โรงเรียนอนุบาล "มารผจญ"/นรา |
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 1 มิถุนายน 2552 11:14 น. |
|
ขอเบียดเบียนเนื้อที่หลายๆ บรรทัด เพราะมีเรื่องต้องเคลียร์ แทรกเข้ามานะครับ
ในบทความเรื่อง "งามเลิศในปฐพี" ผมเขียนไว้ว่า "...ครูบาอาจารย์หลายท่าน นิยมกล่าวถึงแม่พระธรณีว่า 'นางธรณี' ซึ่งน่าจะเป็นคำเรียกขานที่ถูกต้องกว่า..."
หลังจากนั้นก็มีท่านผู้อ่านใช้นามแฝงว่า-ผู้มีความสามารถพิเศษทางภาษาและวรรณคดี-แสดงความคิดเห็นกลับมาว่า "...ครูบาอาจารย์ท่านไหน ไม่น่าจะมีใครเรียก 'นางธรณี' มาก่อนนะ ไม่เคยได้ยินเลยว่า โบร่ำโบราณมีคำนี้ ถ้าอ้างอิงชื่อครูบาอาจารย์ด้วยจะดีมากเลย เพราะถึงพระแม่ธรณีเป็นอรูปกะ คือ ไม่มีรูปกาย เช่นเดียวกับพระแม่คงคา พระแม่โพสพ แต่ก็ทำหน้าที่รักษาแผ่นดิน รักษาแม่น้ำ รักษาธัญญาหาร ซึ่งเป็นคุณลักษณะของเทพหรือเทพี ผู้นับถืออย่างชาวฮินดูสามารถทำการสักการะได้ทุกสถานที่ หรือเมื่อต้องการความช่วยเหลือ ก็อ้างเรียกได้ทุกเวลา ถ้าเคยมีคำกล่าวเรียกว่า 'นางธรณี' จริง เราคนไทยก็คงเคยได้ยินคำว่า 'นางคงคา', 'นางโพสพ' มานานแล้วน่ะสิ"
ขอออกตัวดังเอี๊ยดดดดด!!! บอกเล่าอธิบายอย่างนี้ครับ
คำเรียกขาน "แม่พระธรณี" ว่า "นางธรณี" นั้น ในบทความดังกล่าว ผมได้อ้างชื่อครูบาอาจารย์เอาไว้แล้ว 2 ท่านด้วยกันนะครับ คือ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
ถ้าจะมีปัญหาอยู่บ้างก็คงเป็นด้วย ผมรู้ข้อมูลมาจำกัด และเขียนลงไปตามนั้น โดยอาจจะขาดเหตุผลหรือคำอธิบายที่ถี่ถ้วนรัดกุม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเองก็ยังไม่ทราบ
กล่าวคือ ผมยังไม่เข้าใจโดยกระจ่างด้วยตนเอง จึงยึดหลักเชื่อตามผู้ใหญ่และครูบาอาจารย์ไว้ก่อน
ถัดมา มีบ่อยครั้งซึ่งผมไม่ได้อ้างอิงแหล่งข้อมูลทั้งหมดที่เจอมา แค่ยกตัวอย่างพอสังเขป เพราะเจตนาจะให้เป็นข้อเขียนในลักษณะ "เล่าสู่กันฟัง" เพื่อความเพลิดเพลิน อ่านง่าย เข้าใจง่าย มากกว่าจะแสดงหลักฐานอ้างอิงในเชิงวิชาการ จึงอาจมีรูรั่วรอยโหว่หละหลวมอยู่บ้างดังที่ปรากฎ
เรื่องคำเรียกขานแม่พระธรณีว่า "นางธรณี" ผมอ่านเจอเป็นครั้งแรกในหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับดนตรีไทยชื่อ "สยามสังคีต" ของคุณหมอพูนพิศ อมาตยกุล
ในบทความชื่อ "ธรณีกันแสง" คุณหมอเล่าไว้ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 และเจ้าจอมมารดาเหม) รับสั่งเรียกแม่พระธรณีว่า "นางธรณี"
ด้วยความเกรงว่าจะใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง ตอนเขียนบทความผมจึงไม่ได้เอ่ยพระนามของเสด็จ
อย่างไรก็ตาม มีความสะเพร่าของผมเองด้วย ที่อ้างถึง "พระปฐมสมโพธิกถา" โดยไม่ได้หยิบหนังสือดังกล่าวมาตรวจสอบ
ในวรรณคดีชิ้นสำคัญเล่มนี้ เรียกแม่พระธรณีว่า "นางพระธรณี" นะครับ รวมทั้งยังมีเรียกเป็นอื่นอีกว่า "นวนิดาดลนารี" และ "นางพสุนธรีวนิดา" ไม่ใช่ "นางธรณี" อย่างที่ผมจำมาผิดๆ
นอกเหนือจากนี้ "ปฐมสมโพธิฉบับล้านนา" ซึ่งเชื่อว่ามีอายุเก่าแก่กว่าฉบับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (ทรงพระนิพนธ์ไว้เมื่อพ.ศ. 2387) เล็กน้อย ก็เรียกแม่พระธรณีว่า "นางธรณี" เช่นกัน (รวมทั้งเรียกในย่อหน้าใกล้เคียงกันว่า "นางแผ่นดิน")
ข้อมูลค่อนข้างใหม่และร่วมสมัยที่ผมอ่านเจอ ก็คือ หนังสือ "จิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลายระยะแรก สกุลช่างนนทบุรี ณ วัดชมภูเวกและวัดปราสาท" ของอาจารย์น. ณ ปากน้ำ (พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2530) ก็มีใช้ทั้งคำว่า "แม่พระธรณี" และ "นางธรณี"
จริงๆ แล้วก็ยังมีการเรียกแตกต่างเป็นอื่นไปอีกเหมือนกัน เช่น คัมภีร์ลลิตวิสตร ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่า เขียนขึ้นเมื่อไร แต่สันนิษฐานกันว่า น่าจะเขียนขึ้นเมื่อราวๆ พุทธศตวรรษที่ 5-6 เรียกแม่พระธรณีว่า "แม่นม (แผ่นดิน)"
ด้วยข้อมูลห้อมล้อมต่างๆ ดังนี้ พอจะสรุปคร่าวๆ ได้ว่า แม่พระธรณีนั้นมีการเรียกขานแตกต่างหลากหลาย แต่ก็มีการเรียกใช้ว่า "นางธรณี" อยู่จริงในหลายที่หลายแห่ง
มีความเป็นไปได้ว่า เอกสารต่างๆ เหล่านี้ ค่อนข้างจะมีอายุเก่าแก่ ครั้นล่วงมาถึงปัจจุบัน ระยะห่างของกาลเวลาอันเนิ่นนาน อาจทำให้เกิดช่องว่าง จนกลายเป็นคำไม่คุ้นหู และไม่ติดปากเท่ากับ "แม่พระธรณี" หรือ "พระแม่ธรณี"
และเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า ข้อมูลอ้างอิงระหว่างผมกับท่านผู้อ่าน รู้มาคนละแหล่ง ไม่ตรงกัน คำเรียก "นางธรณี" ส่วนใหญ่ที่ผมพบเจอ ปรากฎในงานวรรณกรรม ขณะที่การเรียกขานผ่านภาษาพูดในชีวิตประจำวัน ผมเองก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน (ยกเว้นที่คุณหมอพูนพิศเล่าไว้ใน "สยามสังคีต" เท่านั้นเอง)
ผมจึงตัดสินใจเล่าความตามที่อ่านเจอมา และสมัครใจเรียกของผมเองว่า "แม่พระธรณี"
ทั้งหมดนี้ โปรดถือเสียว่าเป็นการต่อยอดแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นกัน และขอขอบคุณจากใจจริงนะครับสำหรับคำทักท้วง
เรื่องชี้แจงถัดมาก็คือ ในบทความ "ที่นี่...ลือลั่นเรื่องนรก" มีผู้อ่านใช้นามแฝงว่า "ผีบ้าฯ" บอกเล่าไว้ว่า "เพิ่งไปมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้เองครับ ไม่ได้เข้าไปข้างใน ได้แต่ดูสภาพภายนอกโบสถ์ ซึ่งพบว่ารกร้างและทรุดโทรมมาก บานหน้าต่างบานอันหลุดไปแล้ว ต้องรีบบูรณะแล้วครับ"
เด็กเปรตอ้วนๆ (คือผมเอง) ขอถูมือให้สว่างแปลงร่างเป็นมนุษย์ไร้สาระวีหนึ่ง เพื่อไขปัญหาชีวิตเกี่ยวกับเรื่องวัดวาอาราม ดังต่อไปนี้
บริเวณใกล้ๆ วัดดุสิดาราม เคยเป็นที่ตั้งของวัดอีก 2 แห่งคือ วัดภุมรินราชปักษีและวัดน้อยทองอยู่
เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส (สมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2442-2464) ได้เสด็จไปตรวจสภาพของพระอาราม และอีกสองวัดที่อยู่ใกล้กัน แล้วมีรับสั่งให้รวมวัดภุมรินราชปักษี ซึ่งขณะนั้นมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่เพียงรูปเดียว เข้ากับวัดดุสิดาราม
ส่วนวัดน้อยทองอยู่ให้คงไว้ตามเดิม
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2488 ระหว่างสงครามเอเซียบูรพา มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิด วัดดุสิดารามเสียหายบางส่วน วัยน้อยทองอยู่โดนเข้าอย่างจัง กระทั่งเหลือแต่กำแพงพระอุโบสถ
ครั้นสงครามสงบแล้ว พระเพทประสิทธิคุณ ผู้ครองวัดในขณะนั้น จึงได้ขออนุมัติรวมวัดน้อยทองอยู่เข้ากับวัดดุสิดาราม
วัดดุสิดารามจึงกลายเป็นวัดแบบ ทรี อิน วัน ผนวกรวมสามวัดเข้าเป็นหนึ่งเดียว มานับตั้งแต่บัดนั้น
ต่อมาในยุคหลังๆ ตอนไหนก็ไม่ทราบ มีการตัดถนนเข้าซอยผ่ากลาง วัดภุมรินราชปักษีทางขวามือ จึงโดนแบ่งแยก และค่อยๆ กลายสภาพเป็นวัดร้าง เหลือตัวโบสถ์วิหารภายนอกเก่าแก่ทรุดโทรม (และกลายเป็นที่สำหรับจอดรถในปัจจุบัน)
ที่คุณ "ผีบ้า" เล่าให้ฟังนั้น ผมเข้าใจว่าน่าจะหมายถึง โบสถ์และวิหารเดิมของวัดภุมรินราชปักษี ส่วนพระอุโบสถของวัดดุสิดาราม (ซึ่งต้องเดินเลี้ยวซ้ายลึกเข้าไปอีกประมาณ 100 เมตร) ยังมีสภาพสมบูรณ์และได้รับการบูรณะเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม โบสถ์และวิหารของวัดภุมรินราชปักษี แม้จะมีสภาพรกร้างทรุดโทรม แต่ก็ถือเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายที่สวยมาก และสมควรได้รับการบูรณะ มากกว่าจะปล่อยทิ้งขว้างตามยถากรรมดังเช่นที่เป็นอยู่
โบสถ์วัดดุสิดาราม มีขนาดปานกลาง ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ ภาพมารผจญที่ผมชื่นชอบ อยู่บริเวณผนังตอนบนประตูทางเข้าด้านหน้าโบสถ์ หรือพูดง่ายๆ คือ ฝั่งตรงข้ามกับองค์พระประธาน
ภาพมารผจญส่วนใหญ่ นิยมเขียนไว้ตรงตำแหน่งนี้ ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางและมองเห็นชัดสุดไม่มีอะไรมาบดบังกีดขวางสายตา เนื่องจากเป็นฉากสำคัญ
จะมียกเว้นอยู่บ้าง เท่าที่ผมเคยดูมาก็คือ วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งวาดไว้ด้านหลัง และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วาดไว้บริเวณผนังด้านข้าง ระหว่างช่องหน้าต่าง ขนาดเท่ากับพุทธประวัติตอนอื่น ๆ ไม่ได้เน้นให้ใหญ่โตอลังการเป็นพิเศษ
สำหรับนักชมจิตรกรรมฝาผนังสาขามือใหม่หัดดู รูปมารผจญเป็นภาพที่เหมาะสุดในการประเดิมเริ่มต้นเลยนะครับ
แรกสุดก็คือ ตำแหน่งที่ตั้งค่อนข้างแน่ชัด เข้าโบสถ์วัดไหน เพียงแค่กลับหลังหัน แหงนเงยหน้าขึ้นไป ก็มักจะเห็นภาพนี้ได้ทันที
ถ้าทำตามแล้วไม่เจอ ก็แปลว่า โบสถ์แห่งนั้นวาดผนังเป็นเรื่องอื่น และไม่มีภาพมารผจญ รวมทั้งสามารถเดาเล่นๆ ต่อไปได้อีกว่า เป็นภาพจิตรกรรมที่เขียนขึ้นหลังจากสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งคติในการวาดเริ่มเปลี่ยนจากเรื่องชาดกและพุทธประวัติ แตกแขนงไปสู่ประเด็นอื่นๆ อย่างหลากหลาย แตกต่างจากขนบเดิม (ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) อย่างเด่นชัด
เหตุผลต่อมา องค์ประกอบของภาพมารผจญ ค่อนข้างเป็นที่จดจำและสังเกตได้ง่าย มีพระพุทธเจ้านั่งประทับอยู่กึ่งกลางตอนบน ถัดลงสู่เบื้องล่างในแนวเดียวกันเป็นรูปแม่พระธรณีบีบมวยผม
อาจระบุเป็นหลักเกณฑ์คร่าวๆ ได้ว่า จิตรกรรมฝาผนังภาพไหนมีแม่พระธรณีบีบมวยผม ภาพนั้นแหละครับคือ มารผจญ
ลำดับต่อมา ภาพมารผจญในจิตรกรรมฝาผนัง เป็นเหตุการณ์ตอนที่สนุก และสามารถเข้าใจเรื่องราวคร่าวๆ ได้ง่ายสุด
ที่สำคัญ ผมมีข้อสังเกตเป็นการส่วนตัว (ซึ่งอาจจะผิดก็ได้นะครับ)ว่า ภาพมารผจญ (และภาพเทพชุมนุม) ตามผนังโบสถ์วัดเด่นๆ หลายแห่ง มักจะเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ตอนอื่นๆ ซึ่งมักจะเลอะเลือนหรือกะเทาะหลุดร่อนเสียหาย
อธิบายได้ง่ายๆ ดังนี้คือ ผนังที่อยู่ด้านล่างใกล้พื้นโบสถ์ เช่น ระหว่างประตูและระหว่างช่องหน้าต่างมักโดนปัญหาความชื้นจากใต้ดินเล่นงานนะครับ ภาพเขียนส่วนใหญ่บริเวณนี้ จึงเสียหายไปเร็วกว่าจุดอื่นๆ
ภาพมารผจญซึ่งวาดไว้เหนือขอบประตูด้านบน ถือว่าฮวงจุ้ยดีนะครับ จึงเจอปัจจัยที่ทำให้ภาพเสียหายแค่เพียงอย่างเดียว คือ ปัญหาหลังคารั่ว น้ำฝนรั่วซึมลงมาหยดชะล้างสีจนเลอะเลือน
ประการสุดท้าย ภาพมารผจญแทบทุกแห่ง มักจะวาดตามขนบแบบแผนค่อนข้างเคร่งครัด ดูเผินๆ ผ่านๆ ก็เหมือนกันหมด ทว่าเมื่อพิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้ว ทุกแห่งมีทีเด็ดลูกเล่นผิดแผกแตกต่างอยู่เยอะ เหมาะอย่างยิ่งในการฝึกสายตา แยกแยะค้นหาความเหมือนความต่าง เทียบเคียงฝีมือครูช่างแต่ละท่าน
ภาพดังกล่าวจึงเทียบเคียงได้กับโรงเรียนอนุบาล สำหรับมือใหม่หัดดูจิตรกรรมฝาผนังอย่างผม
...
(ป.ล. รูปประกอบบทความชิ้นนี้ ผมนำเอารายละเอียดบางส่วนของมารผจญที่วัดชมภูเวก ซึ่งอยู่ในรูปเดียวกับแม่พระธรณีที่สวยที่สุดในโลก มาให้ดูเล่นเรียกน้ำย่อยไปพลางๆ ก่อน)
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9520000061158
See all the ways you can stay connected to friends and family
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น