"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เปิดผลสอบคณะกรรมการเฉพาะกิจกบข.กับพฤติกรรมซื้อหุ้นดักหน้าดักหลังและปมขาดทุน 1.6 หมื่นล้าน !!

วันที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 15:24:53 น.  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เปิดผลสอบคณะกรรมการเฉพาะกิจกบข.กับพฤติกรรมซื้อหุ้นดักหน้าดักหลังและปมขาดทุน 1.6 หมื่นล้าน !!
    

สมพล เกียรติไพบูลย์
   นายวิสิฐ  ตันติสุนทร
  
เปิดผลสอบรายงานคณะกรรมการเฉพาะกิจกบข. พบพฤติกรรมเลขาฯชัดซื้อหุ้นดักหน้าดักหลัง ขณะที่อีก 6 รายรอดไม่พบจงใจทำผิด เจ้าตัว"วิสิฐ ตันติสุนทร"แจงไม่ได้มีเจตนา ชี้ฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.ตรวจสอบล่าช้า ส่วนผลขาดทุน 1.6 หมื่นล้านเป็นไปตามวิกฤตศก.ของโลก ส่วนการดูแลผลประโยชน์สมาชิกรอบคอบแล้ว

 จากรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของผู้บริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่ทำให้ผลประกอบการของ กบข.ขาดทุน 16,832 ล้านบาทในปี 2551 รวมทั้งประเด็นอื่นๆ...
 คณะกรรมการเฉพาะกิจฯซึ่งมีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน ได้ตั้งประเด็นการตรวจสอบ ดังนี้
 1.การลงทุนและการดำเนินงานอื่นของ กบข.ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ คำสั่ง ประกาศและมติของคณะกรรมการ กบข.ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อาทิ การบริหารความเสี่ยงของ กบข., การกำกับการลงทุน, การตรวจสอบการลงทุนของ กบข., การกำกับดูแลและการตรวจสอบการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของพนักงาน กบข.เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นเพื่อบัญชีพนักงาน กบข. และการป้องกันข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์โดยฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.
 2.การบริหารเงินลงทุนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทางการดูแลเงินออมเพื่อการเกษียณอายุของสมาชิกแล้วหรือไม่ อาทิให้ตรวจสอบผลประกอบการของ กบข.ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2540, ผลขาดทุนปี 2551 มาจากการลงทุนในอะไรบ้าง, โครงสร้างและการตัดสินลงทุนของ กบข.
 3.แนวทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของ กบข. และการชี้แจงสมาชิกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลเพียงใด
 ทั้งนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" สรุปเฉพาะประเด็นที่สำคัญๆ คือ ในประเด็นจรรยาบรรณของพนักงานในการซื้อขายหุ้นส่วนตัวนั้น ในรายงานได้สรุปในประเด็นนี้ว่า ผลการตรวจสอบพบว่าพนักงาน กบข.รวมถึงเลขาธิการ กบข.เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีพนักงาน กบข. และการป้องกันข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์โดยฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.แล้ว ปรากฏว่ามีพนักงาน กบข. 153 รายทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง และพนักงานทั่วไปบางรายปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าว ดังนี้
 - มีการส่งแบบมาตรฐานรายงานธุรกรรมในบัญชีของพนักงานทุกสิ้นไตรมาสไม่ครบถ้วน
 - ไม่ได้ขออนุมัติทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์ครบถ้วนทุกรายการ ซึ่งหมายความรวมถึงกรณีไม่มีหลักฐานการขออนุมัติทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์ กรณีหลักทรัพย์ที่ซื้อขายไม่ปรากฏในรายการที่ขออนุมัติ ณ วันนั้น กรณีไม่ได้ขออนุมัติเนื่องจากลืม แต่มีการแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาและฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.ทราบในภายหลัง กรณีไม่ทราบว่าการซื้อขายหลักทรัพย์บางรายการต้องขออนุญาต และกรณีมีการขออนุมัติผู้บังคับบัญชา แต่ไม่พบหลักฐานการอนุมัติจากฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.
 - รายการขออนุมัติซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ตรงกับที่ปรากฏในรายงานธุรกรรมในบัญชีของพนักงาน กบข. ณ สิ้นไตรมาส
 - มีความผิดพลาดในการพิมพ์รายงานประจำไตรมาส
 - มีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่ต้องจำกัดการทำธุรกรรม (restricted list)
 - ใช้แบบรายงานผิดในการรายงานธุรกรรมในบัญชีของพนักงาน กบข.ในบางไตรมาส
 ดังนั้น คณะกรรมการเฉพาะกิจฯจึงได้ให้ฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.ตรวจสอบและจัดทำข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงาน กบข.ดังกล่าวเปรียบเทียบกับข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ของ กบข.เพื่อพิจารณาว่าพนักงาน กบข.ดังกล่าวผู้ใดมีพฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายการซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองก่อนซื้อขายหลักทรัพย์นั้นเพื่อ กบข. (front running) หรือมีพฤติการณ์หาประโยชน์จากข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์อันเป็นการเอาเปรียบบุคคลภายนอก (insider trading) หรือไม่ โดยพิจารณาจาก
 1) ข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์จำนวน 8 หลักทรัพย์ ตามข้อ 1 (6) ได้แก่ BBL, PTT, IRPC, LH, SPF, QHPF และ YNP
 2) พนักงาน กบข.ที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวในช่วง 7 วันก่อนวันที่ กบข.เข้าไปซื้อขาย (ความถี่ของการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวของพนักงาน กบข.ในช่วง 7 วันก่อนวันที่ กบข.เข้าไปซื้อขาย)
 3) จำนวนและมูลค่าของหลักทรัพย์ดังกล่าวที่พนักงาน กบข.ซื้อขายในแต่ละครั้งในช่วง 7 วัน ก่อนวันที่ กบข.เข้าไปซื้อขาย
 เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีพนักงาน กบข.7 รายที่ซื้อขาย ผลตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับจำนวน มูลค่า และความถี่พบว่าพนักงาน กบข.จำนวน 6 ราย ใน 7 ราย ดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบ กบข. แต่ลักษณะการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญ เนื่องจากบางรายมีการขออนุญาตจากฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.บางรายซื้อขายหลักทรัพย์ในจำนวนและมูลค่าเล็กน้อย รวมทั้งมีความถี่ในการซื้อขายน้อยจึงไม่สมควรพิจารณาว่าจงใจกระทำความผิด
 มีเพียงผู้บริหารระดับสูงของ กบข.จำนวน 1 ราย คือ นายวิสิฐ ตันติสุนทร ตำแหน่งเลขาธิการ กบข.ที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการเฉพาะกิจฯกำหนดให้ตรวจสอบ โดยมีจำนวน มูลค่า และความถี่ในการซื้อขายมาก นอกจากนี้นายวิสิฐมีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่ต้องจำกัดการทำธุรกรรม (restricted list) ด้วยคณะกรรมการเฉพาะกิจ จึงเชิญนายวิสิฐมาชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของนายวิสิฐในประเด็นดังกล่าว
 นายวิสิฐได้ชี้แจงว่า ตนเข้าใจว่าประกาศ กบข.ที่ 3/2546 เรื่องจรรยาบรรณและหลักปฏิบัติพนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2546 ซึ่งแบ่งแยกจรรยาบรรณของพนักงาน กบข.และเลขาธิการ กบข.ออกจากกัน และกำหนดหลักปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานไว้ และตามระเบียบ กบข.ว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีพนักงาน พ.ศ.2546 ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2546 ได้กำหนดให้พนักงานต้องขออนุญาตก่อนซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของพนักงาน กบข. ซึ่งนายวิสิฐเข้าใจว่าตนเองซึ่งไม่ได้เป็นพนักงาน จึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีพนักงาน กบข.ดังกล่าว โดยเข้าใจเพียงว่าจะต้องมีการรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อสิ้นไตรมาสเท่านั้น และที่ผ่านมาฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.ไม่ได้มีการตรวจสอบติดตามในเรื่องดังกล่าว นายวิสิฐเพิ่งจะมาทราบว่าเลขาธิการ กบข.จะต้องขออนุญาตซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อเกิดเรื่องการตรวจสอบนี้ขึ้นและฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.มาแจ้งให้ทราบ โดยที่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน นายวิสิฐจึงชี้แจงว่า ไม่มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว เพราะมีการรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.เมื่อสิ้นไตรมาสด้วย
 สำหรับกรณีที่นายวิสิฐซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่ต้องจำกัดการทำธุรกรรม ตั้งแต่ 26 มกราคม 2548-27 เมษายน 2549 คือ IRPC นั้น นายวิสิฐชี้แจงว่า หลักทรัพย์ดังกล่าวอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ต้องจำกัดการทำธุรกรรม แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548 มีการประกาศสู่สาธารณะว่า กบข.จะเข้าไปลงทุนร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ ในหลักทรัพย์นั้น รวมทั้งมีการลงนามใน shared holder agreement และระบุราคากันเรียบร้อยแล้วที่ 3.30 บาทต่อหุ้น รวมทั้งทราบกันแล้วว่าพันธมิตรแต่ละรายจะไปลงทุนกันเท่าไร ซึ่งตามปกติควรปลดหลักทรัพย์นั้นออกจากบัญชีรายชื่อที่ต้องจำกัดการทำธุรกรรมแล้ว เพราะเป็นข้อมูลที่สาธารณชนรับทราบแล้ว ตนเองจึงเข้าไปเริ่มต้นลงทุนเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2548 จึงไม่ได้มีการหาประโยชน์จากข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์อันเป็นการเอาเปรียบบุคคลภายนอก (insider trading)
 เพราะปกติตนเองจะยึดหลักอยู่ว่า ในช่วงที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชนจะเป็นช่วงที่ถูกจำกัดการทำธุรกรรม คือ ต้องไม่มีการลงทุนเรื่องนั้นอยู่แล้ว และราคาของหุ้นดังกล่าวก็มีการปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงที่ได้มีการประกาศว่า กบข.และพันธมิตรอื่นจะไปลงทุนในหุ้นนั้นแล้ว สำหรับเรื่องของการชำระเงินต่างๆ ในวันที่ 13 ธันวาคม 2548 ก็เป็นกระบวนการที่ตามมาหลังจากที่ข้อตกลงในเรื่องการลงทุนของ กบข.และพันธมิตรชัดเจนไปแล้ว จึงถือเป็นข่าวดีที่เผยแพร่สู่สาธารณะที่คนทั่วไปรับทราบ หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีข่าวดีอะไรที่มีผลกระทบต่อราคาหุ้นอีก การชำระราคาในวันที่ 13 ธันวาคม 2548 ไม่มีผลกระทบต่อราคาหุ้นในช่วงนั้นเลย โดยในวันดังกล่าวราคาหุ้นนั้นก็ยังปรับตัวลดลงอยู่ และหุ้นกลุ่มพลังงานมาปรับตัวขึ้นในเดือนมกราคม 2549 ไม่ใช่หุ้นตัวเดียวที่ขึ้น แต่หุ้นกลุ่มพลังงานทั้งกลุ่มที่ปรับขึ้นมา จึงถือไม่ได้ว่าการชำระราคาในวันที่ 13 ธันวาคม 2548 เป็นข่าวดีที่น่าไปลงทุน
 กรณีที่พิจารณาว่าจำนวนและมูลค่าของหลักทรัพย์ที่นายวิสิฐลงทุนมีมากนั้น นายวิสิฐชี้แจงว่า เป็นเพราะการรายงานรวมทั้งไตรมาสที่มีการซื้อขายหลายครั้ง ซึ่งที่จริงแล้วอาจมีจำนวนเงินที่ลงทุนจริงเพียง 5 ล้านบาทก็ได้
 นายวิสิฐชี้แจงด้วยว่า สาเหตุที่มีการรายงานไม่ครบถ้วนหรือรายงานล่าช้าก็เพราะตนเองไม่ได้จัดทำรายงานเอง แต่มอบหมายให้เลขานุการเป็นผู้ดำเนินการให้ และบางครั้งข้อมูลที่โบรกเกอร์ส่งมาให้อาจล่าช้า ตนเองก็ไม่ได้มีเวลาจึงหลงลืมในการติดตามไปบ้าง และผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว คือ ฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.ก็ไม่ได้มาติดตามด้วย ตนเองขอยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาปิดบังข้อมูลแต่ประการใด เมื่อฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.มาติดตามและเห็นว่าการรายงานไม่ครบ ตนเองก็รายงานข้อมูลทั้งหมดให้ครบในเวลาต่อมา
 ทั้งนี้ การรายงานข้อมูลจะเป็นไปตามแบบที่กำหนด โดยเลขานุการเป็นผู้จัดทำมาให้ ซึ่งตนเองก็ไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากมีภารกิจมาก และเห็นว่าเป็นข้อมูลที่เคยทำกันมาแล้วจึงไม่ได้สนใจมากนัก โดยยืนยันว่าข้อบกพร่องดังกล่าวมิได้มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และไม่ได้ใช้ข้อมูลภายในของ กบข.ไปแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ที่ผ่านมาก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กบข.ตนเองก็ได้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ใกล้เคียงกับในปัจจุบัน ซึ่งได้แจ้งต่อคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ กบข.ก่อนเข้ามารับตำแหน่งว่าตนเองได้มีการซื้อขายหลักทรัพย์อยู่แล้ว และโดยข้อเท็จจริงแล้วเมื่อคิดถึงผลกำไรขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในระยะที่ผ่านมา และการ mark to market ยังประสบการขาดทุนอยู่ อย่างไรก็ตามการลงทุนของตนเองส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในระยะยาว จะมีการซื้อขายระยะสั้นเพื่อผลกำไรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
 คณะกรรมการเฉพาะกิจฯมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีพนักงาน ดังนี้
 1.พนักงาน กบข.บางส่วนมีการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ประกาศ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจรรยาบรรณของพนักงาน กบข. และการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของพนักงาน กบข.
 2.การกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติตามระเบียบของฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.เป็นไปอย่างล่าช้าเกินสมควร โดยฝ่ายธรรมาภิบาล กบข.เริ่มมีการตรวจสอบข้อมูลการรายงานธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีพนักงาน กบข.ในช่วงต้นปี 2552 และตรวจสอบย้อนหลังไปจนถึงปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่ระเบียบดังกล่าวใช้บังคับ ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของพนักงาน กบข.ดังกล่าวปรากฏขึ้นในภายหลัง จึงไม่สามารถแจ้งหรือตักเตือนให้พนักงาน กบข.ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวได้ในทันที กบข.ควรพิจารณาทบทวนและปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีพนักงาน กบข. เพื่อให้การป้องกันข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของระเบียบดังกล่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 ในส่วนของผลประกอบการคณะกรรมการเฉพาะกิจฯพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินงานของ กบข.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการบริหารจัดการกองทุน กบข.ได้เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกตามแนวทางการดูแลเงินออมเพื่อการเกษียณอายุของสมาชิกที่เป็นข้าราชการประเภทต่างๆ โดยรอบคอบแล้ว
สำหรับผลประกอบการของ กบข.ที่ขาดทุนในปี 2551 จำนวนทั้งสิ้น 16,832 ล้านบาท เกิดจากผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2551 ซึ่งส่งผลให้การลงทุนในตราสารทุนทั่วโลกตกอยู่ในสภาวะตกต่ำต่อเนื่อง และตลาดหลักทรัพย์หลักทั่วโลกปรับตัวลดลงรุนแรงดังจะเห็นได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่สำคัญของโลกได้ลดลงในอัตราสูง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลง 33.84% ประเทศอังกฤษดัชนี FTSE ลดลง 31.33% ประเทศญี่ปุ่นดัชนี NIKKEI ลดลง 42.12% ฮ่องกงดัชนีฮั่งเส็งลดลง 48.27% ประเทศจีนดัชนี SHANGHAI COMPOSITE ลดลง 65.39% ประเทศสิงคโปร์ดัชนี STRAITS TIMES ลดลง 49.17% และประเทศไทยดัชนี SET ลดลง 47.56% เป็นต้น
 สินทรัพย์ที่ให้ผลกำไรมาจากการลงทุนในตราสารหนี้เป็นเงิน 18,950 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 116 ล้านบาท กำไรจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 1,979 ล้านบาท ส่วนสินทรัพย์ที่ขาดทุนมาจากการลงทุนในตราสารทุน 31,912 ล้านบาท (แบ่งเป็นหุ้นในประเทศ 18,027 ล้านบาท, หุ้นต่างประเทศ 13,885 ล้านบาท) และขาดทุนจากการลงทุนทางเลือกเป็นเงิน 5,335 ล้านบาท
 ทั้งนี้ กบข.มีค่าใช้จ่ายสำนักงานและอื่นๆ เป็นเงิน 632 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับผลประกอบการที่ขาดทุนจะเท่ากับ 16,832 ล้านบาท
 นี่คือรายงานของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบการดำเนินของ กบข.เมื่อ 18 พฤษภาคม 2552
http://www.matichon.co.th/prachachat/news_detail.php?newsid=1244018320&grpid=02&catid=00



check out the rest of the Windows Live™. More than mail–Windows Live™ goes way beyond your inbox. More than messages

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew