วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11554 มติชนรายวัน กระชับสัมพันธ์ ไทย-ภูฏาน ร่วมมือด้านอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ โดย ชมพูนุท นำภา ระหว่าง ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำลังมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศให้ก้าวทันโลกอยู่ นั้น ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะยื่นมือออกไปช่วยเหลือเกื้อกูลมิตรประเทศด้วยการ แบ่งปันความรู้เพื่อเป็นการก้าวเดินไปพร้อมๆ กันด้วย ล่าสุดกลาง เดือนกันยายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี นำโดย *คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางไปยังราชอาณาจักรภูฏาน ร่วมประชุมกับกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร ของภูฏาน เรื่องความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ครั้งที่ 3 *ภูฏาน* ชื่อประเทศมีความหมายว่า ดินแดนของมังกรสายฟ้า ปกครองโดยกษัตริย์ที่ยึดเอาความสุขมวลประชาชาติ (GNH-Gross National Happiness) เป็นตัวตั้ง เป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชียใต้ที่ยังรักษาธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ที่เห็นได้ชัดคือการนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน การแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ และยังใช้ภาษาซองคาซึ่งเป็นภาษาประจำชาติในการพูดคุย แม้จะมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการอีกหนึ่งภาษาก็ตาม แต่ในยุคโลกา ภิวัตน์ที่กระแสวัฒนธรรมตะวันตกไหลบ่าอย่างที่ไม่รู้ว่าจะยับยั้งได้หรือไม่ นั้น รัฐบาลภูฏานจึงเกรงว่าวันหนึ่งภาษาซองคาจะเลือนหายไป หากไม่มีการอนุรักษ์ไว้แต่เนิ่นๆ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกัน ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน็กเท็ก กับกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร ของภูฏาน ในการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยเก็บรักษาภาษาประจำชาติเอาไว้ *พันธ์ ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์* ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือเน็กเท็ก อธิบายว่า ความร่วมมือกับภูฏานด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของภูฏานไปพบกับนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณะนั้น เพื่อขอความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ไทยกับภูฏาน โดยอยากให้ไทยเข้าไปช่วยเกี่ยวกับไอซีที โดยเฉพาะเรื่องงานวิจัยและองค์ความรู้ต่างๆ จึงตกลงและตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมา โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2551-2553 และจากการประชุมร่วมกันได้ข้อตกลงว่าไทยจะช่วยเหลือเรื่องการใช้เทคโนโลยีมา จัดเก็บภาษาซองคา ภาษาประจำชาติภูฏาน ด้วย Text-to-Speech และ Optical Character Recognition หรือ OCR
พันธ์ ศักดิ์ อธิบายหลักการของโอซีอาร์ว่า หากเราจะจัดเก็บข้อมูลที่เป็นเอกสารเก่าๆ หากนำมาพิมพ์จะใช้เวลานานมาก แต่ถ้าเรานำไปสแกนแล้วนำไปให้คอมพิวเตอร์อ่านตัวหนังสือจากภาพถ่ายแล้ว แปลงออกมาเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ แล้วค่อยนำมาปรับแก้อีกเล็กน้อยก็สามารถจัดเก็บได้ทันที ซ้ำยังใช้พื้นที่ในการจัดเก็บน้อยกว่าภาพถ่ายด้วย "ที่ภูฏานโอซี อาร์ยังมีปัญหาอยู่ เนื่องจากว่าตัวอักขระของภูฏาน มันมีความซับซ้อนกว่าภาษาไทยเยอะ ในขณะที่ภาษาไทยมี 3 ชั้น แต่ภูฏานคำของเขาเขียนกันถึง 6 ชั้น บางคำยังเอาชั้นมาต่อกันอีก กลายเป็นตัวใหม่ไปเลย ทีนี้เครื่องคอมพิวเตอร์เขายังไม่สามารถจะแบ่งเป็นตัวอักขระได้ขนาดนั้น ก็เลยต้องมาช่วยกันคิดว่าจะสามารถเขียนโปรแกรมอะไรให้รองรับตรงนี้ได้" ส่วน Text-to-Speech ปัจจุบันนี้ผลก้าวหน้าไปกว่า 70% แล้ว ลักษณะการทำงานคือ นำภาษาซองคาใส่เครื่องคอมพิวเตอร์ไป แล้วคอมพิวเตอร์สามารถอ่านออกมาเป็นภาษาคนพูดได้ "เราจะให้เฉพาะ วิธีการ แต่นักวิจัยภูฏานต้องไปทำรายละเอียดเอง เช่น การจัดเก็บประโยค การจัดเก็บคำ หรือว่าการที่คอมพิวเตอร์จะพูดให้ดีอย่างไรนั้นเขาต้องทำเอง ช่วงระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมาทำอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้นักวิจัยภูฏานที่ฝึกกับเราเขาก็สามารถที่จะเขียนโปรแกรมให้ เครื่องคอมพิวเตอร์มันออกเสียงภาษาภูฏานได้แล้ว แต่ว่ายังเป็นห้วงๆ เป็นคำๆ อยู่ ยังไม่ชัดเจน ฟังต่อเนื่องก็จริง แต่ยังไม่เหมือนเสียงคนพูด ก็คิดว่าเราคงจะพัฒนาตรงนี้ต่อ" พันธ์ศักดิ์กล่าว สำหรับ การประชุมครั้งล่าสุดนี้ หน้าที่ของพี่เลี้ยงอย่างเน็กเท็กที่จะต้องทำต่อคือ 1.ทำให้โอซีอาร์มีความฉลาดมากขึ้น และ 2.การทำ Text-to-speech ให้พูดภาษาภูฏานได้เนียนขึ้น พันธ์ศักดิ์บอกอีกว่า นอกเหนือจากทั้งสองเรื่องแล้วยังมีการคุยเรื่องการพัฒนาให้คอมพิวเตอร์เข้า ใจภาษาต่างๆ อย่างอัตโนมัติ หรือ Speech to speech Translation (STS) เช่น เมื่อเราพูดใส่คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ก็จะประมวลผลมาเป็นตัวอักษรของภาษานั้น แล้วคอมพิวเตอร์ก็สามารถเอาตัวอักษรภาษานั้นไปแปลงเป็นคำพูดอีกทีหนึ่ง "ยก ตัวอย่าง ถ้าพูดด้วยภาษาซองคา คอมพิวเตอร์ก็จะแปลงเป็นตัวอักษรซองคา จากตัวอักษรซองคาก็สามารถนำไปแปลงเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลได้ ทีนี้ประเทศไทยซึ่งมีภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เราก็อาจจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นตัวกลาง จึงอาจเป็นไปได้ว่าเราพูดกับคอมพิวเตอร์ฝั่งหนึ่งเป็นภาษาไทยก็จะแปลงเป็น ภาษาซองคาได้ นี่คือความท้าทาย ตอนนี้เน็กเท็กเราก็จะมีความร่วม มือกับ 9 ชาติในอาเซียน ซึ่งเราก็จะชวนภูฏานด้วย แล้วในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่า คนในอาเซียนทั้ง 9 ชาติ จะติดต่อกันได้โดยการพูดภาษาของตัวเอง ข้อดีคือแต่ละชาติจะยังสามารถรักษาภาษาตัวเองไว้ได้ เรื่องนี้เป็นความท้าทายที่กลุ่มเอเชียอยากจะทำ ตั้งใจว่าอีก 3-4 ปี น่าจะสมบูรณ์" พันธ์ศักดิ์บอกอีกว่า นอกเหนือจากงานที่ทำร่วมกันแล้ว สิ่งที่ได้มาอย่างชัดเจน คือ เป็นการเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศ จะเห็นว่าคนภูฏานส่วนใหญ่ค่อนข้างชอบเมืองไทย หลายคนเคยไปกรุงเทพฯอย่างน้อย 1 ครั้ง นอกจากนั้นภูฏานยังมองประเทศไทยเป็นประตูที่จะเปิดไปสู่โลกภายนอกด้วย ทำให้ตอนนี้สินค้าในประเทศภูฏานที่นำเข้ามาจากไทยอยู่อันดับสองรองจาก อินเดียเท่านั้น และในอนาคตนี้ภูฏานกำลังขยายพัฒนาประเทศอีกมาก ดังนั้นการที่ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นก็จะมีผลที่จะตามมาอีกมาก ดัง ที่ *คุณหญิงกัลยา* ได้สรุปว่า การช่วยเหลือกันระหว่างสองประเทศนั้น เป็นการช่วยเหลือที่เป็นแบบประเทศพี่ช่วยประเทศน้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยกับภูฏานมีความคล้ายคลึงกันหลายด้านทั้งระบบกษัตริย์ และศาสนา อีกทั้งราชวงศ์ทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดอย่างมาก ฉะนั้นการเชื่อมต่อในด้านอื่นๆ ก็จะทำให้กระชับความสัมพันธ์มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เขารู้จักคนไทย เชื่อมั่นคนไทย ศรัทธาคนไทย ว่าคนไทยมีความรู้ความสามารถที่จะเกื้อกูลกันได้ ทุกวันนี้คนภูฏานหันมาซื้อของจากเมืองไทย ทุกอาทิตย์จะมีนักธุรกิจของภูฏานไปซื้อของแล้วส่งกลับบ้านเป็นคอนเทนเนอร์ มากขึ้นเรื่อยๆ เขาพบว่าคุณภาพของสินค้าประเทศไทยได้มาตรฐาน ตอนนี้คนภูฏานก็ไปประเทศไทยค่อนข้างมาก รวมถึงข้าราชการก็ไปดูงานที่เมืองไทย "สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าไม่ได้มีการเริ่มต้นก็จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน"*คุณหญิงกัลยากล่าวอย่างเชื่อมั่น เลียนโป นันดาลาลไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร ราชอาณาจักรภูฏาน ปัญหา ที่ภูฏานประสบอยู่ในปัจจุบันนี้ คือการที่จะดูแลภาษาดั้งเดิม ดังนั้นจึงต้องการเทคโนโลยีที่จะนำมาช่วยอนุรักษ์ตรงนั้นเอาไว้ ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นซึ่งต้องใช้เวลาต่อไป และที่เลือก จะร่วมงานกับประเทศไทย เพราะว่าคนไทยมีความจริงใจ ซื่อสัตย์ รัฐบาลภูฏานจึงมั่นใจว่าการร่วมงานกับประเทศไทยจะสามารถทำตามสิ่งที่สัญญา กันไว้ได้ กับคำถามว่าจะใช้เทคโนโลยีให้สมดุลกับวัฒนธรรมดั้งเดิมได้อย่างไร??? เลียน โป นันดาลาลไร ยิ้มก่อนตอบว่า ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้ เหนือสิ่งอื่นใดคือเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่เรามีเหมือนกัน จึงสามารถเรียนรู้แลกเปลี่ยนกันได้ "ผมชอบคนไทยที่สุภาพใจดี ไม่ค่อยเห็นคนไทยโกรธ แม้ว่าโกรธก็ยังจะยิ้ม" เลียนโปกล่าว หน้า 20 |
--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
chun
http://tham-manamai.blogspot.com /sundara
http://dbd-52hi5com.blogspot.com/ dbd_52
http://thammanamai.blogspot.com/ อายุวัฒนา
http://sunsangfun.blogspot.com/ suntu
http://originality9.blogspot.com/ originality
http://wisdom1951.blogspot.com/ wisdom
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น