"เจษฎา"หนุน"ไฟโด้-เซเบอร์"
ผศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตุถึงประสิทธิภาพของเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดจีที 200 จนคณะรัฐมนตรี(ครม.)มอบหมายให้คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ และ ผศ.เจษฎา เป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ตรวจสอบพบว่า เครื่องจีที 200 ไม่มีประสิทธิภาพ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ กรณีมีการเสนอให้นำเครื่องตรวจสารระเบิดไฟโด้ (Fido) และเครื่องเซเบอร์ 4000 (Sabre4000) มาใช้แทนเครื่องจีที 200 ว่าก่อนหน้านี้เคยเสนอให้เครื่องมือทั้ง 2 ชนิด มาใช้แทนเครื่องจีที 200 แต่มีใครสนใจ เพราะเครื่องทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ เช่น เครื่องไฟโด้ หลักการทำงานจะอาศัยเซ็นเซอร์ตรวจจับสารระเหยด้วยโพลิเมอร์เรืองแสง ใช้ในการดมสารระเหยที่ปล่อยมาจากวัตถุระเบิด อาทิ ไนโตรเจน ฯลฯ เครื่องชนิดนี้จะเหมาะกับการตรวจจับวัตถุระเบิดที่เห็นชัดเจน ไม่มีการปนเปื้อนวัตถุอื่นใด ราคาราว 4 ล้านบาท
ผศ.เจษฎา กล่าวว่า ส่วนเครื่องเซเบอร์ 4000 จะใช้หลักการทำงานด้วยประจุไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า ไอออน โดยจะยิงไอออนกระทบกับวัตถุต้องสงสัยจนเกิดการแตกตัว จากนั้นจะทำการวัดค่าการแตกตัวของไอออนว่า ตรวจพบสารระเบิดหรือไม่ เครื่องนี้จะเหมาะกับการตรวจจับสารระเบิดที่ปนเปื้อนวัตถุต่างๆ ราคาราว 2.5 ล้านบาท
เผยกองทัพนานาประเทศใช้
"เครื่องทั้งสองชนิดได้รับการยอมรับ และนำไปใช้ในกองทัพของนานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อีกทั้งเครื่องไฟโด้ ยังได้รับรางวัลนวัตกรรมของกองทัพประจำปี 2548 จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ เอ็มไอที (MIT) ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องดังกล่าวเหมือนกับเครื่อง จีที 200 แต่หากจะตรวจสอบก็ไม่ยาก เพียงแต่ไม่สามารถใช้วิธีเดิม คือ Double Blind Test ได้ เนื่องจากเครื่องไฟโด้และเซเบอร์ เป็นเครื่องตรวจระยะใกล้ ไม่ใช่เครื่องจีที 200 ที่อวดอ้างว่าตรวจระเบิดในระยะไกล ซึ่งไม่มีในโลกนี้"
ผศ.เจษฏา กล่าวว่า จุดด้อยของเครื่องทั้ง 2 ชนิด คือต้องใช้ตรวจสอบวัตถุในระยะประชิด แต่ที่ผ่านมามีการดัดแปลง โดยนำสำลี หรือคัตเตอร์บัดไปป้ายวัตถุต้องสงสัย และนำมาให้เครื่องตรวจสอบ ซึ่งสามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการนำเครื่องไปประยุกต์เข้ากับหุ่นยนต์ เพื่อใช้ตรวจสอบหาวัตถุระเบิดในบางพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของมนุษย์ ประเทศไทยก็สามารถทำได้ โดยการนำหุ่นยนต์กู้ภัยฝีมือเด็กไทยที่ได้รับรางวัลมาประยุกต์ใช้ จะได้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด โดยไม่ต้องเกี่ยงว่าใช้กับวัตถุระยะไกลไม่ได้
ปชป.ยัน"มาร์ค-ป๊อก"ปึ๊ก
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แถลงที่ ปชป.กรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ออกมาระบุว่า นายอภิสิทธิ์ เป็นลูกไก่ในกำมือผบ.ทบ.กรณีขัดแย้งทางความคิดในประสิทธิภาพของเครื่องจีที 200 ที่ใช้ตรวจหาวัตถุระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นการยุแหย่ให้กองทัพและรัฐบาลแตกแยกกัน ขอยืนยันว่า รัฐบาลนี้และกองทัพมีความสัมพันธ์อันดีมาตลอด และกองทัพเป็นทหารอาชีพไม่เคยมากดดันรัฐบาล
ส่วนที่นายจาตุรนต์ ระบุว่า ที่รัฐบาลไม่กล้าทำอะไรกองทัพ เพราะทหารกุมความลับบางอย่างไว้นั้น ขอยืนยันว่า รัฐบาลและทหารไม่มีความลับต่อกัน รัฐบาลเป็นหัวหน้าในการบริหารได้รับการยอมรับจากกองทัพและประชาชน
“กรณีจีที 200 ยังถือเป็นเรื่องเล็ก และเชื่อว่า ทุกฝ่ายจะหาจุดลงตัวได้ จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะต่างฝ่ายเมื่อได้คุยกันก็จะยอมรับในเหตุผลของกันและกัน ที่ผบ.ทบ.ออกมาพูด คงออกมาพูดในฐานะผู้ปฏิบัติจริง โดยอาจจะอยากบอกว่า ในพื้นที่รู้สึกกับการใช้เครื่องนี้อย่างไร แต่ต่อไป เรื่องก็จะคลี่คลายและเป็นไปตามผลสรุปทางวิทยาศาสตร์ถึงประสิทธิภาพของ เครื่องที่มีผลออกมาแล้ว ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ควรนำมาเป็นประเด็นการเมืองเพื่อหวังสร้างความขัดแย้ง ระหว่างรัฐบาลและกองทัพ”
กมธ.มั่นคงฯสอบซื้อจีที200
นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการตรวจสอบเครื่องจีที 200 กล่าวถึงกรณีที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสำนักนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เสนอให้ใช้เรื่องไฟโด้ และเครื่องเซเบอร์ 4000 มาใช้ในพื้นที่ภาคใต้แทนเครื่องจีที 200 ว่า ถ้าเครื่องดังกล่าวมีประสิทธิภาพจริงก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติด้วย โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจคุณภาพก่อน ถ้าเป็นที่ยอมรับก็สามารถนำมาใช้งานได้ แต่ถ้านำมาใช้ทันทีโดยไม่มีการตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบคุณภาพ หากมีปัญหาก็อาจจะถูกครหาภายหลังได้ ส่วนที่บอกว่าทางหน่วยงานของสหรัฐรับรองคุณภาพมาแล้วนั้น ก็ถือว่ายังไม่เพียงพอ
"การประชุม กมธ.วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ได้เชิญตัวแทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงบประมาณ เข้าชี้แจงถึงการตรวจสอบการใช้งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ว่าเป็นอย่างไร ใช้งบประมาณไปเท่าใด บริษัทใดเข้าไปเกี่ยวข้อง ใครเป็นผู้เซ็นอนุมัติ เพื่อจะให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริง"
นายกฯอ้างเลิกใช้ทันทีไม่ได้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการพิเศษ "นายกฯอภิสิทธิ์พบคนคุยข่าววิทยุ" ทางคลื่นวิทยุ 92.5 เอฟเอ็ม สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ โดยเชิญผู้จัดรายการวิทยุจากสถานีต่างๆ เข้าร่วมซักถามทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งเป็นการบันทึกเทปเพื่อออกอากาศในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ว่า กรณีเครื่องจีที 200 พอทดสอบใช้ไม่ได้ ก็บอกว่า จะห้ามใช้หรือไม่
"ผมบอกว่า ต้องเอาข้อเท็จจริงทำความเข้าใจกับคนใช้ก่อน เพราะคนใช้คุ้นเคยกับการทำแบบนี้มานาน ถ้าสั่งห้ามใช้เลยก็เกิดโกลาหลได้ ดังนั้นจึงต้องให้เวลา ซึ่งผบ.ทบ.(พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) ก็บอกแล้วว่าวันหนึ่งจะไม่ใช้ ทั้งนี้หากบอกว่ามีการจัดซื้อแล้วต้องทุจริตด้วยก็คงไม่เป็นธรรม เพราะจีที 200 ซื้อมาตั้งแต่ปี 2547 ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย มีหลายประเทศก็ซื้อ แต่แน่นอนต้องหาข้อเท็จจริง หากพบทุจริตก็จะดำเนินการ"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น