"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อดีต ปัจจุบัน ของ พระปฐมเจดีย์ และ นครปฐม ในอนาคต

วันที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11408 มติชนรายวัน


อดีต ปัจจุบัน ของ พระปฐมเจดีย์ และ นครปฐม ในอนาคต


คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม



ปรับปรุงจากหนังสือ ทวารวดีศรีนครปฐม ของศูนย์การเรียนรู้ทวารวดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โทรศัพท์และโทรสาร 0-3426-1059 ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ : dvaravati@npru.ac.th

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุกูล ชมภูนิช หัวหน้าศูนย์

รองศาสตราจารย์ ดร.ชำนาญ รอดเหตุภัย รองหัวหน้าศูนย์




เมืองนครปฐม มีสิ่งสำคัญอยู่ 3 แห่งคือ องค์พระปฐมเจดีย์ พระราชวังสนามจันทร์ และเมืองโบราณนครไชยศรี

โดยรอบรัศมี 1 กิโลเมตร จากองค์พระปฐมเจดีย์กำลังเติบโตไปด้วยอาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างที่มีความสูงเกินกำหนดกฎหมายของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่กำหนดไว้ไม่เกิน 12 เมตร เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้มีความสูงแข่งกับองค์พระปฐมเจดีย์ซึ่งเป็นโบราณสถานของชาติที่สำคัญยิ่ง ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบ เกิดทรรศนะอุจาดอยู่ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นความสูง และความสกปรกรกรุงรังของเสาไฟ สายโทรศัพท์ และงานเสาโทรทัศน์บนอาคาร

บนภาคพื้นดินเต็มไปด้วยตรอกซอกซอยที่ไม่เป็นระเบียบของร้านค้า และการจอดรถยนต์ ฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่จำนวนมากในเขตอำเภอเมืองปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองทุกสาย จนทำให้คลองคูเมือง และคลองเจดีย์บูชาเต็มไปด้วยน้ำคลำสีดำส่งกลิ่นเหม็นทั่วไป นอกจากนั้นยังมีแหล่งเริงรมย์อบายมุขอยู่ไม่ไกลจากพุทธสถานอันสำคัญของชาติที่ได้ขึ้นชื่อว่าเมืองพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ความพยายามที่จะส่งเสริมให้องค์พระปฐมเจดีย์รับการยกย่องเป็นมรดกโลกนั้นมีโอกาสน้อยลง

จังหวัดนครปฐมและองค์พระปฐมเจดีย์ เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในแง่เจดีย์ที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในโลก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงตั้งพระทัยจะให้คนทั่วโลกรู้จักพุทธศาสนา หรือให้คนไทยช่วยกันดำรงและยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าตลอดไป นับตั้งแต่วันนั้นถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 154 ปีแล้ว (พ.ศ.2397-2551) แต่คนไทยส่วนใหญ่ยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าน้อยลง

การมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ กลับกลายเป็นมาเที่ยวซื้อสินค้าที่ทางวัดจัดขึ้นมากกว่าการมารับเอาหลักธรรมไปปฏิบัติ ถึงแม้ทางวัดจะจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้พุทธศาสนิกชนทำบุญด้วยเงินกันเป็นส่วนใหญ่ จนทำให้เกิดความเข้าใจไปว่า การที่คนเราจะได้บุญนั้นต้องมีเงินไปทำให้เกิดบุญ สละเงินจำนวนมากก็จะได้บุญมาก เหมือนกับเอาเงินไปซื้อบุญ วิธีนี้ก็มิใช่เป็นการสืบสานพุทธศาสนาที่ถูกวิธี เป็นเพียงแต่ให้ทำทาน

ส่วนการรักษาศีลและการภาวนา ประชาชนไม่ได้รับไปจากการมาบำเพ็ญบุญที่นี่เลย จึงเป็นการหลงทางบุญไปอย่างน่าเสียดาย

เมืองนครปฐม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเมืองโบราณสมัยทวารวดีในอดีต ขณะนี้บ้านเมืองเต็มไปด้วยผู้คนและสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ สร้างทับซ้อนสิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนาในอดีตซึ่งจมอยู่ใต้ดิน

แต่นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน และทางจังหวัดเองก็ยังต้องพึ่งพาโบราณวัตถุ โบราณสถานดั้งเดิมอย่างโหยหาแบบมักง่ายโดยไม่คิดลงทุน ดังนั้นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาเมืองนครปฐม ถ้าไม่สำเหนียกเรื่องประวัติศาสตร์ของเมืองนครปฐมแล้วต่อไปภายหน้าจะเอาอะไรมาอวดชาวต่างชาติ และพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างไร


เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เป็นไปทั่วทั้งสังคมไทย นครปฐมไม่น่าจะปล่อยให้เป็นเช่นนั้น เพราะที่นี่เป็นเมืองที่พิเศษกว่าเมืองอื่น เนื่องจากใต้พื้นแผ่นดินตรงนี้มีประวัติศาสตร์ บรรพชนของเราได้สืบสานพระพุทธศาสนาติดต่อกันมาเกือบสองพันปี เหตุไฉนจังหวัดนครปฐมจึงไม่เชิดชูเอกลักษณ์ทางพุทธศาสนาให้โดดเด่นกว่าจังหวัดอื่น ปล่อยให้เกียรติยศชื่อเสียงสูญสลายไปกับซากโบราณสถานอันเก่าแก่

ทำไมไม่ทำวิกฤตเรื่องความเก่าแก่นั้นให้เป็นโอกาส

โอกาสที่จะปลุกคนให้หันมารักษาศีล รักษาธรรม หันมาตื่นตาตื่นใจกับประวัติศาสตร์ทางพุทธภูมิที่รุ่งเรืองในอดีตในรูปของการศึกษาหาความรู้เชิงท่องเที่ยวบ้าง เชื่อว่าเงินที่ได้จากการขายความงามขององค์พระปฐมเจดีย์ที่ผ่านมานั้น สามารถนำมาบูรณะสถูปเจดีย์โบราณให้น่าดูกว่านี้ได้ และอาจคิดจัดทำอุทยานประวัติศาสตร์ทวารวดีขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด

นอกจากนั้น ยังควรฟื้นฟูเมืองโบราณนครไชยศรีสมัยทวารวดีให้โด่งดังคู่กับองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างสัญลักษณ์ของทวารวดีให้คนเดินทางผ่านนครปฐมได้รู้ว่านครปฐมคือศูนย์กลางอารยธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนาในประเทศไทยตามถนนหนทางทุกสาย



อุทยานประวัติศาสตร์ทวารวดีควรเป็นอย่างไร?

นครปฐมควรสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ทวารวดีขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง น่าจะเป็นพื้นที่ภายในเมืองโบราณนครไชยศรี หรือบริเวณถนนเพชรเกษมช่วงที่ผ่านเมืองนครปฐมตั้งแต่บริเวณธรรมศาลาถึงทางแยกไปสุพรรณบุรี ใช้เนื้อที่ประมาณ 50-100 ไร่ โดยเฉพาะบริเวณทุ่งพระเมรุเหมาะสมที่สุด

การบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์นี้ อาจจะเป็นเจ้าของที่ดินเองหรือหน่วยราชการสำคัญๆ ของจังหวัดนครปฐมก็ได้ โดยมีจุดประสงค์ที่จะจัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ยุคทวารวดีกลางแจ้ง ให้เป็นประโยชน์สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั่วไป

รูปแบบหลักคือ นำเสนอความงามความแปลกใหม่ของพระเจดีย์ในอดีตที่เคยมีอยู่ในเมืองนครปฐมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น จุลประโทณเจดีย์ เจดีย์วัดพระเมรุ เจดีย์วัดพระงาม เจดีย์เนินพระรัตนธาตุเจดีย์ วัดธรรมศาลา พระประโทณเจดีย์แต่ละสมัย ซึ่งจะมีเกือบ 20 องค์ หรือ 20 แบบ โดยการสร้างจำลองขนาดเกือบเท่าของจริง นำเสนอโบราณวัตถุต่างๆ ในสมัยทวารวดี เช่น ธรรมจักรแบบต่างๆ พระพุทธรูป เทวรูปและสิ่งเคารพในศาสนาพราหมณ์ เช่น ศิวลึงค์ ตลอดจนแผ่นจารึกอักษรโบราณพวกคำสอน หรือคาถาในสมัยโบราณ ภาพปั้นในชาดกประดับเจดีย์ และเครื่องใช้ในวิถีชีวิตของคนในสมัยทวารวดี เป็นต้น


ภายในอุทยานให้มีที่จอดรถ ร้านจำหน่ายอาหาร และของที่ระลึก และบริการสาธารณะให้ความสะดวกสบายด้วยภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อสุขภาพจิต ถ้าเป็นเช่นนี้นครปฐมก็จะได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีสมชื่อกับประวัติศาสตร์ของเมืองนี้

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน จึงได้จินตนาการภาพอุทยานประวัติศาสตร์ทวารวดีขึ้นพอสังเขป เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างต่อไป ถ้ามีอุทยานประวัติศาสตร์ดังกล่าว นครปฐมก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าเดิม และมีเกียรติภูมิสมกับที่นักวิชาการกล่าวกันว่า "นครไชยศรี ศูนย์กลางอาณาจักรทวารวดีอยู่ที่นครปฐม"



คำนำ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยมีเมืองโบราณอยู่มากมายแต่ละเมืองในอดีต มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เช่น เชียงใหม่ สุโขทัย ลพบุรี นครปฐม และอยุธยา ปัจจุบันพื้นที่ของเมืองโบราณเหล่านี้ มีคนไทยยุคใหม่เข้าไปครอบครองที่ดินอย่างถูกกฎหมายเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดภาพของเมืองใหม่สร้างทับซ้อนบนซากของเมืองเก่า โบราณวัตถุ โบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมถูกทำลายลงอย่างน่าเสียดาย

ถึงแม้ว่ากรมศิลปากรจะประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติแล้วก็ตาม คนไทยปัจจุบันต่างรู้สึกว่าเขามิได้เป็นเจ้าของสมบัติของชาติเหล่านั้น จึงไม่อาทรร้อนใจกับการทำลายและการรุกล้ำแสวงหาประโยชน์ของผู้ที่เห็นแก่ตัว

ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์สมบัติอันล้ำค่าเหล่านั้นอย่างจริงจัง คงปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายแก่หลักฐานทางประวัติศาสตร์มากขึ้น คงเป็นเรื่องยากที่จะหาของมีค่าเหล่านั้นกลับคืนมาได้ในอนาคต เมื่อต้องการจะเชิดชูเกียรติภูมิของชาติ ก็ขาดหลักฐานที่จะแสดงต่อโลก อยากจะใช้ประโยชน์จากโบราณสถานให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ลำบากที่จะทำ ถ้าของเก่าเหล่านั้นหมดไปแล้ว

ชาวนครปฐมที่รัก ผืนแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของเรานั้น มีอดีตที่รุ่งโรจน์ด้วยแสงแห่งอารยธรรมของ "ทวารวดี" ผืนแผ่นดินนี้เคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี มีความรุ่งเรืองทางด้านพุทธศาสนาช่วยหล่อหลอมให้ผู้คนมีแต่ใจบุญสุนทาน สร้างวัดสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ๆ มากมาย ซึ่งปัจจุบันยังหลงเหลือจากเงื้อมมือของคนใจบาปซึ่งทำลายไม่หมดอยู่อีกเกือบสิบองค์ เพียงซากที่เหลือไม่มากแต่ก็พอจะเป็นประจักษ์พยานอันสำคัญที่บ่งบอกว่าดินแดนนครปฐมนั้นยิ่งใหญ่อย่างไรในอดีต

เมืองโบราณที่นครปฐมนี้ สันนิษฐานว่าคือเมืองนครไชยศรี ตั้งอยู่ ณ บริเวณพระประโทณเจดีย์ มีหลักฐานสำคัญจำนวนมากคู่กับองค์พระปฐมเจดีย์ หากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงบูรณะมหาเจดีย์ที่ทรงพบ และต่อมาได้โปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า พระปฐมเจดีย์แล้ว พระเจดีย์นี้ก็คงเหลือแต่ซากเช่นเดียวกับวัดพระเมรุ หากเป็นเช่นนั้นจังหวัดนครปฐมหรือเมืองนครปฐมปัจจุบันก็คงจะเกิดมีขึ้นมิได้

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ตระหนักในเรื่องดังกล่าว จึงสนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทวารวดี เพื่อทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำข้อมูลลักษณะต่างๆ เผยแพร่ความรู้แห่งบ้านเมืองนี้ให้ชาวนครปฐมทราบโดยทั่วกัน เพื่อให้เกิดความรู้และความภาคภูมิใจ โดยหวังว่าเมื่อเกิดความเข้าใจตรงกัน ร่องรอยแห่งอารยธรรมทวารดี อันรุ่งเรืองก็จะฉายแสงชัดเจนขึ้น และบังเกิดเป็นความดีงามแก่ชาวนครปฐมอย่างแน่นอน

ศูนย์การเรียนรู้ทวารวดี

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

1 ตุลาคม 2551



พระปฐมเจดีย์

เมื่อครั้งที่ชาวอินเดียนำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังสุวรรณภูมิ (บริเวณนครปฐม-อู่ทอง) คงต้องสร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ให้เป็นพุทธานุสรณ์สำหรับการกราบไหว้บูชา รูปแบบสถูปจึงควรเป็นอย่างเดียวกับสถูปที่เมืองสาญจีของอินเดีย สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

เมื่อกาลเวลาผ่านมาประมาณห้าร้อยปี สถูปองค์แรกนี้ย่อมพังทลายลง การซ่อมบูรณะขึ้นใหม่คงต้องเป็นฝีมือของคนพื้นถิ่นที่มีความนิยมในรูปแบบของเจดีย์ชาวลังกาทวีป ซึ่งก็เลื่อมใสในพุทธศาสนาแบบหินยานเถรวาทเช่นเดียวกับชาวทวารวดีที่สุวรรณภูมิเช่นกัน ลักษณะของเจดีย์จึงเป็นคล้ายระฆังทับด้วยแท่นสี่เหลี่ยมเป็นบัลลังก์ แล้วต่อด้วยฉัตรตั้งขึ้นเป็นส่วนยอด

เมื่อกาลเวลาผ่านมาอีกประมาณห้าร้อยปี พุทธศาสนาแบบมหายานและลัทธิฮินดูมีอิทธิพลมากขึ้น การสร้างสถูปเจดีย์มีความโน้มเอียงให้มีรูปแบบของปราสาทขอมเข้ามาผสมผสาน การบูรณะเจดีย์ขึ้นมาใหม่จึงต่อยอดเจดีย์องค์นี้ให้มียอดเป็นพระปรางค์คล้ายปรางค์ขอมตามอย่างที่กรุงสุโขทัยกำลังนิยมกัน ซึ่งผู้มาซ่อมแปลงครั้งนี้ คือ สมเด็จมหาเถรศรีศรัทธาราช จุฬามมุนีฯ แห่งกรุงสุโขทัย ทำให้เจดีย์องค์นี้เป็นมหาธาตุหลวงของกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนมานมัสการมิได้ขาด

จวบจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เสด็จฯมาพบ จึงได้ทรงทำการบูรณะเจดีย์องค์นี้ขึ้นใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเดิม เป็นทรงลังกากลมสูง 120.45 เมตร ดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้


หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01040652&sectionid=0131&day=2009-06-04



See all the ways you can stay connected to friends and family

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew