"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โพลชี้ ปชช.อยากให้เร่งจัดระเบียบ "ผู้ลี้ภัย-หลบหนีเข้าเมือง" เชื่อจนท.บางส่วนมีผลประโยชน์

วันที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 13:49:00 น.  มติชนออนไลน์

โพลชี้ ปชช.อยากให้เร่งจัดระเบียบ "ผู้ลี้ภัย-หลบหนีเข้าเมือง" เชื่อจนท.บางส่วนมีผลประโยชน์

เอแบคโพล เผยผลสำรวจความเห็นปชช.ส่วนใหญ่เชื่อ จนท.รัฐมีผลประโยชน์ต่อการซื้อ-ขายมนุษย์ โดยเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งจัดระเบียบผู้หลบหนีเข้าเมือง-ผู้ลี้ภัย เพราะที่ผ่านมานโยบายรัฐยังดีไม่พอ


มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย "เอแบคเรียลไทม์โพลล์ (Real-Time Survey)" เรื่องขบวนการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว และผู้ลี้ภัยในการรับรู้ และความตระหนักของสาธารณชนคนไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ" ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  เชียงใหม่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี ขอนแก่น  ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู พัทลุง ระนอง สุราษฎร์ธานี  จำนวนทั้งสิ้น 1,060 ครัวเรือน

ผลการสำรวจพบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 88.7 ระบุติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ เมื่อถามถึงแหล่งที่ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับเรื่อง "ผู้ลี้ภัย" ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.2 รับทราบผ่านทางสื่อมวลชนต่างๆ รองลงมาคือ ร้อยละ 49.0 ระบุทราบจาก เพื่อน คนรู้จัก เพื่อนบ้าน ร้อยละ 47.8 ทราบจากการพบปะพูดคุยกับคนในชุมชน ร้อยละ 37.0 ทราบจากพ่อแม่ญาติพี่น้อง ร้อยละ 31.6 ทราบจากหน่วยงานของรัฐ และร้อยละ 31.2 ทราบจากการอ่านหนังสือ ในขณะที่ร้อยละ 19.3 ทราบจากองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO เช่น มูลนิธิ สมาคม ชมรมต่างๆ และร้อยละ 9.9 ที่ไม่เคยรับข่าวสารเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเลย

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.3 คิดว่า "ผู้ลี้ภัย" คือ แรงงานต่างด้าวจากพม่า ลาว กัมพูชา เป็นต้น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.5 คิดว่า "ผู้ลี้ภัย" คือ กลุ่มคนที่หลบหนีเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย และร้อยละ 47.0 คิดว่า ผู้ลี้ภัยคือ ชาวเขา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดคลาดเคลื่อนไปจากความหมายที่แท้จริงของกลุ่มผู้ลี้ภัย

เมื่อคณะผู้วิจัยชี้แจงความหมายที่ถูกต้องของกลุ่มผู้ลี้ภัยแล้ว จึงถามต่อถึงความคิดเห็นต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของกลุ่มผู้ลี้ภัยเมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนคนไทยภายในประเทศแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.9 คิดว่า กลุ่มผู้ลี้ภัยต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกับประชาชนคนไทย ในขณะที่ ร้อยละ 12.1 ไม่คิดว่า ผู้ลี้ภัยต้องมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เหมือนคนไทย อย่างไรก็ตาม

เมื่อถามถึง การให้โอกาสและสิทธิด้านต่างๆ ต่อผู้ลี้ภัย และกลุ่มแรงงานต่างชาติที่หลบหนีเข้าเมืองมาพำนักอาศัยในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.0 ระบุไม่ควรให้โอกาสและสิทธิแก่ทั้งสองกลุ่มในเรื่องการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.6 ระบุไม่ควรให้โอกาสและสิทธิแก่ทั้งกลุ่มผู้ลี้ภัย และผู้ใช้แรงงานต่างชาติ ในเรื่องสิทธิการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ เป็นต้น

เมื่อถามถึงการให้อิสรภาพในการใช้ชีวิตได้เหมือนคนไทยทั่วไป พบว่า มีสัดส่วนไม่แตกต่างกัน คือร้อยละ 39.4 ระบุควรให้ทั้งสองกลุ่ม แต่จำนวนมากหรือร้อยละ 38.6 ระบุไม่ควรให้ทั้งสองกลุ่ม ในขณะที่ ร้อยละ 19.9 ระบุควรให้เฉพาะกลุ่มผู้ลี้ภัย ร้อยละ 0.8 ระบุควรให้กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมือง และร้อยละ 1.3 ไม่มีความเห็น

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.8 ระบุควรให้โอกาสและสิทธิด้านสุขภาพ แก่ทั้งกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้หลบหนีเข้าเมือง ในขณะที่ร้อยละ 13.4 ระบุไม่ควรให้ทั้งสองกลุ่ม แต่ร้อยละ 21.1 ระบุควรให้เฉพาะกลุ่มผู้ลี้ภัย ร้อยละ 1.3 ระบุควรให้เฉพาะกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมือง และร้อยละ 1.4 ไม่มีความเห็น

นอกจากนี้ ด้านการศึกษา พบว่า ร้อยละ 42.1 ระบุควรให้โอกาสและสิทธิทั้งสองกลุ่ม ร้อยละ 30.4 ระบุควรให้เฉพาะกลุ่มผู้ลี้ภัย แต่ร้อยละ 24.9 ระบุไม่ควรให้ทั้งสองกลุ่ม สำหรับด้านการทำงาน ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 37.5 ระบุควรให้ทั้งสองกลุ่มในขณะที่ร้อยละ 30.3 ระบุไม่ควรให้ทั้งสองกลุ่ม ร้อยละ 28.5 ระบุควรให้เฉพาะกลุ่มผู้ลี้ภัย ร้อยละ 2.5 ระบุควรให้กลุ่มคนหลบหนีเข้าเมือง และร้อยละ 1.2 ไม่มีความเห็น และด้านการให้ที่พักพิง พบว่า ร้อยละ 34.8 ระบุควรให้ทั้งสองกลุ่ม ร้อยละ 31.7 ระบุควรให้เฉพาะกลุ่มผู้ลี้ภัย  แต่ร้อยละ 30.6 ระบุไม่ควรให้ทั้งสองกลุ่ม และร้อยละ 1.6 ระบุควรให้เฉพาะคนหลบหนีเข้าเมือง และร้อยละ 1.3 ไม่มีความเห็น

ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.5 เชื่อว่ามี เจ้าหน้าที่รัฐในรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้มีผลประโยชน์ส่วนตัวในขบวนการค้ามนุษย์ (ซื้อ-ขาย) กลุ่มคนหลบหนีเข้าเมืองและผู้ลี้ภัย ในขณะที่ ร้อยละ 28.5 ไม่เชื่อว่ามี ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.6 เชื่อว่ามี เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และกลุ่มนายทุนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์กับกลุ่มที่หลบหนีเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย ในขณะที่ร้อยละ 11.9 ไม่เชื่อว่ามี และร้อยละ 2.5 ไม่มีความเห็น

ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.4 เห็นว่าจำเป็นมากถึงมากที่สุด ที่รัฐบาลไทยต้องเร่งจัดระเบียบกลุ่มคนหลบหนีเข้าเมืองและกลุ่มผู้ลี้ภัย เพื่อความมั่นคงของประเทศไทยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.5 คิดว่า นโยบายของรัฐบาลที่มีต่อกลุ่มผู้ลี้ภัยในปัจจุบันยังไม่ดีพอ ในขณะที่ร้อยละ 22.5 คิดว่ารัฐบาลมีนโยบายที่ดีพอแล้ว

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและประชาคมอาเซียนด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ คือ ประการแรก ประชาชนคนไทยมีความคิดว่ากลุ่มผู้ลี้ภัยและกลุ่มคนหลบหนีเข้าเมืองมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับคนไทย ดังนั้น โอกาสและสิทธิใดๆ ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นเช่น การศึกษา โอกาสในการทำงาน แหล่งที่พักพิง และการดูแลรักษาสุขภาพ จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยเปิดโอกาสให้มีได้กับกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้หลบหนีเข้าเมือง เพียงแต่ว่า รัฐบาลต้องมีนโยบายควบคุมดูแลให้ดี อย่าให้มีปัญหาการค้ามนุษย์เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายเช่นในปัจจุบัน

ส่วนประการที่สองคือ โอกาสที่ประชาชนคนไทยจะยอมรับและหนุนเสริมบรรยากาศดีๆ ในประชาคมอาเซียนมีสูงมาก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่มีหน้าที่สำคัญในกลุ่มประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียจะช่วยกันนำความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่ค้นพบครั้งนี้ไปขับเคลื่อนต่ออย่างไรหรือไม่ เพราะอย่างน้อยที่สุดผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนคนไทยยังคงมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อชาวต่างชาติ ถ้ากลุ่มผู้ลี้ภัยได้เข้ามาพักพิงและทำคุณประโยชน์ต่อสังคมไทย ก็จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างประชาชนต่อประชาชนในประชาคมอาเซียนได้ และความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันย่อมเกิดขึ้นไม่ยากจนเกิดไปนัก


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1244011775&grpid=01&catid=04


What can you do with the new Windows Live? Find out

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew