"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การ"รายงานข่าว"ในสถานการณ์ขัดแย้ง มุมมองจาก"สื่ออินเดีย"

วันที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11408 มติชนรายวัน


การ"รายงานข่าว"ในสถานการณ์ขัดแย้ง มุมมองจาก"สื่ออินเดีย"


โดย นงนุช สิงหเดชะ



ช่วงระหว่างวันที่ 24-29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เดินทางไปยังกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ตามคำเชิญของมูลนิธิฟรีดริค แอแบร์ท เพื่อร่วมในโครงการศึกษาดูงานที่ชื่อว่า "ความหลากหลายของสื่อและการสร้างสันติภาพในอินเดีย" ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ของงานจะเน้นถึงแนวทางปฏิบัติของนักข่าวมืออาชีพในการรายงานข่าวว่าควรจะทำอย่างไร เมื่อต้องรายงานข่าวในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง

อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษา ศาสนา และชนชาติและก็ต้องยอมรับว่ามีความขัดแย้งในกลุ่มผู้นับถือศาสนาอยู่เนืองๆ ดังนั้น สื่อของอินเดียจึงเป็นสื่อที่มีความหลากหลายอย่างมาก โดยเฉพาะด้านภาษาเพื่อตอบสนองของกลุ่มเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่สื่อเช่นทีวีจะมีให้บริการกว่า 100 ภาษา โดยมีภาษาฮินดีเป็นภาษาของชาติที่ใช้โดยประชาชนส่วนใหญ่ ส่วนภาษาอังกฤษเป็นภาษาในวงราชการและธุรกิจ

ขณะเดียวกันมีภาษาทางการอีก 14 ภาษา ที่ใช้กัน เช่น อูรดู เบงกาลี ทมิฬ ไม่นับภาษาท้องถิ่นอีกนับ 100 ภาษา นี่เป็นข้อแตกต่างจากประเทศไทยที่มีภาษาทางการเพียงภาษาเดียว และด้วยขนาดของประชากร 1.1 พันล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ทำให้อุตสาหกรรมสื่อของอินเดียไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือทีวี เติบโตรวดเร็วอย่างน่าตะลึงตะลาน หนังสือพิมพ์บางฉบับมีมากถึง 21 กรอบในแต่ละวัน บางฉบับเปิดตัววันแรกก็ขายได้ถึง 7 ล้านฉบับ ฉบับยอดนิยมบางรายมีผู้อ่านต่อวัน 29 ล้านคน

ตลอด 4-5 วัน ของการสัมมนานั้น ต้องยอมรับว่า "แน่น" ไปด้วยเนื้อหาจริงๆ เพราะเจ้าภาพเชิญนักข่าวที่มากประสบการณ์ของอินเดียมาบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ฟัง ซึ่งแต่ละวันมีผู้ได้รับเชิญมาพูดเกือบ 10 คน ใครหูไม่คุ้นกับสำเนียงภาษาอังกฤษแบบอินเดียรับรองว่าต้องปวดหัวแน่ๆ เพราะฟังยากจริงๆ ยิ่งถ้าเจออังกฤษแบบอินเดียขนานแท้ดั้งเดิมแบบไม่ประยุกต์เลยรับรองว่าฟังไม่ออกสักคำ

มีเรื่องเล่ากันขำๆ (แต่เป็นเรื่องจริง) ว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงของไทยที่ไปประจำตำแหน่งในอินเดีย ยังฟังภาษาอังกฤษของคนอินเดียไม่ออกเลย ทั้งที่เจ้าหน้าที่คนนี้ภาษาอังกฤษดีเลิศเพราะไปเรียนเมืองฝรั่งตั้งแต่เด็ก

หัวข้อสัมมนา มีการพูดถึงตัวอย่างที่ดีและเลวในการรายงานข่าวในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง บทบาทของสื่อในการป้องกันและแก้ปัญหาความขัดแย้ง,สื่อจะสามารถรายงานข่าวความขัดแย้งโดยปลอดจากการฝักใฝ่ทางการเมืองได้หรือไม่

เนื้อหาโดยสรุปจากการสัมมนาครั้งนี้ผู้เขียนก็เห็นว่าหลักปฏิบัติสากลของสื่อทั่วโลกในการรายงานข่าวในสถานการณ์ขัดแย้งนั้นก็ล้วนเหมือนกันคือ ต้องมีความถูกต้องของข้อมูล,ต้องพูดความจริง,ต้องมีความเป็นมืออาชีพ,ต้องมี Objectivity คือยึดข้อเท็จจริงล้วนโดยไม่เอาความเป็นส่วนตัวไปเกี่ยวข้อง,ต้องเคารพต่อวัฒนธรรมอื่น และที่ขาดไม่ได้คือเรื่องจริยธรรม

Sudeep Chakravarti หนึ่งในนักข่าวที่มาร่วมบรรยายในเวทีนี้ บอกไว้อย่างน่าสนใจว่า ตัวเขานั้นพยายามจะรายงานข่าวโดยให้ข้อมูลมีความสมดุล คือเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย และเมื่อข้อมูลสมดุลแล้วเขาเองก็ไม่แคร์ว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะชอบหรือรักเขา ถ้าทั้งสองฝ่ายชอบเขาก็แฮปปี้ แต่ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในสถานการณ์ขัดแย้งเกลียดเขาเพราะข่าวของเขา ตัวเขาก็ยังแฮปปี้

ในประเด็นที่ว่าสื่อต้องพูดความจริงนั้น มุมมองของ Sudeep น่าสนใจ เขาบอกว่า "ความจริง" มีหลายระดับ ขึ้นกับมุมมองและการตีความของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ความจริงของพวกฝ่ายขวา อาจไม่ใช่ความจริงในมุมมองของฝ่ายซ้าย ความจริงของฝ่ายกลางๆ อาจไม่ใช่ความจริงในความรู้สึกของฝ่ายขวา เป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ในเมืองไทยขณะนี้ โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์เผาเมืองเดือนเมษายน ที่แม้บางฝ่ายจะพูดให้ปากฉีก มีพยานหลักฐานมาแสดงอย่างชัดเจน แต่คนกลุ่มหนึ่งก็พยายามจะบิดเบือนและบอกว่านั่นไม่ใช่ความจริง เช่น อ้างว่านายกรัฐมนตรีไม่อยู่ในรถในวันที่ถูกพวกบ้าคลั่งรุมทุบทำร้ายขบวนรถนายกฯที่กระทรวงมหาดไทย

คนที่พูดได้อย่างตรงไปตรงมาอีกคนหนึ่งก็คือ Satya Sivaraman นักข่าวอิสระและที่ปรึกษาของยูเอ็นด้านศรีลังกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนนี้เคยอยู่เมืองไทยระยะหนึ่ง Satya พูดอย่างขำๆ ว่า สื่อต้องรายงานความจริง แต่ในชีวิตจริง "ความจริง" ไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน ทำไมสื่อต้องออกทุกวัน เช่นหนังสือพิมพ์ทำไมต้องมีทุกวัน ที่เขาพูดอย่างนี้ก็เพราะว่าการที่สื่อต้องรายงานทุกวัน จะมีข้อจำกัดในการหาความจริงทำให้เกิดความผิดพลาดได้ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะทำงานวันนี้แล้วหยุดไปอีก 2-3 วัน หรือ 1 สัปดาห์แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่เมื่อหาความจริงได้แล้ว

Satya ยังตั้งคำถามอีกว่า ทำไมในวงการสื่อ มีแต่ deadline (เส้นตาย) ทำไมไม่มี livingline (เส้นเป็นหรือเส้นมีชีวิต) บ้าง เรียกเสียงฮาได้ดีทีเดียว

เขาสรุปว่า กรณีของการรายงานข่าวในสถานการณ์ขัดแย้งนั้น ถึงแม้สื่อจะไม่สามารถช่วยแก้ไขความขัดแย้งได้ แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรสร้างความขัดแย้งเสียเอง ในบางสถานการณ์สื่อควรมีสิทธิในการเงียบบ้าง (the right to silence)

กรณีผู้ก่อการร้าย (ที่ต่อมาปรากฏว่าเป็นชาวปากีสถาน) โจมตีโรงแรมในเมืองมุมไบของอินเดีย จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 170 คน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ได้ก่อให้เกิดคำถามและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการทำหน้าของสื่อทีวีในอินเดีย เพราะการที่ทีวีของอินเดีย (ซึ่งมีเสรีภาพมาก) เกาะติดปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทุกขั้นตอนในการปราบคนร้ายที่อยู่ในโรงแรม ด้วยการถ่ายทอดสดทุกแง่มุมนั้น กลายเป็นผลเสียต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพราะกลายเป็นว่าทำให้เครือข่ายก่อการร้ายที่ได้ดูภาพจากทีวี สามารถประสานงานกับผู้ก่อการร้ายที่อยู่ภายในโรงแรมว่าจะรับมือกับเจ้าหน้าที่ของอินเดียอย่างไร

กรณีมุมไบทำให้สื่ออินเดียมีความระมัดระวังมากขึ้นในสถานการณ์เฉพาะเช่นนี้ โดยแนวทางที่ดีที่สุดคือไม่ควรเผยแพร่ภาพของเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติการแบบสดๆ แต่ควรดีเลย์หรือดึงภาพไว้ระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยเผยแพร่ภายหลัง ไม่ใช่เผยแพร่สดๆ

อีกประการหนึ่งที่เป็นประเด็นโต้แย้งกันมากคือสมควรหรือไม่ที่กรณีโจมตีมุมไบนั้น สื่ออินเดียจะให้พื้นที่สื่อแก่ผู้ก่อการร้ายด้วยการสัมภาษณ์ออกอากาศ ทั้งที่คนเหล่านี้ทำร้ายประเทศอินเดีย เรื่องนี้นำไปสู่หัวข้อว่าด้วยการรักชาติหรือไม่รักชาติ ซึ่งนักข่าวบางส่วนก็มีความเห็นโต้แย้งกัน เช่น บางคนยึดตามทฤษฎีคือให้ทุกฝ่ายได้โผล่หน้าออกสื่อ ไม่ว่าจะโจรหรือคนดี ไม่ว่าจะเป็นพวกโกหกหรือพวกพูดความจริง อีกคนก็บอกว่าในสถานการณ์เฉพาะนั้น ควรคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก

ประเด็นนี้คงเหมือนกับที่เกิดในเมืองไทย ที่ยังมีข้อถกเถียงกันว่าสื่อสมควรจะให้พื้นที่แก่พวกหัวครก หัวขวดทั้งหลาย ที่บ่อยครั้งมักพูดไม่จริงหน้าตาเฉยทุกวันหรือไม่


หน้า 6
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01040652&sectionid=0130&day=2009-06-04

Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew