"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ปรับระบบดูแลสินค้าเกษตร จากรับจำนำ...สู่ประกันราคา ตัดวงจรขาดทุนซ้ำซาก

วันที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11412 มติชนรายวัน


ปรับระบบดูแลสินค้าเกษตร จากรับจำนำ...สู่ประกันราคา ตัดวงจรขาดทุนซ้ำซาก


โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ




"รัฐบาลไม่มีเงินมากพอที่จะใช้ระบบการรับจำนำสินค้าเกษตรต่อไป การเริ่มระบบประกันเป็นสัญญาณว่า รัฐบาลไม่มีเงิน"

หมายเหตุ : นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ รักษาการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ถึงรายละเอียดการประกันราคาสินค้าเกษตร หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนมีมติอนุมัติการประกันราคาข้าวหอมมะลินาปี และได้เสนอรายละเอียดในที่ประชุมคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

ความคืบหน้าโครงการประกันราคาฯ

คณะทำงานได้ประชุมร่วมกัน 3 ครั้งแล้ว แต่ติดสองเรื่อง คือ ราคาประกันจะประกาศราคาใด โดยในหลักการจะดูต้นทุนการผลิตข้าวหอมมะลิเป็นหลัก รวมกับค่าจ้างแรงงาน บวกกับรายได้ที่ชาวนาควรได้รับประมาณ 20% ซึ่งที่มีเป็นตัวเลขหลายจังหวัด แต่เราต้องการตัวเลข 8 จังหวัดอีสานใต้ที่จะนำร่องโครงการคือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา และร้อยเอ็ด เพื่อดูว่า แต่ละแห่งมีต้นทุนแตกต่างกันอย่างไร หากไม่มากก็จะคิดค่าเฉลี่ยและประกาศ

ส่วนที่ 2 คือ ราคาตลาดที่จะให้เกษตรกรมาเคลม กรณีที่ราคาตลาดต่ำ ซึ่งกำลังดูว่าจะประกาศราคาเท่าใด โดยมีแนวคิด 2 ส่วนคือ ประกาศโดยกรรมการส่วนกลาง จะใช้ราคาเมื่อเดือนธันวาคม หรือจะให้กรรมการระดับจังหวัดเป็นคนประกาศ อาจจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ขึ้นกับแต่ละพื้นที่ อาจจะเป็นหลักร้อยบาท ซึ่งกำลังให้เจ้าหน้าที่ดูข้อดีข้อเสีย เพราะราคากลางจะชัดเจน แต่ไม่ยืดหยุ่น หากให้แต่ละจังหวัดประกาศ อาจจะมองว่า ทำไมบางจังหวัดยืดหยุ่นมาก คาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะได้ข้อสรุป

ทำไมเลือก 8 จังหวัดอีสานใต้

8 จังหวัดที่นำร่อง เพราะเกษตรกรทำข้าวหอมมะลิ และมียุ้งฉาง โดยในแต่ละปีมีข้าวประมาณ 26-27 ล้านตัน มีข้าวหอมมะลิ 8-9 ล้านตัน และใน 8 จังหวัดประมาณ 5-6 ล้านตัน จึงตั้งเป้าเพียง 200,000 ตันหรือคนละ 10 ตัน เพราะในพื้นที่จะใช้ระบบสมัครใจ หากไม่ประกัน ก็เข้าระบบจำนำเหมือนเดิม แต่ในหลักการ ราคาประกันต้องสูงกว่าราคาจำนำอย่างน้อย 1,000 บาท เพื่อจูงใจให้เกษตรกรอยากประกันมากกว่าจำนำ ถือเป็นเงื่อนไขให้หันมาร่วมโครงการนี้และส่งเสริมให้ระบบตลาดปกติทำงาน โดยปีแรกเกษตรกรไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกัน แต่ในปีถัดไปอาจคิดที่ 0.1% ของราคาประกัน หรือชาวนาจะจ่ายปีละ 100 บาท เพื่อให้ชาวนารู้สึกมีส่วนร่วมในส่วนราคาประกัน

=โครงการจะเริ่มได้เมื่อใด

ปลายมิถุนายนนี้น่าจะเริ่มประชาสัมพันธ์ได้ และน่าจะเริ่มให้เกษตรกรเข้าโครงการได้เดือนกรกฎาคม ซึ่งตั้งใจยืดเวลาไว้ เพื่อให้เริ่มตรงกับกระบวนการผลิต เพราะหากเริ่มก่อนกรกฎาคม แล้วเจ้าหน้าที่ไปตรวจพื้นที่ ก็จะตรวจที่ดินเปล่า แต่จะปลูกจริงหรือเปล่าไม่รู้ หากโครงการเริ่มกรกฎาคม เกษตรกรจะเริ่มหว่าน และมีต้นกล้าให้เห็นแล้ว เพราะ ธ.ก.ส.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแปลงนาจริงและผลการปฏิบัติไปจนได้เป็นเมล็ดข้าวเปลือก และระหว่างทาง ธ.ก.ส.จะให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนอื่นๆ ด้วย

เกษตรกรมีความสนใจหรือไม่

สัปดาห์ก่อน ไปประชุมสัมมนาวิชาการที่ขอนแก่น เขาสนใจ และเรียกร้องว่าจะมีมากกว่า 8 จังหวัด แต่เห็นด้วยกับการประกันราคา เพราะ ธ.ก.ส.จะมาประกบกับเกษตรกรเป็นคนๆ รับประกันว่า แปลงนาจริง เจ้าของจริง ดีกว่าของเดิมที่มั่ว ใครจะขึ้นทะเบียนก็ได้ ปลูกหรือไม่ปลูกก็ไม่รู้ เป็นพ่อค้าก็มาขึ้นทะเบียน ซึ่งไม่ถูก ถ้าแบบนี้ เห็นชัดว่าคนอื่นไม่มีโอกาสมาสวมสิทธิ และเงินหลวงไม่เสีย ไม่เปลืองงบประมาณแผ่นดิน

สำหรับบางส่วนที่ต่อต้าน เพราะไม่เข้าใจเรื่องประกันราคา เพราะมีความคิดว่า 1.ตอนที่เราบอกว่า ประกันราคาขั้นต่ำ แสดงว่า ต่อไปจะไม่มีสูง กลัวว่าราคาข้าวจะไม่สูงขึ้นอีก ซึ่งชื่อเป็นเรื่องสำคัญ เลยจะเปลี่ยนใหม่เป็น โครงการสร้างหลักประกันความเสี่ยงด้านราคา 2.หากทำประกันราคาแล้ว ชาวบ้านไม่รู้เรื่องความแตกต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาด เช่น ราคาประกัน 14,000 บาท แต่ราคาจริงอยู่ที่ 12,000 บาท เขาเข้าใจว่าได้แค่ 2,000 บาท พอเวลาขายจริงพ่อค้าให้ราคา 10,000 บาท จะทำอย่างไร เพราะเขาได้แค่ 2,000 บาท แต่มีหนี้กับ ธ.ก.ส.อยู่ 200,000 บาท ซึ่งผมได้อธิบายว่า ไม่ต้องห่วงหนี้ ธ.ก.ส. ถ้ามีข้าวอยู่ในยุ้งฉาง ธ.ก.ส.ก็ให้กู้ เพราะในสถิติ 10-20 ปีย้อนหลัง ราคาข้าวหอมมะลิจะต่ำสุดในเดือนธันวาคม หลังจากนั้นจะขึ้นสูงตลอด พี่น้องที่มีข้าว ธ.ก.ส.ให้กู้อยู่แล้ว ขอแค่ให้เก็บข้าวให้ดี

จะมีปัญหาเรื่องพ่อค้ากดราคาอีกหรือไม่

ที่กลัวว่า พ่อค้าจะไม่ให้ในราคาตลาด ไม่น่ากลัว เพราะมีนายกสมาคมโรงสี เขายินดีสนับสนุน จะมีโรงสีอ้างอิงในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 3-4 แห่ง ที่จะคัดเลือกขึ้นมา จะใช้ราคาอ้างอิง จะไม่กดราคาชาวบ้าน โดยจะดูจากประวัติการซื้อขายข้าวหอมมะลิ และบางแห่งมีสัญญากับผู้ส่งออกอยู่แล้ว เขาก็อยากได้ข้าวคุณภาพดี เพื่อส่งออก โดยจะมีการประกาศรายชื่อโรงสี และประกาศราคาหน้าโรงสีทุกวัน และให้เขาแจ้งมาที่เราด้วย ส่วนเราเองก็จะมีรายการวิทยุ ประกาศราคาให้เกษตรกรรู้ทุกวัน จึงไม่น่าห่วง เพราะหากราคาประกัน 14,000 บาท แล้วโรงสีประกาศ 12,000 บาทและชาวบ้านเอาไปขายเองที่ 10,000 บาท เพื่อมารับส่วนต่างอีก ก็ต้องมีคำถามว่า ทำไม ในเมื่อมีที่รับซื้อในราคาที่สูงกว่านั้นในจังหวัด แต่กลับไม่ขาย ทั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่มีการฮั้วกันระหว่างชาวบ้านกับโรงสี เพราะมีระบบการประกาศที่ชัดเจนและมีการติดตามล่วงหน้า

การประกันราคาจะช่วยลดภาระรัฐบาลได้เพียงใด

ระบบจำนำ รัฐบาลจะจ่ายทันที เมื่อนำมาจำนำ เช่นในเดือนพฤศจิกายน ใครที่มาจำนำก็รับไปทันที 14,000 บาท ขณะที่การประกัน เดือนธันวาคม เราจะจ่ายแค่ 1,000-2,000 บาท เพราะระบบจำนำ นอกจากเป็นระบบเหมาจ่าย 14,000 บาทแล้วรัฐบาลยังต้องจ่ายค่าจ้างสีอีก 500 บาทต่อตัน ค่าขนส่งจากโรงสีไปโกดังกลางแต่ละพื้นที่ และค่าเช่าโกดังอีก 20 บาทต่อกระสอบต่อเดือน ค่ารมยาเพื่อป้องกันมอด และค่าสำรวจและตรวจเก็บข้าวสาร นอกจากนั้นยังมีปัญหาการระบายข้าว จะขายขาดทุนเท่าใด มากหรือน้อย เพราะจะขายขาดทุนทุกบาทอยู่แล้ว จากที่รับจำนำสูงกว่าราคาตลาด

ขณะที่การประกัน จะประกาศประกันราคาขั้นต่ำ กำหนดจากราคาในเดือนธันวาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ราคาข้าวหอมมะลิต่ำที่สุด หลังจากนั้นราคาจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รัฐบาลจะจ่ายเพียงส่วนต่าง หากราคาในตลาดสูงกว่าราคาประกัน เกษตรกรก็สามารถนำข้าวไปขายในท้องตลาดได้ และรัฐบาลไม่ต้องรับภาระต่างๆ ตามมาอีก เพราะทั้งการขนส่ง การสีเป็นเรื่องที่เกษตรกรจะดำเนินการเอง

สิ่งกังวลมีข้อเดียว คือ ทุกคนพร้อมใจกันเข้าโครงการหมด ทำให้ปริมาณข้าวเยอะ ซึ่งรัฐบาลดำเนินการภาพใหญ่แล้ว ชาวบ้านและโรงสีจะมีความเสี่ยง คือ ชาวบ้านที่เข้าประกัน แต่ไม่มียุ้งฉาง พอประกันราคาเสร็จก็ต้องขายทันที พ่อค้าอาจจะให้ราคาใดก็ได้ เกษตรกรที่ได้รับ 2,000 บาท แต่ขายจริงอาจจะต่ำกว่า จึงเลือกหอมมะลิก่อน และเลือกยุ้งฉางก่อน เพราะหอมมะลิ ราคาขึ้นตลอด และตัวอื่นๆ ราคาผันผวน

มีเป้าหมายขยายไปยังสินค้าอื่นๆ หรือไม่

หากจะขยายไปประกันข้าวชนิดอื่นๆ ต้องขึ้นกับเงื่อนไขว่า รัฐบาลต้องเร่งส่งเสริมให้ชาวนาชาวไร่มียุ้งฉาง ลานตาก อาจจะทำในรูปสหกรณ์ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือรัฐบาลเข้าไปร่วมลงขัน เพื่อให้เกิดโครงการเหล่านี้ ขณะเดียวกันต้องทำข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อให้เกษตรกรรู้ว่า ราคาข้าวสารที่พ่อค้าส่งออกนั้น เมื่อทอนกลับไปเป็นข้าวสารที่โรงสีเท่าใด และเมื่อทอนเป็นข้าวเปลือกในนาชาวบ้านเท่าใด เพื่อให้เกษตรกรมีข้อมูล จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบรู้ทันพ่อค้า แต่กว่าจะให้ระบบประกันราคาทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี

การประกันสินค้าอื่นๆ ทำได้หรือไม่

ยึดหลักการเดียวกับข้าวหอมมะลิ เพราะหลักการจำนำหรือประกันราคา เป็นการดึงผลผลิตออกจากตลาดในช่วงที่ผลผลิตมากและต้นทุนต้องไม่สูง ขณะที่มันสำปะหลัง หากจะใช้ระบบประกันจะต้องเน้นทำเอทานอล เพราะปัจจุบันมันสำปะหลังบริโภคในประเทศน้อย ส่วนใหญ่ส่งออกเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ ขณะที่ผลผลิตปลูกง่ายทั้งปี แต่ผลผลิตไม่แน่นอน ราคาผันผวน ส่วนข้าวโพด ต้องหาวิธีลดความชื้นเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นจะเกิดเชื้อราอัลฟาทอกซิน และยังมีปัญหาพื้นที่เพาะปลูกในเชิงเขา ต้องใช้ต้นทุนสูงในการเก็บเกี่ยว ส่วนยางพารา ผลผลิตออกทั้งปี และไม่มีปัญหาราคาตกต่ำ เพียงแต่ที่เกษตรกรรู้สึกว่าราคาต่ำ เพราะเคยขายได้ราคาที่สูงมาก

จุดล้มเหลวของการรับจำนำคืออะไร

เพราะประกาศราคาสูงเกินไป ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่น เพราะในหลักการจำนำ ตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี กำหนดราคาจำนำเพียง 80% ของราคาตลาด เพราะหลักการจำนำต้องการให้คนมาไถ่ เมื่อราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งคิดราคาจำนำที่ 80% มานาน แต่ระยะหลังเปลี่ยนเป็น 90% และเพิ่มเป็น 100% จนล่าสุดอยู่ที่ 120% ทำให้มีการซื้อข้าวราคาต่ำมาสวมสิทธิ รวมทั้งข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

นอกจากนั้น ราคารับจำนำที่สูงยังทำให้พฤติกรรมของเกษตรกรเปลี่ยนไป จากเดิมที่มียุ้งฉาง แต่เมื่อหันมาใช้รถเก็บเกี่ยวมากขึ้น มีการขายข้าวทันที ไม่ต้องเก็บ จึงรื้อทิ้ง ขณะเดียวกันเกษตรกรยังไม่เอาใจใส่ในเรื่องคุณภาพ เอาเร็วเข้าว่า เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลก็รับจำนำอยู่แล้ว ขณะที่ตลาดกลางสินค้าเกษตรของเอกชน ที่เคยเป็นตลาดประมูลสินค้าก็หายไป เมื่อราคาจำนำสูง พ่อค้าไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับรัฐบาลได้ ตลาดกลางจึงล้มหายไป เหลือเพียงตลาดกลางของ ธ.ก.ส. เพราะเป็นของรัฐบาล ซึ่งหลักการควรให้มีตลาดกลางเกิดขึ้นจำนวนมาก

มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

เราต้องร่วมทำให้เกิด เพราะรัฐบาลก็ไม่ค่อยมีเงิน ต้องอธิบายให้เกษตรกรรู้ว่า รัฐบาลไม่มีเงินแล้ว ไม่มีเงินมากพอที่จะใช้ระบบการรับจำนำต่อไป แต่จะต้องค่อยๆ ลดลงควบคู่ไปกับการเพิ่มการประกันราคา เพราะไม่สามารถยกเลิกทันที การเริ่มระบบประกันครั้งนี้ก็เป็นสัญญาณแล้วว่า รัฐบาลไม่มีเงิน


หน้า 17
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01eco01080652&sectionid=0103&day=2009-06-08

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew