Subject: ข่าวจาก สกว.(จดหมายข่าว biodata ฉบับที่ 95 วันที่ 21 พฤษภาคม 2552)
From: biodata@trf.or.th
Date: Thu, 21 May 2009 11:04:49 +0700
สาร biodata ฉบับที่ 95
โลกใบเล็ก (2)
ฉบับนี้มาต่อตอนที่ 2 ของข้อเขียน “โลกใบเล็ก” ครับ
การติดต่อแบบนี้เรียกว่า “ข้อต่อแบบอ่อน(weak links)” นะครับ คือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนที่โดยปกติก็อยู่คนละวงการ คนละโลก นานๆเจอกันที เช่น นักวิจัยชีวเคมีกับนักดนตรีวงบีเอสโอ แต่เมื่อมีความจำเป็นก็จะสามารถไล่เลียงหาจุดเชื่อมต่อได้เป็นชั้นๆ และส่งผ่านข้อมูลได้ความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ปรากฏในระบบ ไม่มีขึ้นทะเบียนไว้ว่าใครรู้จักใครบ้าง (และจะแสดงตัวก็เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เรียกว่าเป็น tacit links ก็คงได้)
เช่นในการหางานมีการศึกษาพบว่า 84% ของคนที่ได้งานใหม่นั้น ได้จากการแนะนำของคนที่ “นานๆพบกันที” และเพียง 16% เท่านั้น ได้รู้เรื่องงานใหม่จากคนที่ “พบกันสม่ำเสมอ” ก็คือได้งานจากข้อต่อแบบอ่อนนั่นเอง อันนี้เขาอธิบายว่าเพราะเพื่อนที่รู้จักกันสม่ำเสมอนั้นก็เป็น “ก๊วน” เดียวกันอยู่แล้ว และมักจะคบคนที่อยู่ในวงการคล้ายๆกันอีกด้วย ดังนั้น ข้อมูลที่เราส่ง(ที่ว่าเราอยากจะหางานใหม่) ก็จะวนเวียนอยู่ในวงเล็กๆ ถ้ามีงานว่างก็จะรู้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มี โอกาสที่จะหางานในวงการอื่นก็จะน้อย แต่ถ้าส่งไปให้คนนอกก๊วนซึ่งนานๆพบกันที และแต่ละคนก็อยู่ในวงการอื่น ข้อมูลย่อมจะกระจายได้กว้างขวางกว่า และโอกาสที่จะได้งานก็เปิดกว้างกว่ามาก
จากการวิเคราะห์พบว่า ความสัมพันธ์แบบ “อ่อน” นี้แหละกลับทำให้ “เครือข่ายเข้มแข็ง” (Weak links make strong networks) แปลกดีนะครับ คือหมายความว่าข้อต่อแบบอ่อนทำหน้าที่เป็นทางลัดหรือทางด่วนให้ข้อมูลสามารถส่งต่อไปถึงที่ที่ “ควรจะรู้” ข้อมูลนั้นได้เร็ว และยิ่งกว่านั้น ในกรณีฉุกเฉินหากช่องทางปกติเกิดไม่ทำงาน เครือข่ายนั้นก็มีช่องทางทดแทนหลายช่อง ไม่ล้มง่ายๆ (ทำให้ผมนึกถึงฐานข้อมูลและการจัดการผ่านระบบข่าว “สาร biodata” ว่า น่าจะเข้าข่ายข้อต่ออ่อนประเภทหนึ่งในการจัดการหาคนมาทำวิจัย เช่นกัน เพราะ Biodata ทำให้ “โลกเล็ก” นั้นเอง)
ถ้าดูรูปประกอบ รูปทางซ้ายเป็นเครือข่ายที่มีความสัมพันธ์แบบแข็ง ระหว่างจุดใดจุดหนึ่งกับจุดที่ใกล้ๆอีก 4 จุด เช่น คนหนึ่งคนมีเพื่อนสนิทอีก 4 คน และเพื่อนแต่ละคนก็มีเพื่อนสนิทอีก 4 คน ถ้าจะส่งข้อมูลอะไรให้เพื่อน ก็จะส่งผ่านกันเป็นต่อๆ เครือข่ายแบบนี้ดูแน่นหนาดี เหมือนห่วงโซ่ที่ร้อยกันอยู่ มีข้อต่อจำนวนมาก แต่จะเห็นว่าเป็นข้อต่อสั้นๆทั้งนั้น ถ้าคนที่รู้คำตอบเกิดอยู่อีกฟากหนึ่งของวงกลม ก็จะต้องใช้เวลากระโดดหลายต่อมากกว่าจะได้คำตอบ หรืออาจจะไปไม่ถึงคำตอบก็ได้ คือเบื่อไปเสียก่อน นี่ก็เป็นไปได้นะครับ คือสัญญาณถูกส่งต่อหลายๆครั้งมากจนเลือนไปเอง หรือไม่งั้นก็เพี้ยน ความหมายเปลี่ยนไป (เหมือนกับเกมที่เราเคยเล่นเวลาไป Walk Rally ที่เขาให้กระซิบต่อๆกันนั่นแหละ)
ส่วนรูปทางขวานั้นเป็นเครือข่ายที่มีความสัมพันธ์แบบอ่อนเพิ่มเข้าไปด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์แบบอ่อนจะทำหน้าที่เป็น “ทางลัด” ให้ ข้อมูลหรือคำถามอาจจะกระโดดข้ามขั้นจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง และในที่สุดไปหาผู้ตอบได้อย่างรวดเร็ว ไม่สำคัญว่าข้อต่อแบบอ่อนนี้อยู่ตรงไหน ระหว่างใคร ขอให้มีอยู่บ้างก็ใช้ได้ (สมาชิก biodata ก็ทำตัวเป็นข้อต่ออ่อนได้ ถ้าช่วยกันส่งข่าวโจทย์วิจัยไปให้เพื่อนที่คิดว่าทำโจทย์เหล่นั้นได้)
อันนี้มีการยืนยันจากการคำนวณนะครับ คือนักวิจัย 2 คนชื่อ Watts กับ Strogatz เป็นนักคณิตศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Cornell เขาทำ model โดยใช้คอมพิวเตอร์ และพบว่าถ้าเริ่มจากคน 1,000 คน ให้คนหนึ่งมีเพื่อนสนิท 10 คน ก็จะมีข้อต่อ (links) ประมาณ 5,000 ข้อต่อ (ไม่นับที่ซ้ำ) และทั้งวงจะมีระยะห่างประมาณ 50 ช่วง คือหมายความว่าถ้าใครจะติดต่อกับใครที่ไม่รู้จักมาก่อนเลยอีกฟากหนึ่งของวงกลม ก็ต้องผ่านเพื่อนของเพื่อนของเพื่อนไป 50 ครั้ง แต่ถ้าใส่ข้อต่อแบบอ่อน (weak links) เข้าไปสัก 50 เส้น (หรือประมาณ 1% จาก 5,000 ข้อต่อ) โดยโยนๆใส่เข้าไปตามบุญตามกรรม(random) ตรงไหนก็ได้ ก็พบว่าช่วงระยะห่างลดลงเหลือแค่ 7 เท่านั้น คือใครจะติดต่อกับใครก็ไม่เกิน 7 ต่อ เพราะจะหา “ทางลัด” ได้เสมอโดยผ่านข้อต่อแบบอ่อนเหล่านี้
ข้อต่อแบบอ่อนนี้ก็คือคนที่เราพบโดยบังเอิญ เช่นถ้าเราไปเที่ยวที่ไหนแล้วรู้จักกับคนขับรถทัวร์ที่นั่น หรือไปงาน OTOP แล้วคุยกับคนที่มาขายของ หรือรถเสียมีคนมาช่วย แล้วเราก็ขอบคุณแล้วถามชื่อเสียงไว้ติดต่อกันในวันหน้า เท่านั้นเอง อาจจะติดต่อกันปีละครั้งด้วยการส่ง สคส. ก็ได้ แต่ก็เรียกว่า “รู้จัก” เวลามีความจำเป็นก็อาจจะนึกออก
ทีนี้ถ้าขยายจำนวนคนออกไปเป็น 6,000 ล้านคน เท่าประชากรของโลก และถ้าแต่ละคนมีคนรู้จักสัก 50 คน เขาคำนวณว่าจำนวนช่วงต่อปกติจะอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านต่อ จากด้านหนึ่งของวงกลมไปยังอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะติดต่อทีละช่วงๆ เพราะจะใช้เวลามาก แต่ถ้าโยนข้อต่อแบบอ่อนใส่เข้าไปสัก 0.02% เท่านั้น (คือ 2 ใน 10,000) จำนวนช่วงต่อจะลดวูบลงมาเหลือแค่ 8 ต่อ น่าสนใจมากนะครับ คือหมายความว่าเราสามารถจะติดต่อกับหนุ่มเอสกิโมคนไหนก็ได้ที่ขั้วโลกเหนือ หรือดาราคนไหนก็ได้ที่ฮอลลีวูด หรือนักฟุตบอลคนโปรดคนไหนก็ได้ที่อังกฤษ โดยผ่านคนรู้จักเพียง 8 คนเท่านั้น ใครสนใจก็ลองดูได้ (แต่ติดต่อได้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ คือการ “รับรู้” กับการ “ปฏิบัติหลังจากรับรู้” แล้วไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง)
จะเห็นได้ว่าแม้แต่รวมคนทั้งโลกแล้วก็ยังเป็นไปได้ที่จะติดต่อใครก็ได้ภายใน 8 ต่อ ดังนั้น ถ้าคิดเฉพาะคนไทย 60 ล้านคน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่เราจะพบคนที่รู้จักกับคนที่รู้จัก หรือระยะห่างเพียง 2-3 ต่อบ่อยๆ เพราะปรากฏการณ์ “โลกเล็ก” นี่เอง
นอกจากนี้ ข้อต่อแบบอ่อนยังทำให้เครือข่าย “เหนียว” ไม่ล้มง่ายๆ ถึงแม้ว่าจะสูญเสียข้อต่อไปจำนวนมากก็ตาม คือถ้าดูรูปซ้ายจะเห็นว่า ถ้าคนล้มหายตายจากไปสัก 1-2 คน ข้อต่อแบบแข็งก็จะหายไปหลายข้อ เครือข่ายก็จะเกิดช่องว่าง และข้อมูลก็จะไหลไม่สะดวก ต้องไหลย้อนกลับไปอีกทางหนึ่งเพื่อที่จะกลับมาหาคนที่อยู่ข้างๆได้ (ผมอธิบายรู้เรื่องหรือเปล่าไม่ทราบ) แต่ถ้าดูรูปขวา ที่มีข้อต่อแบบอ่อนไว้บ้าง ข้อมูลก็ยังจะหาทางไปได้อยู่เพราะมีทางลัดช่วย เครือข่ายยังทำงานได้ค่อนข้างดี (เขาเรียกว่า “Small Network Diameter”) เรื่องนี้สำคัญมากนะครับสำหรับในกรณีฉุกเฉิน เช่นจากภัยธรรมชาติหรือการก่อวินาศกรรม หรือการที่คนหนึ่งคนใดในเครือข่ายเกิดลาออกหรือเกษียณอายุ เครือข่ายจะได้ไม่ขาดตอน
อ่านตอนจบฉบับหน้าครับ
ข่าวประชาสัมพันธ์
ประชาสัมพันธ์ การประชุมวิชาการยางพาราแห่งชาติ “รวมพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยางไทยอย่างยั่งยืน” ที่มา : คุณธิติมา ฝ่าย 5 (โครงการยางพารา) [21-พ.ค.-2009]
ประชาสัมพันธ์ การประชุมสัมมนา “SMEs ที่อยู่รอดได้ในทศวรรษของ REACH” ที่มา : ฝ่าย 3 [18-พ.ค.-2009]
ประกาศทุนของสกว.อื่นๆ คลิก
รายการวิจัยไทยคิด วันอาทิตย์ที่ 24 พ.ค. 52 เวลา 16.00 น. สถานีทีวีไทย สัปดาห์นี้ เสนอตอน "ตึกกับแผ่นดินไหว" และสามารถติดตามชมตอนที่ผ่านมาได้ คลิก
ข้อมูล biodata ล่าสุด
ข้อมูลถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 9,086 ราย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
21 พฤษภาคม 2552
What can you do with the new Windows Live? Find out
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น