"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ก.ยุติธรรมคืนดอกเบี้ย 800 ล้าน/ปี เจ้าหนี้เฮ!

วันที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4111  ประชาชาติธุรกิจ


ก.ยุติธรรมคืนดอกเบี้ย 800 ล้าน/ปี เจ้าหนี้เฮ!




พีระพันธุ์ลั่นเตรียมต้องคืนดอกเบี้ยเงินกลางแก่เจ้าหนี้ หวั่นทำผิดกฎหมาย ชี้เงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินต้องคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ กระทรวงยุติธรรมเก็บไว้ใช้เองไม่ได้ ยอมรับที่ผ่านมาดอกเบี้ยเงินกลางสูงถึง 800 กว่าล้านต่อปี ครึ่งหนึ่งส่งคืนคลัง อีกครึ่งหนึ่งใช้จ่ายกันภายในกระทรวง วงในเผยวงเงินต้นฝากแบงก์รอคืนเจ้าหนี้สูงกว่า 5-6 หมื่นล้าน



ก่อนหน้านี้เมื่อกรมบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ เงินที่ขายได้จะต้องคืนบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย แต่ในระหว่างที่รอการชำระคืนกรมบังคับคดีได้นำเงินไปฝากธนาคาร เมื่อฝากธนาคารก็เกิดดอกเบี้ยหรือที่เรียกกันว่า ดอกเบี้ยเงินกลาง ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้นำดอกเบี้ยเงินกลางปีละนับพันล้านมาใช้จ่ายในกระทรวงยุติธรรม แล้วคืนเจ้าหนี้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รับรู้ปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด และกำลังเปลี่ยนแปลงแนวทางการใช้ดอกเบี้ยเงินกลางใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ผ่านมาการนำดอกเบี้ยเงินกลางมาใช้จ่ายเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่กรมบังคับคดีขึ้นอยู่กับศาลยุติธรรม ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะเริ่มต้นเมื่อไร หรือย้อนหลังไปถึงเมื่อไร แต่หลักการสำคัญก็คือ การใช้ดอกเบี้ยเงินกลางจะต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์กติกาใหม่

ปัญหาดอกเบี้ยเงินกลางพูดกันมานาน ตั้งแต่ยุคกระทรวงยุติธรรมดูแลงานของศาลเป็นหลัก เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง และเมื่อคำพิพากษาในคดีแพ่งที่คู่ความคือโจทก์และจำเลยพิพาทกัน แล้วศาลได้ตัดสินให้ฝ่ายโจทก์ชนะ ก็แปลว่าจำเลยต้องใช้หนี้โจทก์ตามคำพิพากษา

แต่เมื่อจำเลยไม่ใช้หนี้ ศาลจึงต้องให้ เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้มาเพื่อขายทอดตลาด เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาใช้คืนเจ้าหนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าทรัพย์สินที่ขายนั้นจะมีเงินชำระหนี้ หรือมีเงินเหลือหลังจากชำระหนี้แล้ว ซึ่งก็แล้วแต่มูลค่าของทรัพย์สินกับจำนวนหนี้

อย่างไรก็ตามเมื่อขายทอดตลาดแล้ว เงินที่ได้รับจากผู้ซื้อในการขายทอดตลาด ยังไม่ได้คืนไปยังโจทก์หรือจำเลยที่เป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทันที เงินก้อนนี้ก็มาอยู่ที่กรมบังคับคดีและนำไปฝากธนาคาร เมื่อฝากธนาคารก็เกิดดอกผลหรือดอกเบี้ย แต่เวลาที่เจ้าหนี้มาขอรับชำระหนี้ หรือเงินส่วนที่เหลือที่จะต้องคืนลูกหนี้ แต่กรมบังคับคดีก็คืนเฉพาะเงินต้น ส่วนดอกเบี้ยไม่คืน หรือที่เรียกกันว่า ดอกเบี้ยเงินกลาง

ที่ผ่านมาในอดีตถือว่าเงินก้อนนี้เป็นเงินดอกเบี้ยเงินกลางของกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลของกระทรวงยุติธรรมในอดีตแม้กระทั่งปัจจุบัน ไม่เพียงพอในการที่จะดำเนินการต่างๆ ของกระทรวง หรือของศาลในอดีต จึงมีการนำดอกเบี้ยเงินกลางมาใช้จ่ายในส่วนที่งบประมาณไม่เพียงพอ เมื่อไม่มี กฎเกณฑ์ว่าจะเอาดอกเบี้ยเงินกลางไปใช้อย่างไร กระทรวงยุติธรรมก็เอาไปใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนกลาง

รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ตนเองมองในแง่ความถูกต้องเป็นธรรม หากพิจารณาตามหลักกฎหมาย ทรัพย์ที่ได้จากการขายทอดตลาด กรมบังคับคดีไม่ใช่เจ้าของ แต่กรมบังคับคดีเอาของของคนอื่นมาขาย ฉะนั้นเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก็ไม่ใช่เงินของกรมบังคับคดี แต่เป็นเงินของเจ้าของทรัพย์ หรือของโจทก์ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา กรมบังคับคดีเป็นผู้รักษาทรัพย์ รอเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริง ตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดว่า ดอกผลที่เกิดจากทรัพย์ใดต้องเป็นของเจ้าของทรัพย์ เมื่อดอกผลที่เกิดจากเงินตามกฎหมายเรียกว่า ดอกเบี้ย ก็ต้องถือว่า ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นเป็นของเจ้าของทรัพย์ ต้องคืนให้เจ้าหนี้ไปพร้อมเงินต้น

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า จากการตรวจสอบแต่ละปี เงินที่ได้จากดอกเบี้ยเงินกลางจะต้องส่งให้กระทรวงการคลัง ปีหนึ่งประมาณ 400 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งได้นำดอกเบี้ยเงินกลางไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของกระทรวงและหน่วยงานของกระทรวง ประมาณ 400 ล้านบาท สรุปแล้วเงิน ดอกเบี้ยเงินกลางจะมีการใช้จ่ายเฉลี่ยแต่ละปีประมาณ 800 ล้านบาท กระทรวงยุติธรรมได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินกลางปีละ 400 ล้านเท่านั้น

"ไม่ว่าจะพิจารณาเชิงกฎหมายและบริหาร ผมจะเก็บดอกเบี้ยเงินกลางไว้ไม่ได้ จึงมีแนวคิดที่จะคืน และประการสำคัญที่สุดก็คือ เราเป็นกระทรวงยุติธรรมไม่ใช่หรือ ทำแบบนี้มันล่อแหลมต่อการผิดกฎหมายเสียเองหรือเปล่า การใช้ดอกเบี้ยเงินกลาง ผมถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย เป็นการเสียน้อย เสียยาก เสียมากเสียง่าย เก็บไว้ 400 ล้าน อาจจะเสียงบประมาณที่ควรจะได้อีก 1,000 ล้าน ทำให้กระทรวงยุติธรรมเสียโอกาส" รมว.ยุติธรรมกล่าว

แหล่งข่าวจากกรมบังคับคดีเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันคาดว่ากรมมีเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินเก็บไว้เพื่อรอส่งคืนตามขั้นตอนให้กับเจ้าหนี้ประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้ถูกฝากธนาคารไว้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน จึงมีดอกเบี้ยสะสมเกิดขึ้นแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท และการนำออกมาใช้จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกระทรวงยุติธรรม

อย่างไรก็ตามตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีแนวคิดจะนำดอกเบี้ยดังกล่าวเฉลี่ยส่งคืนให้กับเจ้าหนี้ ขณะที่กระทรวงการคลังมีแนวความคิดจะนำเงินดังกล่าวมาใช้ กรณีนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการหารือกันว่า สุดท้ายรัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไร ซึ่งทางกรมบังคับคดีก็พร้อมปฏิบัติตาม เพียงแต่กรณีที่นำดอกเบี้ยเฉลี่ยส่งคืนให้กับเจ้าหนี้ สิ่งที่จะต้องแก้ไขปัญหาคือการตรวจสอบรายละเอียดย้อนหลังว่า ช่วงเวลานั้นๆ ธนาคารแต่ละแห่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอย่างไร ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างละเอียดและรอบคอบ


หน้า 1
http://www.matichon.co.th/prachachat/view_news.php?newsid=02p0103040652&sectionid=0201&day=2009-06-04


See all the ways you can stay connected to friends and family

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew