาธารณสุข

 

  ในเรื่องการบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพนั้น รัฐบาลสามารถทำได้หรือเปล่า?

 เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ ก็จะต้องมาวิเคราะห์ว่า โรงพยาบาลหรือหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ มีอยู่ทั่วประเทศนั้น ประชาชนสามารถมารับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงทุกคนหรือไม่? และโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขนั้นได้ให้การบริการแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่?

   สถานบริการสาธารณสุขที่รัฐบาลจัดให้มีไว้เพื่อประชาชนนั้น เริ่มจากสถานบริการระดับต้นในหมู่บ้าน เรียกว่าศูนย์สาธารณสุขชุมชน ในระดับตำบลก็จะมีสถานีอนามัย ในระดับอำเภอจะมีโรงพยาบาลชุมชน และในระดับจังหวัดก็จะมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดขนาดเล็กเรียกว่าโรงพยาบาลทั่วไป (General Hospital) และโรงพยาบาลประจำจังหวัดขนาดใหญ่เรียกว่าโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ (Hospital and Medical Center)

  ขีดความสามารถ(หรือศักยภาพ) และประสิทธิภาพของสถานบริการสาธารณสุขแต่ละระดับดังกล่าวมาแล้ว ย่อมขึ้นอยู่กับ คุณภาพและศักยภาพของบุคลากรที่ประจำทำงานในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอยู่กับเครื่องมือ เวชภัณฑ์ครุภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ และที่สำคัญที่สุดก็คือจำนวนบุคลากรที่เหมาะสมกับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวันด้วย

 

  สถานบริการระดับต้นคือศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนนั้น มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือที่เรียกว่าหมออนามัยอยู่ประจำ และมีอาสาสมัครสาธารณสุข ช่วยเหลือให้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น แต่ถ้าการเจ็บป่วยรุนแรง ประชาชนก็ต้องเดินทางไปยังสถานีอนามัยประจำตำบลหรือไปยังโรงพยาบาลชุมชน เพื่อจะได้รับการรักษาพยาบาลต่อไป

  สำหรับในสถานีอนามัยนั้น มีพยาบาลวิชาชีพอยู่ประจำ ส่วนในโรงพยาบาลชุมชนนั้นมีแพทย์อยู่ประจำ ฉะนั้นประชาชนที่เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าผู้ป่วยมีอาการหนัก สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลชุมชน ก็จะต้องส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ที่อยู่ใกล้ที่สุดต่อไป

 

 การส่งตัวผู้ป่วยจากสถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลนั้น จำเป็นจะต้องมีรถพยาบาล (ambulance) ที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการช่วยชีวิตผู้ป่วยในระหว่างเดินทาง รวมทั้งต้องมีแพทย์หรือพยาบาลที่มีความชำนาญในการช่วยกู้ชีพในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทรุดหนักในขณะเดินทางในรถพยาบาลอยู่ด้วย เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ป่วย แต่ทั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน และสถานีอนามัย ส่วนมากนั้น ไม่มีรถพยาบาลไว้ส่งต่อผู้ป่วย  ประชาชนในหมู่บ้านและตำบลต่างก็ต้องหาเช่ารถเพื่อจะนำผู้ป่วยไปรักษายังรงพยาบาลประจำอำเภอต่อไป

        ส่วนโรงพยาบาลชุมชน (ประจำอำเภอ)ต่างๆ อาจจะมีรถพยาบาลไว้ส่งต่อผู้ป่วย แต่กระทรวงสาธารณสุขก็มีระเบียบห้ามส่งผู้ป่วยไปนอกจังหวัดที่โรงพยาบาลชุมชนตั้งอยู่ ทั้งๆที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งนั้นอาจจะอยู่ใกล้โรงพยาบาลจังหวัดอื่นมากกว่าโรงพยาบาลจังหวัดเดียวกัน  ซึ่งทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางนานขึ้น อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดหนักและอาจเสียโอกาสในการที่จะรอดชีวิตจากการที่จะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วทันการณ์ และระบบการขนส่งสาธารณะเช่นรถประจำทางในตำบลและอำเภอก็อาจไม่มีบริการตลอดเวลา ประชาชนจึงต้องรับภาระในการจ่ายค่าเหมารถพาผู้ป่วยไปส่งในอำเภอ ทำให้ประชาชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นในส่วนนี้

  ฉะนั้นประชาชนในหมู่บ้านและตำบล ก็ยังไม่ได้รับสิทธิเสมอกันกับประชาชนในเมือง(อำเภอหรือจังหวัด) ในการ "เข้าถึง" บริการทางการแพทย์ ในกรณีป่วยหนักที่ต้องการรับการรักษาอาการที่ยุ่งยากหรือซับซ้อน

     กระทรวงสาธารณสุขจึงควรจะต้องปรับปรุงระบบการส่งผู้ป่วยหนักต่อไปยังโรงพยาบาลระดับสูง ให้เหมาะสมและมีคุณภาพมาตรฐานต่อไป เพื่อให้ประชาชนในชนบทได้รับสิทธิเสมอกันกับประชาชนในเขตเมือง

 

  ในเรื่องประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลของสถานบริการสาธารณสุขและประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลต่างๆนั้น เราจะสามารถวัดได้จากอะไร?

  ในการตอบคำถามนี้  ประชาชนก็จะคำนึงถึงความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน  ปลอดภัย  หายป่วย และไม่ตายโดยไม่สมควรตาย

ส่วนแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ก็อาจจะคำนึงถึง จำนวนบุคลากรที่เหมาะสม ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยในจำนวนที่ไม่มากเกินไป จนต้องรีบเร่งทำงานให้ทันเวลาเพื่อไม่ให้ประชาชนผิดหวังที่มาโรงพยาบาลแล้วไม่ได้รับการตรวจรักษา การรีบเร่งทำงานของแพทย์ทำให้เสี่ยงต่อความผิดพลาดและเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง จากข้อมูลการสำรวจของพญ.ฉันทนา ผดุงทศและคณะ(4)

พบว่า แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐบาลทุกระดับ(โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ฯ) มีเวลาตรวจผู้ป่วยคนละ 2-4 นาทีเท่านั้น

 

ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ก็คงจะอยากให้มีจำนวนเตียงที่จะรองรับผู้ป่วยมีเพียงพอ การส่งผู้ป่วยต่อไปยังโรงพยาบาลระดับสูงได้รับความสะดวกรวดเร็ว มีรถพยาบาลฉุกเฉิน (ambulance) ที่มีมาตรฐาน เพื่อจะส่งผู้ป่วยไปรักษาในโรงพยาบาลระดับสูงกว่าได้อย่างปลอดภัยโดยผู้ป่วยไม่ตายกลางทาง

 

   ประชาชนที่ไปรับการรักษาพยาบาล หรือตรวจรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาลของรัฐบาล(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข) ก็จะทราบดีว่าเมื่อมีความจำเป็นต้อง ไปโรงพยาบาลครั้งหนึ่งต้องเสียเวลารอคอยพบแพทย์เป็นเวลาอย่างน้อย 3-4  ชั่วโมง และยังต้องรอรับยาอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง รวมทั้งเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลและเวลารอคอยในการยื่นบัตรตรวจโรคอีกอย่างน้อยครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ถ้าต้องไปเจาะเลือด เอ็กซเรย์อีก ก็อาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยแห่งละ 1-2 ชั่วโมง ฉะนั้นถ้าประชาชนเจ็บป่วยต้องไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐบาล ก็ต้องเสียเวลาอย่างน้อย 1 วันเต็มๆ ซึ่งถ้านำไปเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลเอกชน ก็คงจะใช้เวลาแตกต่างกันอย่างมากมายมหาศาล

ทั้งนี้สาเหตุของการที่ประชาชนต้องใช้เวลานานมากในการไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐบาล ก็เนื่องจากจำนวนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีน้อยกว่าจำนวนประชาชนที่ไปรับบริการ ทำให้แพทย์แต่ละคนซึ่งเป็นบุคลากรหลักในการรับผิดชอบตรวจรักษาผู้ป่วยต้องรีบเร่งตรวจผู้ป่วยให้ได้หมดทุกคน ทำให้แพทย์มีเวลาตรวจร่างกายผู้ป่วยและสั่งการรักษาให้ผู้ป่วยเพียงคนละไม่ถึง 5 นาที(4) ทำให้เสี่ยงต่อความผิดพลาดในการวินิจฉัยโรคและการสั่งการรักษา ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการเกิดผลร้ายหรืออันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ

  ส่วนแพทย์เองก็มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องกล่าวหาทั้งทางคดีแพ่งและคดีอาญา  เสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม เพราะแพทย์ต้องรีบทำงานตรวจร่างกายและรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ป่วยที่เสียเวลารอคอยนั้น ได้รับการตรวจรักษาทุกคน ( เนื่องจากภาระงานในการตรวจรักษาประชาชนมากเกินไป )

       สาเหตุที่แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐบาลมีน้อย  ก็เนื่องจากมีแพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้นๆทุกปี (5) ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลโดยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไม่สร้างแรงจูงใจให้บุคลากรทางการแพทย์อยากจะทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ(6)  ถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขได้บังคับให้บัณฑิตแพทย์ต้องทำงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลรัฐบาล 3 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการลาออกของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำให้แพทย์ที่ยังทำงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐบาลมีจำนวนน้อย ไม่สมดุลกับจำนวนผู้ป่วย จึงต้องรีบเร่งทำงาน อันจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อความผิดพลาด ประชาชนเสี่ยงอันตราย และแพทย์เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง

ซึ่งในปัจจุบันนี้ ประชาชนฟ้องร้องกล่าวหาแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆมากขึ้น(7) และต้องการเรียกร้อง "ค่าเสียหายทางสุขภาพ" อันเกิดขึ้นหลังจากการไปตรวจร่างกายและไปรักษาสุขภาพจากโรงพยาบาลของรัฐบาล ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากแพทย์ต้องรีบเร่งตรวจร่างกายและทำการรักษาผู้ป่วยอย่างรีบเร่ง เพื่อที่จะให้ประชาชนได้รับการตรวจรักษาทุกคนที่มารอที่โรงพยาบาล

  แต่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขไม่พยายามป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องแพทย์จากรากเหง้าของสาเหตุแห่ง(การเกิด)ปัญหา (Root causes) คือบริหารจัดการให้มีบุคลากรทางการแพทย์อย่างเหมาะสม และลดจำนวนการเจ็บป่วยของประชาชนโดยการให้ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการรับผิดชอบดูแลรักษาตนเองในเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วยได้เอง เพื่อจะลดอัตราการเจ็บป่วยและการไปพึ่งพาอาศัยบริการทางการแพทย์ทุกครั้งที่เจ็บป่วย

 กระทรวงสาธารณสุขพยายามที่จะแก้ปัญหาการฟ้องร้องและอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน(จากการไปรับการตรวจร่างกายและรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐ) โดยการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุคือการพยายามที่จะร่างพ.ร.บ.ชดเชยผู้เสียหายทางการแพทย์พ.ศ. .... เพื่อจ่ายเงินทดแทนความเสียหายทางสุขภาพ หลังจากการไปรับการตรวจรักษาจากโรงพยาบาลแล้ว แต่ไม่พยายามหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดทางการแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับผลเสียหายจากการไปรับบริการทางการแพทย์

 ฉะนั้นในการตอบคำถามว่า รัฐบาลได้จัดให้มีบริการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็คงจะตอบได้ว่า ยังไม่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

 สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขควรรีบเร่งทำเพื่อป้องกันอันตรายและผลเสียหายต่อสุขภาพประชาชนคือ การ "พัฒนาโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพมาตรฐาน" โดยการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วย จัดเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมทั้งรถพยาบาล ให้มีมาตรฐาน และเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ

 

เมื่อโรงพยาบาลของรัฐบาลมีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานที่ดี รวมทั้งระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ดีแล้ว ประชาชนที่ไปโรงพยาบาลก็จะได้รับความปลอดภัยมากขึ้น คงจะทำให้ "ความเสียหายจากการไปโรงพยาบาล" ลดลง  กองทุนเพื่อชดเชยผู้เสียหายก็อาจจะไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยเลยก็เป็นได้

 

 

 

     แต่ในขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขก็ควรจะให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อ  "พัฒนาประชาชนให้มีความสามารถและมีความรับผิดชอบในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครอบครัว" เพื่อที่จะลดจำนวนครั้งของการเจ็บป่วยของประชาชนและลดการใช้บริการของโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข

 

ซึ่งมาตรการทั้งสองอย่างนี้ จะทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพมากขึ้นเมื่อไปใช้บริการตรวจรักษาสุขภาพจากโรงพยาบาลรัฐบาล ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ที่อยากจะทำงานบริการประชาชนอย่างดีที่สุดตามมาตรฐานวิชาชีพ แต่คงจะทำได้ยากถ้าจำนวนผู้ป่วยไปใช้บริการมากมายจนล้นโรงพยาบาล(8)ทุกๆวันเช่นนี้

 

  การพัฒนาโรงพยาบาลและพัฒนาประชาชนดังกล่าวแล้ว ถือเป็นหน้าที่อันสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้กำกับดูแลทั้งกระทรวงสาธารณสุขและดูแลกำกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งควรจะต้องรีบดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับสิทธิเสมอภาคในการรับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

 

เอกสารอ้างอิง :

 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

2. พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545

3. พ.ร.บ.. ประกันสังคม พ.ศ. 2533

4. ฉันทนา ผดุงทศและคณะ ชั่วโมงการทำงานของแพทยในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข วารสารวิชาการสาธารณสุข 2550 16(4) : 493-502

5. สถิติการลาออกของแพทย์   ข้อมูลจากกลุ่มบริหารงานบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข   

6. ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลาออกของแพทย์ เอกสารสรุปข้อเสนอแนะของคณธ/วิทยาลัยแพทยศาสตร์เกี่ยวกับมาตรการให้แพทย์ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค/ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น จากสำนักงานกพ.

7. สถิติการฟ้องร้องแพทย์ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา

8. เชิดชู อริยศรีวัฒนา ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล วารสารวงการแพทย์ 2551, 16:28-29

 

 

 

 

 

 

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew