"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ฟ้องด้วย ‘คลิปการเมือง’ อำนาจตรวจสอบของปัจเจกชน

ฟ้องด้วย 'คลิปการเมือง' อำนาจตรวจสอบของปัจเจกชน
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 4 มิถุนายน 2552 09:26 น.


คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น


ไชยันต์ ไชยพร


หากย้อนกลับไปในยุคเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว การถ่ายภาพวิดีโออะไรสักอย่างเพื่อนำไปเผยแพร่สาธารณชนนั้น ถือเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก และใช้เวลานานมาก เพราะคุณต้องมีอุปกรณ์เยอะแยะมากมายทั้งกล้องวิดีโอซึ่งราคาหลายหมื่นบาท หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดต่อ แปลงเทปลงแผ่น และการที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้นั้น คุณต้องศึกษาและเรียนรู้วิธีใช้เสียก่อน นี่ยังไม่รวมไปถึงช่องทางในการนำเสนอผลงานด้วย
       
        
            แต่เมื่อวิทยาการก้าวหน้าขึ้น อะไรๆ ที่เคยยากกลับง่ายขึ้นอย่างน่าใจหาย ตอนนี้แค่มีเพียงโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว คุณก็สามารถวีดีโอได้แล้ว ส่วนช่องทางในการนำเสนอผลงานนั้นก็มีอยู่มากมายโดยเฉพาะในโลกอินเตอร์เน็ต ที่มีบริการรับฝากไฟล์ นำเสนอไฟล์เยอะแยะไปหมด เช่น www.youtube.com
       
        
            สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการรับรู้ข่าวสารของผู้คน เพราะแต่เดิม คนมักจะอาศัยแต่สื่อหลักๆ อย่างโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เป็นช่องทางในการรับสื่อ ซึ่งปัญหาก็คือ สื่อพวกนี้ มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา บางครั้งก็ต้องรอเป็นวันๆ ถึงจะรู้ความว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ในปัจจุบันนี้ เพียงไม่กี่นาทีหลังเกิดเหตุการณ์ คุณก็สามารถรับรู้ข่าวสารต่างๆ ทั้งภาพ ทั้งเสียง ซึ่งออกมาในรูปแบบของคลิป ได้อย่างครบถ้วน
       
        
            สำหรับคลิปที่ถูกนำแสดงผ่านเว็บไซต์ต่างๆ หลายชิ้นเกิดมาจากประชาชนธรรมดา เนื่องจากสื่ออินเตอร์เน็ตเป็นโลกที่มีเสรีภาพสูงมาก แถมกระบวนการผลิตนั้นก็ไม่ได้ยากเย็น ทำให้หลายคนรู้สึกว่า ใครๆ ก็ทำได้ โดยประเภทของคลิปนั้นก็มีหลากหลาย ตั้งแต่คลิปรายการโทรทัศน์ที่คนอัดภาพจากโทรทัศน์แล้วอัพโหลดขึ้นเว็บเพื่อดูซ้ำ คลิปส่วนตัว ซึ่งเป็นคลิปที่ถ่ายกันเล่นๆ หรือคลิปโป๊ ซึ่งนิยมแอบส่งกันผ่านทางอีเมล์มากกว่า
       
        
            นอกจากนี้คลิปข้างต้นแล้ว ขณะนี้ในประเทศไทยมีคลิปอีกแบบหนึ่ง ที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก นั่นก็คือ 'คลิปการเมือง'
       
       ปฐมบทของคลิปการเมือง
       

            จริงๆ แล้วคลิปการเมืองในประเทศไทยเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยช่วงแรกจะมีลักษณะเป็นคลิปภาพลับหรือภาพแอบถ่ายนักการเมืองหรือเครือญาติ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคลนั้นๆ อย่างเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก็มีคลิปแอบถ่ายลูกสาวนักการเมืองคนดังกับนักการเมืองหนุ่มออกมา ส่งผลให้นักการเมืองหนุ่มผู้นี้ ต้องหมดอนาคตทางการเมืองไปในที่สุด
       
        
            จนกระทั่งในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลักษณะของคลิปก็เปลี่ยนแปลงไป โดยเนื้อหามักจะเป็นการล้อเลียนการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลเป็นส่วนมาก และเนื้อหาที่พบเห็นได้มากที่สุดคือ คลิปที่เป็น 'เพลง' เพื่อให้ผู้ที่เปิดคลิปขึ้นมารู้สึกสนุกสนาน และเข้าใจในสิ่งที่ผู้ผลิตต้องการส่งสารได้ง่ายที่สุด
       
        
            สำหรับคลิปที่โดดเด่นมากๆ นั้นมีหลายชิ้น อย่างคลิปเพลง 'ไอ้หน้าเหลี่ยม' ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาล้อเลียนพฤติกรรมฉ้อฉลของรัฐบาลทักษิณ หรือเพลง 'หมักแร็พ' ซึ่งมีการตัดต่อคำพูดของนายสมัคร สุนทรเวช ที่นำจดหมายจากทางบ้านซึ่งเขียนเข้ามาตำหนิตัวเขาเองมาอ่านออกอากาศ
       
        
            จนกระทั่งหลังเกิดเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2552 ที่กลุ่ม นปก. หรือแนวประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ชุมนุมใหญ่ และมีการปิดถนน รวมทั้งก่อความไม่สงบตามจุดๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงทำให้เกิดคลิปที่นำเสนอภาพสถานการณ์ความวุ่นวายต่างๆ มากขึ้น อย่างกรณีที่พนักงานบริษัทแถวถนนสาทร ออกมาขับไล่กลุ่มเสื้อแดงที่ไปปิดถนน
        
            หรือกรณีที่ผู้หญิงใส่เสื้อแดง 2 คนทะเลาะกับชายหนุ่มถือกล้อง แล้วมีการจิกหัว รวมไปถึงคลิปที่มีผู้หญิงคนหนึ่งออกมาพูดภาษาอังกฤษด่าทักษิณ ว่าเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายเหล่านี้ ที่สำคัญคลิปเหล่านี้ก็มีจำนวนมากขึ้นหลายเท่าตัว จนหลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า มีสาเหตุมาจากอะไร
       
        
            ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า น่าจะมีเหตุผลหลักๆ มาจากเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และไม่จำเป็นต้องทักษะอะไรมากมาย ก็สามารถทำได้แล้ว ซึ่งตรงนี้จะเกิดขึ้นกับคนชนชั้นกลาง ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีมาก
       
            ขณะเดียวเรื่องนี้ยังถือเป็นการปฏิวัติวงการสื่อในประเทศไทยอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นการแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่าสื่อไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่โทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์เท่านั้น หากแต่ประชาชนทุกคนก็สามารถเป็นสื่อได้ สามารถเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลความคิดเห็นของตนเองได้ ซึ่งตรงนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนการแสดงความคิดที่มากขึ้นของคนในสังคม
       
        
            "บทบาทของสื่อกระแสหลักเองก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องคลิปมากขึ้น คือเราต้องยอมรับกันก่อนว่า ถึงแม้สื่อยุคปัจจุบันจะมีอิสระมากขึ้น แต่เวลาถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ สื่อก็มักจะจำกัดบทบาทของตัวเอง ไม่กล้าสะท้อนความจริงทั้งหมด ส่งผลให้คนตัวเล็กตัวน้อยทนไม่ได้ และเมื่อบางคนมีข้อมูลที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่สื่อกระแสหลักนำเสนอ เขาก็กล้าพอที่จะเสนอความแตกต่างเหล่านั้นสู่สาธารณชน"
       
        
            ขณะที่ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ของการเมืองไทยในปัจจุบันว่ากำลังอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี บางคนอาจจะรู้สึกว่าสังคมไม่เป็นธรรม จึงพยายามหาที่ระบายความรู้สึกของตัวเองออกมาสู่สาธารณะ
       
        
            "ที่ผ่านมา สังคมไทยมักไม่พูดความจริง ทำให้ความขัดแย้งมันหนักข้อขึ้น อย่างเรื่องคุณทักษิณ การที่เขาหลบหนีไปต่างประเทศ ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทำให้ข้อกล่าวหาต่างๆ ไม่ได้รับการพิสูจน์ ความจริงก็ไม่เกิดขึ้น สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องซุบซิบนินทาบนท้องถนน หรือโลกไซเบอร์ ซึ่งตรงนี้ผมถือว่าไม่ดีต่อสังคมเลย หากคุณพิสูจน์ หรือชี้แจงข้อเท็จจริง ความสงสัยก็จะหมดไปเอง ส่วนกรณีปราบปรามเสื้อแดง ผมมองว่าเคลียร์นะ เพราะมีการนำไปคุยกันในสภาฯ ทำให้แต่ละฝ่ายต้องพยายามหาหลักฐานต่างๆ ทั้งภาพถ่าย หรือผลตรวจทางนิติเวชมาพิสูจน์ว่าของใครจริง"
       
       เมื่อคลิประบาดเมือง ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปแค่ไหน
       

            เมื่อคลิปแพร่กระจายไปสู่สังคมมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การนำคลิปไปใช้ประโยชน์ในสถานการณ์ต่างๆ เช่นการอภิปรายในรัฐสภา ปัญหาหนึ่งที่หลายคนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวเรื่องนี้ก็คือ "ความน่าเชื่อถือ" ของคลิปเหล่านี้ว่ามีมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญจะส่งผลอย่างไรบ้างต่อสังคมไทย
       
        
            วิฑูรย์ รักปลอดภัย อดีตนักข่าวสายการเมือง มองประเด็นนี้ว่า ไม่น่ามีผลต่อสังคมไทยเท่าใดนัก เพราะคลิปส่วนใหญ่มักเกิดจากความคิดเห็นของคนแต่ละคนเป็นหลัก และผู้เสพส่วนใหญ่ ก็ยังเป็นกลุ่มคนที่ความคิดเห็นคล้ายกันด้วย
       
        
           ที่สำคัญเรื่องที่อยู่ในคลิปส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิมซึ่งเคยถูกนำเสนอผ่านสื่อไปแล้ว แต่อาจจะมีประดิษฐ์ หรือสร้างสรรค์กลวิธีใหม่ๆ ในการเสนอ เพื่อทำให้เรื่องนั้นน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งถ้าจะไปแล้ว ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องของการประชันฝีมือระหว่างคนทำมากกว่า ว่าใครจะทำได้น่าสนใจมากกว่ากัน
       
        
           "ผมเชื่อว่าคนดูคลิป ส่วนใหญ่เป็นเพราะความสนุก มากกว่าที่จะหวังว่าคลิปเหล่านี้จะไปเปลี่ยนแปลงสังคม แล้วคลิปส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีเนื้อหาสาระเท่าไร เพราะหากมีสาระเกินไป คนก็ไม่อยากคลิกเข้าไปดู"
       
        
           อย่างไรก็ตาม แม้คลิปพวกนี้จะไม่น่าเชื่อถือ แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นตัวสะท้อนความคิดและความรู้สึกของคนในสังคมที่ดีได้เหมือนกัน เพราะหากมีคนสนใจคลิกเข้าไปดูเยอะ หรือแสดงความคิดเห็นกันมาก ก็ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าคนให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นนี้
       
        
           ด้าน รศ.ดร.ไชยันต์ ก็มีความเห็นคล้ายๆ กันว่าคลิปส่วนใหญ่ไม่น่าเชื่อถือ เพราถูกสร้างอย่างไร้ที่มา ขณะเดียวกันบางชิ้นยังมีลักษณะฉาบฉวย และมีบทบาทเฉพาะช่วงที่เรื่องราวยังไม่ได้รับการพิสูจน์เท่านั้น เพราะทันทีที่เรื่องต่างๆ ได้รับการพิสูจน์ และพบภายหลังว่าเนื้อหาในคลิปเป็นเรื่องไม่จริง ก็จะส่งผลให้คลิปดังกล่าวหมดประโยชน์ไป คล้ายๆ เป็นกระแสที่มาเร็วไปเร็ว
       
        
            ส่วนนิสิตนักศึกษา อย่าง ธรรมฤทธิ์ เอกสมิทธิ์ นิสิตชั้นปีที่ 4 จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลกระทบของการมีคลิปเยอะๆ ว่า หากเป็นระยะสั้นก็คงจะสร้างความสับสนให้กับผู้คนพอสมควร เนื่องจากได้รับข้อมูลเร็วและมาก ทำให้ไม่รู้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง แต่ในระยะยาวน่าจะเป็นผลดีต่อบ้านเมือง เพราะการที่คนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น และใช้สิทธิ์ดังกล่าว ก็เท่ากับว่าประชาธิปไตยในประเทศพัฒนาขึ้นไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว
       
        
           "ในช่วงที่บ้านเมืองกำลังวิกฤตแบบนี้ ผมมองว่าการมีคลิปเยอะๆ ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น เพราะตัวนำน้อยลง เหมือนใครจะพูดอะไรก็ได้ โอกาสที่สังคมจะแตกแยกก็มีมากขึ้น แล้วยังมีบางคนที่ปล่อยคลิปออกมาเพื่อทำลายกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมเชื่อว่าคลิปจะกลายเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่แสดงคนในสังคมได้เห็นว่าทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง มีส่วนร่วมทางการเมืองได้เหมือนกัน ไม่ใช่ปล่อยให้นักการเมืองเล่นเกมอยู่ฝ่ายเดียว"
       
        
            ขณะที่ ผศ.ดร.พิรงรอง มองว่าถึงสื่อเหล่านี้จะไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความจริงบางอย่างของสังคมได้เหมือนกัน โดยเฉพาะการเกิดขึ้นจริงของเหตุการณ์รุนแรงในสังคมไทย หลายๆ ครั้งจะพบว่ามีคนจำนวนหนึ่งนำภาพเหตุการณ์อย่างเหตุการณ์สลายกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 ไปลงในเว็บไซต์ เพื่อเป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่งสังคมไทยเคยเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น
       
        
            "เหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2552 มีข้อกล่าวหาเยอะมาก เช่นคนตายร่วม 100 ศพ ตรงนี้ถือเป็นข้อกล่าวหาที่ใหญ่มาก แต่เรื่องที่น่าสงสัยก็คือ หากเกิดขึ้นจริง ก็น่าจะมีคนเอาภาพ หรือวิดีโอไปลงในเว็บไซต์แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นเลยว่ามีใครทำ"
       
       คลิปไทยๆ กับโลกต่างประเทศ
       
            ถึงแม้ในสังคมไทยจะเข้าใจสถานการณ์จริงๆ ว่าเป็นอย่างไร โดยไม่ต้องอาศัยคลิป แต่เนื่องจากคลิปเหล่านี้ส่วนใหญ่มักถูกนำเสนอผ่านเว็บไซต์ที่เป็นสากล อย่าง Youtube ทำให้มีคนต่างชาติสามารถคลิกเข้ามาดูได้ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะสร้างความเข้าใจผิดในประเด็นต่างๆ ได้เช่นกัน
        
       
            สำหรับประเด็นดังกล่าว ธรรมฤทธิ์ให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นไปได้ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่รู้จักประเทศไทยเลย ซึ่งคงคล้ายๆ กับเวลาที่มีใครส่งคลิปความรุนแรงของประเทศอื่นๆ มาให้ เราก็มักจะเข้าใจตามภาพเหล่านั้นทันทีเช่นกัน
       
        
           "ผมว่าบางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่า ภาพที่ส่งมานั้นจริงหรือไม่ เพราะคลิปบางอันก็ถูกทำปลอมขึ้น อย่างเช่นการย้อมเสื้อแดงให้เป็นเสื้อเหลือง หรือมีการตัดต่อภาพมาลงเพียงเล็กน้อย ไม่ยอมนำมาลงทั้งหมด และยิ่งเมื่อคนที่ไม่รู้เรื่องหรือคนที่ไม่เข้าใจเหตุการณ์เข้าไปดู เขาก็อาจจะคล้อยตามกับสิ่งที่เขาเห็นได้ง่ายๆ เหมือนกัน"
       
        
           ขณะที่ รศ.ดร.ไชยันต์ กลับมองว่าคนส่วนใหญ่ไม่น่าจะเข้าใจผิด เพราะสื่อในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะไม่มาเพียงแค่มุมมองเดียวเท่านั้น หากลองสังเกตจะพบว่าในเว็บไซต์หนึ่ง ถึงจะเป็นข่าวเดียวกัน แต่ก็จะมีคลิปหลายๆ ตัวนำเสนอแง่มุมที่แตกต่างออกไป เพราะฉะนั้นคนที่ดูคลิปเหล่านี้ คงใช้วิจารณญาณในการรับชม เปิดดูหลายๆ ตัว ไม่ใช่ดูแค่ชิ้นเดียวก็เชื่อแล้ว
       
        
           "เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายหนึ่งลง แล้วอีกฝ่ายก็ต้องลงด้วย ไม่เช่นนั้นก็เสียเปรียบ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าหากคนต่างชาติที่เข้ามาดูนั้น สนใจจริงๆ คงไม่ได้ตัดสินอะไรง่ายๆ จากคลิปหรอก เขาต้องไปลองค้นหาข่าวจากหนังสือพิมพ์ หรือสื่ออื่นๆ และหากเรื่องนั้นได้รับการพิสูจน์แล้ว ก็น่าจะมีสื่อสักฉบับที่ลงเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้"
       
        
            ส่วน ผศ.ดร.พิรงรองก็มีเห็นความคิดที่สอดคล้องกันว่า ในต่างประเทศ การดูคลิปถือเป็นเรื่องปกติมาก และที่ผ่านมาเขามีคลิปในลักษณะนี้มากกว่าเราเสียอีก เพราะฉะนั้นเขาคงไม่คิดอะไรมากเท่าใดนัก เว้นเสียแต่คลิปเหล่านั้นถูกส่งมาจากประเทศที่ปิดกั้นสื่ออย่างรุนแรง และเนื้อหาแบบนี้ไม่ได้ออกมาจากสื่อกระแสหลักเลย ก็อาจจะทำให้คนดูเกิดสงสัย และรู้สึกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องจริง
       
       อนาคตของคลิปการเมือง
       

           หลายเดือนที่ผ่านมา กระแสเรื่องคลิปถือว่าสิ่งที่ทุกคนในสังคมตื่นตัวกันมาก แต่ในอนาคตก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า แนวโน้มของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร
       วิฑูรย์มองว่าโอกาสที่คลิปเหล่านี้น่าจะโอกาสเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ก็มีสูง ยิ่งในสภาวะที่คนกำลังเคร่งเครียดเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง การคลิกเข้ามาก็อาจจะทำให้คนรู้สึกผ่อนคลายได้บ้าง
       
        
            "จริงๆ เรื่องคลิปก็ถือเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง คล้ายๆ กับยุคหนึ่งที่คนชอบทำหนังสือทำมือ หรือหนังสั้น คือหากคนในสังคมรู้สึกว่าคนอื่นทำได้ ที่สำคัญยังทำให้คนทำรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ได้เป็นแค่ผู้บริโภคอย่างเดียว โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า เรื่องคลิปน่าจะอยู่ต่อไปจนถึงภาวะอิ่มตัว จึงค่อยๆ หายไปในที่สุด"
       
            ขณะที่ รศ.ดร.ไชยันต์เห็นว่า อีกไม่นาน กระแสเรื่องคลิปก็จะหมดไป เพราะสุดท้ายคนก็จะรู้สึกเบื่อ และไม่เห็นประโยชน์ที่จะต้องมาต่อสู้ทางความคิดผ่านโลกไซเบอร์ และเมื่อปัญหาทุกอย่างได้รับการพิสูจน์ด้วยกลไกที่ควรจะเป็นแล้ว สุดท้ายเรื่องการเมืองบนคลิปก็จะหายไปในที่สุด
       
            ส่วน ผศ.ดร.พิรงรองมองว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะหยุดได้ง่ายๆ เพราะเทคโนโลยีนั้นก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา แนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไปนั้น ไม่เพียงแค่คลิปแบบนี้จะมีจำนวนมากขึ้น บทบาทของภาครัฐเองก็น่าจะเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของโลกยุคใหม่
       
        
            "ความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะมากที่สุด คงเป็นทัศนคติของรัฐ แต่ก่อนรัฐอาจจะคิดว่าตัวเองสามารถควบคุมสื่อ หรือบิดเบือนเรื่องอะไร เพื่อให้ประชาชนเชื่อในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่เมื่อวิทยาการเปลี่ยนไป การที่รัฐจะควบคุมก็ทำได้ยากขึ้น เพราะฉะนั้นเวลานี้ หากรัฐจะทำอะไรก็ต้องระวังมากขึ้น เพราะทุกคนสามารถตรวจสอบรัฐได้ง่ายๆ ว่าพูดจริงหรือไม่"
       
        
            เดี๋ยวนี้ไม่ได้มีแค่ 'ดารา' เท่านั้นที่มี 'คลิปหลุด' แม้แต่นักการเมืองใหญ่ๆ บางคนก็มียังมีคลิปหลุดกับเขาด้วย เพราะนักการเมือง คือ 'บุคคลสาธารณะ' ซึ่งหมายความ เป็นบุคคลที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน เช่น ดารา-นักแสดง หรือผู้ที่การกระทำของเขามีผลกระทบต่อสังคมหรือสาธารณะ เช่น ครู หรือนักการเมือง
       
        
            ในอนาคต คงปฏิเสธบทบาทของคลิปการเมืองไม่ได้ เพราะประชาชนสามารถพาตัวเองเข้าไปสู่โลกไซเบอร์ด้วยรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายคลิปตัวเอง การส่งฟอร์เวิร์คเมล์ หรือการเขียนกระทู้ตามเว็บบอร์ด
       นี่คือโฉมหน้าที่แปรเปลี่ยนไป พลังอำนาจการตรวจสอบจากประชาชนที่มีต่อนักการเมืองและวงการเมืองได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งแล้วในโลกดิจิตอล
       
       *********ล้อมกรอบ*********
       
       6 คลิปสะท้านการเมืองไทย
       

       อันดับ 1 คลิป 'สาวไทยใจกล้า' ด่า 'ทักษิณ' ออกใน youtube
        
       
       อันดับ 2 คลิป 'ปราบปรามประชาชน 7 ตุลาคม 2551'
       
        
       อันดับ 3 คลิปตระกูล 'แร็พ' (แม้วแร็พ - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, หมักแร็พ - นายสมัคร สุนทรเวช, มาร์คแร็พ - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ เพ็ญแร็พ - นายจักรภพ เพ็ญแข)
       
        
       อันดับ 4 คลิป 'จับโกหก' นักการเมือง (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคนอื่นๆ)
       
        
       อันดับ 5 คลิปหลุด 'คนหน้าเหมือนนักการเมือง' (บุคคลคล้ายนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พาสาวไปซื้อตู้เย็น)
       
        
       อันดับ 6 คลิป 'โป๊สังวาส' คนการเมือง (คลิปลูกสาวอดีตนักการเมืองระดับสูง กับอดีตนักการเมืองหนุ่มอนาคตไกลจากพรรคความหวังใหม่ เมื่อหลายปีก่อน และล่าสุด คลิปหลุดของนักการเมืองท้องถิ่นสาว ทางภาคเหนือ กับชายหนุ่มคนใกล้ชิด)
       
       ........................................
       เรื่อง : สุทธิโชค จรรยาอังกูร
       

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000062424


See all the ways you can stay connected to friends and family

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew