"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Blognone
Share |

Suthichai Online - ข่าวประจำวัน

วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (1) / ทางเสือผ่าน

 
 ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (1) / ทางเสือผ่าน
ณรงค์ ชื่นชม5/6/2552

                                                                     ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (1)

 

                "วิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติทางปัญญาของโลก (intellectual crisis) ซึ่งเป็นผลจากการปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง  และที่สำคัญที่สุดคือการปฏิเสธที่คิดจะแก้ไขปัญหาจากเศรษฐกิจที่แท้จริง (real economy)" (ทักษิณ   ชินวัตร)

                "ในวิกฤติเศรษฐกิจโลกก่อให้เกิดภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงได้ดังนี้ 1.กระแสสูงของความขัดแย้งต่อสู้ทางชนชั้นและการปฏิวัติสังคมในประเทศต่างๆ 2.การไต่ระดับการแย่งชิงแข่งขันทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศทุนนิยมทั้งหลายอาจถึงขั้นก่อสงคราม และ3.มีการต่อต้าน ท้าทายอำนาจนำทางอุดมการณ์ของทุนนิยมสหรัฐฯในขอบเขตทั่วโลก (พล.ร.อ.เดนนิส   แบลร์   ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ สหรัฐฯ สรุปโดย เกษียร  เตชะพีระ)

                "ปัญญา-เกิดขึ้นจากความทุกข์ยากของมนุษย์   ในท่ามกลางความปั่นป่วนของสังคม" (วิชาปรัชญา โดย สมัคร   บุราวาส)

                ในวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสังคมสหรัฐฯที่ถือว่า เป็นจักรวรรดิ์ของระบบทุนนิยมได้สร้างความตื่นตระหนกถึงขั้นที่ว่า  จะเกิดการล่มสลาย-ได้สร่างซาลงด้วยความหวังเล็กๆจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ  ชี้วัดให้อุ่นใจว่า  วิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ลงถึงจุดต่ำสุดแล้ว  และกำลังจะข้ามพ้นไปประมาณปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

                และถ้าจะถามว่า  การร่วมไม้ร่วมมือกันของประเทศมหาอำนาจมีอะไรสดใหม่ที่ก่อให้เกิด "นวัตกรรมใหม่ทางเศรษฐกิจ"หรือไม่ คงจะตอบได้ว่า เป็นการแก้ไขวิกฤติด้านเทคนิคทางเศรษฐกิจ-การเงินการคลัง เสียมากกว่า

                ซึ่งหนีไม่พ้นกรอบของสำนัก "เคนส์นีเซียน" (Keynesian School) ที่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างอุปสงค์มวลรวมประชาชาติขึ้นมา   จนประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เมื่อปี 1930 เมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจโลก

                ครั้งนี้จึงยังไม่ถึงขั้นที่จะก่อให้เกิด "ปัญญา" ขึ้นมาจริง-จริง   ทั้งโอบามาและมาร์ค...

                นั่นก็หมายถึงว่า  เราจะต้องเฝ้าดูต่อไปว่า  วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะจบลงจริงหรือไม่  แค่ไหน  อย่างไร  หรือจะเกิด "ปัญญาใหม่" ถึงขั้นกำเนิดนวัตกรรมทางเศรษฐศาสตร์   เพื่อปฏิวัติระบบทุนนิยมอีกครั้งหนึ่งหรือไม่

                ส่วนตัวเลขทางเศรษฐกิจของเรา จีดีพี-ไตรมาศแรกติดลบ 7.1 เปอร์เซ็นต์  และคาดว่าไตรมาศ 4 จะพลิกกลับมาที่บวกด้วยเม็ดเงินที่ทุ่มลงไปในระบบเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท  แต่อย่าลืมว่า  ที่ตัวเลขเป็นบวกนั้นนะมันไปเทียบกับตัวเลขในไตรมาศที่ 4 ของปี 2551 ที่ติดลบอยู่ 4.1 คือ ฐานมันต่ำนั่นเอง

                ด้านผลกระทบทางสังคมตัวเลขคนตกงานมีการประมาณว่าจะอยู่ที่ 2 ล้านคน  แต่เมื่อระบบเศรษฐกิจการผลิตเริ่มเคลื่อนตัวดีดขึ้น  การผลิตที่เคยลดลงเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์  ได้ขยับศักยภาพการผลิตขึ้นไปเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ก็นับว่าจะเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น  เมื่อการผลิตเพิ่มขึ้นจึงวาดหวังว่า  จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น  นั่นก็คือ ภาคเศรษฐกิจบางภาคจะมีการเรียกคนงานกลับเข้าทำงานอีกครั้งหนึ่ง  จึงต้องดูตัวเลขคนตกงานจริงว่าเป็นอย่างไร  และเมื่อคนตกงานจริงไม่มากดังคาดปัญหาสังคมก็น่าจะลดลง

                ประกอบกับลักษณะของสังคมเราไม่เหมือนประเทศตะวันตกที่มีความเป็นปัจเจกชนสูง   ทำให้ลดทอนความเหี้ยมเกรียมของระบบทุนนิยมลงไปได้   ไม่ว่าจะเป็นสังคมอุปถัมภ์ที่เอื้ออาทรต่อกัน  ตามแนวคิดของสังคมเกษตรกรรมที่ยังค้างคาอยู่   การปลูกฝังของวัฒนธรรมชาวพุทธนานนับพันปี  แนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง  เหล่านี้จะยึดโยง-ร้อยรัดให้เราไม่เกิดปัญหาสังคมที่รุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมเสรีนิยม-บริโภคนิยม  แบบตัวใครตัวมัน

                สิ่งที่รุนแรงถึงขั้นวิกฤติของเราคือ ปัญหาทางการเมืองที่ถาโถมอย่างไม่เกรงอกเกรงใจหน้าอินทร์หน้าพรหมหรือแม้แต่เทวดาหน้าใดของเหล่านักการเมือง  เหล่าขุนศึก-ทหารและมวลชนนักเคลื่อนไหวหลากสี  ซึ่งได้ตอกลิ่มส่งผลต่อสถาบัน  ต่อระบบการเมือง  ถึงขนาดลงลึกภายในครอบครัว  แตกแนวคิด-แตกขั้ว  จวนเจียนจะรบราฆ่าฟันกันแบบสงครามกลางเมือง

                วินาทีนี้  ความร้าวฉานมันยังไม่จบลง เพียงแต่หยุดเพื่อหายใจและเป็นการซื้อเวลา-ดูเชิง เพื่อที่จะเดินหน้าเปิดเกมรุกรบอีกครั้งหนึ่ง  การต่อสู้ครั้งใหม่นี้มันจะซับซ้อนขึ้น  ขยายวงมากขึ้น  หรืออาจจะรุนแรงขึ้น  ถ้าความคับแค้นในจิตใจยังไม่รับการบำบัดด้วยความเป็นธรรม

                และก็ต้องยอมรับว่า  สังคมเราแตกขั้วหากมองแบบหยาบ-หยาบจะได้เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในสังคมเมืองกับชนชั้นรากหญ้าในสังคมชนบท  โดยมีพลังขับดันเปิดเวทีต่อสู้ทั้งในระบบรัฐสภา ระบบข้างถนนและในมุมมืด  ทั้งหลากหลายมิติ  ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

                "อำนาจรัฐ" ที่ถูกยึดกุมโดยพรรคแนวอนุรักษ์นิยมที่เก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์   ก็ยังคงสะท้อนแนวคิดและความเชื่อผ่านการผลิตนโยบายสาธารณะที่ดู "ทื่อ" หาใช่นวัติกรรมใหม่ทางนโยบายสาธารณะอันทันสมัยเหมาะสมลงตัวในบริบทของสังคม ยุค 2009 ไม่

                อย่างไรก็ดี  จะต้องยอมรับกระบวนการ "ดูดซับ"  ทั้งปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองของ คุณอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ผู้นำรัฐนาวา  ด้วยการผลักดันเข้าสู่เวทีรัฐสภาพร้อมทั้งสร้างองค์การอย่าง "คณะกรรมการสมานฉันท์" ขึ้นมา  จนสามารถ "ลดทอน" ความร้อนแรงของการต่อสู้ลงได้ในระดับที่คาดหวังได้-ไม่เสียเปล่า

                และคณะกรรมการชุดนี้ก็ผลิตแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาออกมาอยู่ในขั้นที่น่าพอใจ  ส่วนในเรื่องที่ว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นจริง  ก็เป็นเรื่องที่จะท้าทายทั้งองค์การของคณะกรรมการสมานฉันท์เอง  ทั้งระบบรัฐสภาและระบบการเมือง  หรืออาจจะกล่าวถึงระบบสังคมทั้งระบบด้วย

                เหล่านี้ไม่ได้หมายถึงว่า  จะปราศจากความขัดแย้ง  ความเห็นที่แตกต่าง  หรือไร้ชนชั้นในโครงสร้างของสังคม   แต่มุ่งหวังว่า  จะไม่ก่อสงครามกลางเมืองที่รุนแรง เสียเลือดเนื้อเหมือนกับหลายประเทศที่เป็นตัวอย่างให้เราเห็นและศึกษา

                หากจะนำ "ความรู้สึก" เข้ามาเป็นเครื่องมือวัดอารมณ์ของการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองและระหว่างคนเสื้อสีแล้ว    คิดว่าน่าจะเย็นลงและสีเสื้อจางลง-ไม่เข้มเหมือนกับที่ผ่านมา

                ยกเว้นแต่จะมีการ "สุมไฟ" เข้าไป   ทั้งด้วยการกระทำและคำพูด   หรือผลประโยชน์อื่นใด...

                ยกตัวอย่าง "เงื่อนไข" ที่จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี อาทิ รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ปากก็ว่าจะสร้างความสมานฉันท์แต่ในการปฏิบัติ "ลับหลัง" ก็วางเพลิงด้วยการสร้างขบวนการทำลายล้างศัตรู ยั่วยุด้วยการป้ายสี   สร้างกระแสให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยสื่อของรัฐบ้างและสื่อเอกชนที่เป็นพรรคพวกบ้าง

                อย่างนี้นโยบายของคุณอภิสิทธิ์ที่ประกาศว่า จะสร้างความสมานฉันท์ก็ล้มเหลวดังปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมมาแล้ว   หรืออาจจะมองอีกมิติหนึ่งได้ว่า  เป็นการสร้างกลยุทธ์เพื่อทำลายล้างศัตรูทางการเมืองให้ "สิ้นซาก"   ก็อาจจะเป็นไปได้

                สื่อมวลชนทรงพลังอำนาจยิ่งในยุคสังคมการสื่อสาร สามารถสร้างมติมหาชนและความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมย่อมจะต้องพินิจพิจารณาใคร่ครวญให้รอบครอบและหมดจด   ไม่ตกเป็นเครื่องมือโดยไม่รู้ตัวทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน   ยิ่งการนำองค์การอย่างสมาคม  สหภาพหรือองค์การอื่นใดเกี่ยวกับสื่อมวลชนเข้าไปผูกโยงกับเกมทางการเมืองยิ่งจะต้องออกห่างเพราะมันไม่ใช่ "กิจของสงฆ์"

                ยกเว้นแต่จะตกอยู่ภายใต้ทฤษฎี "สมรู้ร่วมคิด" กันเท่านั้น   สื่อที่รักอย่าเอาตัวอย่างจาก "เทพทือกกับเนวิน" เลย (สัปดาห์หน้าว่าด้วยรายละเอียดของทฤษฎีการสมรู้ร่วมคิด)

http://www.siamrath.co.th/uifont/Articledetail.aspx?nid=3468&acid=3468

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
http://facthai.wordpress.com/ ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว/ FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew