ถ้าการเคลื่อนไหว ต่อสู้ทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของ "ผ้าผืนใหญ่" ทางประวัติศาสตร์
ขบวนการต่อสู้เพื่อเป้าหมายประชาธิปไตย เพื่อเรียบเรียง-ถักทอ-ร้อยเย็บเป็น "ผ้าผืนใหญ่" มีมาแล้วไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษ
นับตั้งแต่การต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยเข้าสู่การเมืองใหม่ของสยาม ตั้งแต่ช่วงหลัง พ.ศ. 2490 ซึ่งปรากฏ-แรงปะทะ-สะท้อนจาก "ระบอบพิบูล-เผ่า-ผิน-สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส" ภายหลังถูกเรียกเป็นปรากฏการณ์การเมืองในระบบ "ประชาธิปไตยแบบไทย"
แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองยังไม่ได้บรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์ ประชา ธิปไตย ทว่าการเมืองไทยได้ แปลงรูป-แปลงระบอบเข้าสู่ความเป็นระบบ "เสนา-อำมาตยาธิปไตย"
กระทั่งการเคลื่อนไหวของมวลชนในยุค 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 และ "พฤษภาทมิฬ 2535" จึงมีคลื่นความคิดของ กระแส "เสรีนิยม" เข้ามาเป็นกระแสหลัก
การบุกเบิก เติมเต็ม ชำระสะสางและรื้อฟื้นประวัติศาสตร์การเมืองไม่อาจสมบูรณ์ หากไม่มีมุมมอง "ประวัติศาสตร์ช่วงยาว" ทั้งในบริบทสังคม-การเมืองไทย และการเมืองโลก ประกอบเป็น "ผ้าผืนใหญ่"
ทั้งหมดเป็นทรรศนะวิชาการที่ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวบรวม-เรียบเรียงจนตกผลึกเพื่อใช้ปรากฏการณ์ "เสื้อแดง" ที่เคลื่อนไหวอึกทึกครึกโครมทั่วทั้งแผ่นดินอีสาน-เหนือ ประกอบเป็น "ผ้าเผลาะ" ผืนใหญ่ทางประวัติศาสตร์
จึงต้องบันทึกข้อวิเคราะห์ของ "ดร.ชาญวิทย์" ตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป...
@วิเคราะห์ทางออกสถานการณ์การเมือง ที่แกนนำเสื้อแดงยื่นข้อเสนอต้องยุบสภาเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้ามองในแง่ดี คือคงจะมีการยุบสภาเพราะปริมาณและคุณภาพของฝ่ายเสื้อแดงน่าจะทำให้รัฐบาลหา ทางออกให้กับสังคมด้วยการยุบสภาและเริ่มต้นไปสู่การเลือกตั้งใหม่ จากนั้นคงมีการปฏิรูปการเมืองหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป แต่ถ้ามองในแง่ร้าย อาจจะมีการนองเลือดหรือมีเหตุการณ์ที่รุนแรงกว่า "สงกรานต์เลือด" ในปีที่แล้ว เนื่องจากในปีนี้คงไม่มี "การเจ๊ากันไป" แค่นั้น และอาจมีการปราบปรามกำจัดบุคคลชั้นนำของฝ่ายเสื้อแดง
ในแง่นี้ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้สีแดงจะถูกปราบปรามไปชั่วขณะหนึ่ง แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่จบ เช่นเดียวกับเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 2549 ที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้ทำให้เรื่องจบ
กระทั่งปีนี้ผ่านมาถึงปีที่ 4 แล้ว เรื่องยิ่งปานปลาย ฉะนั้นหากมีการปราบปรามกำจัดผู้นำบางคนก็จะยิ่งทำให้ทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ได้กำลังเพิ่มเติมยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะยุบสภาหรือมีการนองเลือดก็ไม่ได้ทำให้เรื่องจบในตอนนี้
@ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของ นปช.-เสื้อแดง แตกต่างจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นในประวัติศาสตร์อย่างไร
ประเด็นที่เหมือนกันคือ เมื่อมีการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยาได้แล้ว ทักษิณไปอยู่ต่างประเทศเหมือนกับนายปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ แต่มีความแตกต่างตรงที่ยุคของทักษิณมีเทคโนโลยีที่ใช้ในการสื่อสารกลับเข้ามาในประเทศและมีเงิน
แต่คนรุ่นโน้นในปี 2475 เมื่อพระยาทรงสุรเดช หรือกระทั่งรัชกาลที่ 7 เมื่อทรงลี้ภัย สละราชสมบัติ ก็ไม่สามารถกลับมาได้ รวมทั้งนายปรีดี จอมพล ป. พล.ต.อ.เผ่า ก็กลับเมืองไทยไม่ได้
แต่ผมคิดว่า ทักษิณและพรรคพวกเป็น สิ่งใหม่ในการเมืองไทย คือหลุดจากอำนาจไปแต่เรื่องก็ไม่จบ เพราะมี 1) เทคโนโลยี 2) เงิน และ 3) มีมวลชนจำนวนหนึ่งให้ความจงรักภักดีสนับสนุน ในแง่นี้การเมืองของเราไม่เหมือนที่เป็นมา เราจะได้เห็นอะไรต่อมิอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน
@มีการประเมินว่าปริมาณมวลชนที่มา รวมตัวกันเป็นจำนวนมากนั้น เพราะมีการจัดตั้งด้วยเงิน อาจารย์ประเมินอย่างไร
การเมืองก็ต้องมีการจัดตั้ง ซึ่งการจัดตั้งหรือการมีเงินเข้ามา ไม่ได้หมายความว่า มวลชนไม่มีพลัง ส่วนปรากฏการณ์พลังบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของมวลชนนั้น ในอดีตมีครั้งเดียวคือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เพราะถูกหลอกและถูกล้อมปราบเมื่อ 6 ตุลา 2519 นั่นเป็นครั้งเดียวที่มวลชนมาอย่างไร้เดียงสา
@ครั้งนี้มวลชนไม่ไร้เดียงสา ไม่ถูกหลอก
ส่วนปรากฏการณ์เดือนมีนาคม 2553 นี้ สำคัญมากในแง่ที่เรากำลังเดินมาถึงตรงกลางของกระบวนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีการจัดตั้งที่เป็นระบบมาก ๆ ในการเข้ามาใช้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครในการต่อรองอำนาจ ขณะเดียวกันก็มีคนเข้ามาร่วมมากอย่างที่หลายคนคิดไม่ถึง และคนในส่วนบนของสังคมก็คาดไม่ถึงว่าจะมามากขนาดนี้
การเมืองที่เรารู้จักกัน หากไม่มีเงินก็ทำไม่ได้ การเมืองก็คือการเมือง เหตุการณ์ 14 ตุลา ผู้ใหญ่ไม่กล้าออกมาเล่น ทำให้เด็ก ๆ นักศึกษาหนุ่มสาวออกมาเล่น แต่ตอนนี้เด็ก ๆ บอกว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่...ก็ว่ากันไป
@มวลชนที่เข้าชุมนุมสมัยมีนาคม 2553 มีเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนอย่างไร
ผมคิดว่าการเมืองไทยได้ยกระดับมาก ๆ ในแง่ความรู้ ผมไม่เชื่ออย่างที่นักวิชาการเคยเชื่อกันว่า คนบ้านนอกคนชนบทชาวไร่ชาวนา โง่ แต่เราควรเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ว่า เขาไม่ยอมให้ถูกหลอกอีกต่อไปแล้วมากกว่า เพราะชาวบ้านเขารู้ทัน เขามี โทรศัพท์มือถือกันทุกบ้าน มีข้อมูลข่าวสาร เขาไม่ได้มีสภาพเป็นแบบที่เราเคยเชื่อกัน
เนื่องจากคนระดับล่างกำลังตื่นตัวและทวงสิทธิ สิ่งที่น่าสนใจในตอนนี้คือ ลักษณะการต่อสู้ที่มีการชูคำ 2 คำ คือ คำว่า "ไพร่" และ "อำมาตย์" ถ้ามองแบบมาร์กซิสต์/ อาจบอกว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น โดยการต่อสู้ครั้งนี้อาจไม่ใช่มาร์กซิสต์สกุลเหมาหรือเลนิน แต่ถูกแปลงให้เป็นไทย
เดิมทีคำว่า "ไพร่" มักจะถูกกวี นักเขียน นำมาใช้ แต่ไม่มีใครนำมาใช้ในความพยายามเข้าใจสังคมไทยว่าไพร่ คือสามัญชนคนทั่วไปที่กำลังเรียกสิทธิจากผู้ดี ชนชั้นสูง อภิสิทธิ์ชน ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมาก จากเดิมที่ไพร่ถูกใช้ในแวดวงคนมีการศึกษา แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ถูกนำมาใช้ในวงกว้าง
@ การต่อสู้ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องระหว่างคนชนบทกับคนในเมือง แต่เป็นเรื่องระหว่างไพร่กับคนชั้นสูง
เป็นการแบ่ง 2 ขั้วความจริงแล้วมีคนในเมืองจำนวนมากที่รู้สึกว่าตัวเองมีฐานะเป็นคนชนบท และมีคนชนบทจำนวนมากที่รู้สึกว่าตัวเองมีฐานะเป็นคนในเมือง ฉะนั้น คำอธิบายเรื่องคนชนบทกับคนเมืองอาจ ไม่พอ แต่ต้องอธิบายฐานะทางสังคม มากกว่าฐานะตามภูมิศาสตร์ว่าอยู่ตรงไหน
@ รูปแบบการแพ้-ชนะของคนเสื้อแดงจะเป็นอย่างไร
ยังไม่มีแพ้-ชนะขณะนี้ เพราะเกมนี้ยาวไม่จบง่าย ๆ ถึงแม้หากมีการยุบสภาแล้วก็ ไม่ได้หมายความว่าเรื่องจะจบ หรือหากมีการปราบปราม มีการนองเลือด มีคนดัง ๆ ตัวโต ๆ ถูกทำลายชีวิตแล้วเรื่องก็ยังไม่จบอยู่ดี
@ประเมินว่าระดับการชุมนุมครั้งนี้จัดว่า ยิ่งใหญ่ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจได้หรือไม่
เหตุการณ์เดือนมีนาคม 2553 เป็น จุดหนึ่งของการขับเคลื่อนใน transition (ช่วงเปลี่ยนผ่าน) โดยที่ transition อาจเป็น 100 ปีก็ได้ เพราะมีความพยายามของกระบวนการประชาธิปไตย มีความพยายามยึดอำนาจมาตั้งแต่ ร.ศ. 130 ต่อมามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีมาเรื่อย ๆ
หากพูดถึง 14 ตุลา 2516, พฤษภา 2535 การเกิดเหตุการณ์มีนา 2553 ก็อยู่ในกระบวนการทั้งหมดอันยาวนาน เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่บางครั้งใช้เวลาถึง 100 ปี
แต่เรามักหลอกตัวเองหรือมักถูกหลอกเสมอว่า ในอดีตเรามีความสมานฉันท์ ปรองดองสามัคคี โดยมองข้ามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ มองข้ามความขัดแย้งที่มีอยู่ในอดีต เช่น วังหลวงกับวังหน้า เมื่อเรามองข้ามเหตุการณ์เหล่านี้ เราจึงคิดว่าภาพในอดีตมีความปรองดอง
@ ดังนั้น ความไม่เป็นเอกภาพของแกนนำเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย ถือว่าเป็นปัญหาหรือเป็นปรากฏการณ์ที่ดี
ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดจากความคิดที่แตกต่าง ซึ่งไหลไปรวมกันที่จุดเดียวกัน หากมองย้อนกลับไปในเหตุการณ์ 14 ตุลา คนก็คิดว่าเป็น unity (ความสามัคคี) แต่ความจริงไม่ใช่ และเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์หลายครั้งทั้งในและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ก็มีความคิดที่แตกต่างกันในคนฝ่ายเดียวกัน
@ผู้ชุมนุมบางส่วนมีเป้าหมายสู้ให้ทักษิณกลับประเทศ บางส่วนต้องการจะโค่นอำมาตย์ เมื่อเป้าหมายแตกต่างขนาดนี้จะไหลไปรวมกันสู่จุดใด
ในประวัติศาสตร์ นักปฏิวัติมักจะมาทะเลาะกันเองหลังการต่อสู้จบแล้ว... สิ่งที่เราอยากเห็นคือ ควรสู้ไปให้ถึงที่สุด ขออย่างเดียว อย่าใช้อาวุธฆ่ากัน
(ที่มา :หนังสืแอพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น