ไม่ครับ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ กทช. วันนี้เราไม่ได้มาคุยกันเรื่อง 3G หรืออะไรทำนองนั้น ก.ช.ท. หรือ กูเกิลช่วยท่านได้ เป็นตัวย่อที่ผู้เขียนแปลมาแบบมั่ว ๆ จาก GIYF (Google is Your Friend) เป็นคำย่อที่มีความหมายกลาย ๆ ว่า จะทำอะไรก็ลองค้นหาโดยใช้ Google ดู เพราะเดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็มีอยู่ในอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วิธีทำ กับข้าว วิธีการใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ ไปจนถึงวิธีการสร้างระเบิดปรมาณู เรียกได้ว่ามีทุกอย่างจริง ๆ ซึ่งประเด็นวันนี้ของเราคือการเอาอะไรบางอย่างมาจากอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะบทความ หรืองานเขียนต่าง ๆ มาใช้งานครับ
ของทุก ๆ อย่างย่อมมีเจ้าของครับ ข้อมูลต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ตก็เช่นเดียวกัน บางอย่างนั้นเจ้าของก็คือสาธารณชน ซึ่งก็หมายความว่าทุก ๆ คนมีสิทธิที่จะใช้งานอย่างไรก็ได้ บางอย่างก็มีเจ้าของชัดเจน เช่น บทความที่ผู้อ่านกำลังอ่านอยู่ เป็นต้น โดยปกติแล้วผู้ที่สร้างผลงานมักจะยินดีให้ผลงานของตัวเองนั้นมีคนนำไปใช้งาน (เพราะถ้าไม่ต้องการให้คนนำไปใช้งานก็คงไม่คิดที่จะนำงานของตนเองมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตตั้งแต่แรกแล้ว) กฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์ ก็ได้มีการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ของทั้งผู้สร้างผลงานและผู้ใช้อยู่แล้ว แต่ปัญหาของลิขสิทธิ์คือ สิทธิของผู้นำไป ใช้นั้นน้อยเหลือเกิน เช่น ผู้นำไปใช้นั้นไม่สามารถเอาผลงานของเราไปเผยแพร่ต่อได้ ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนไม่สามารถคัดลอกเอาข้อความในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ทั้งชิ้นไปใส่ไว้ในเว็บไซต์ของผู้เขียนเองได้
อย่างไรก็ตาม การคัดลอกผลงานไปเผยแพร่นั้นมีผลดีคือช่วยให้มีคนรู้จักงานของเรามากขึ้น แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันมิให้ผู้อื่นแอบอ้างเอางานของเราไปเป็นของตัวเอง ไม่อนุญาตให้เราคัดลอกงานใด ๆ ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของผลงานครับ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อมีคนพยายามใช้ผลงานของเรา สิ่งที่บุคคลผู้นั้นทำได้คือ 1. ละเมิดลิขสิทธิ์โดยนำงานเราไปใช้ หรือ 2. ติดต่อเราโดยตรงเพื่อขออนุญาต ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วคงมีอยู่ไม่มากที่ขออนุญาตอย่างถูกต้อง
เล่ามาถึงจุดนี้ก็ได้เวลาพูดถึงพระเอกของวันนี้เสียทีครับ พระเอกของเราคือซีซี (CC) หรือที่มีชื่อเต็มว่าครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons) ซีซีนั้นเป็นองค์กร ไม่แสวงหาผลกำไรที่มีผลงานหลักคือสัญญา อนุญาต (License) เพื่อให้เจ้าของผลงานที่ มีลิขสิทธิ์ต่าง ๆ นำไปใช้เพื่อระบุข้อตกลงในการใช้งานผลงานนั้น ๆ ครับ ถ้าเราสร้างสรรค์ ผลงานอะไรบางอย่างขึ้นมา และต้องการเผยแพร่ผลงานของเรา แต่ไม่ต้องการให้ผู้อื่น แอบอ้างเอางานของเราไปเป็นของตัวเอง เราสามารถประกาศว่าผลงานของเรานั้นใช้สัญญาอนุญาตซีซี (เรียกสั้น ๆ ว่า ซีซีแอล ย่อมาจาก Creative Common License) ได้ครับ ซีซีแอลนั้นมีอยู่หลายแบบให้เลือกใช้ บางแบบกำหนดเพียงแค่ให้ผู้ที่นำไปใช้นั้นจะต้องมีการอ้างอิงถึงผู้สร้างสรรค์ผลงาน บางแบบก็มีการกำหนดเพิ่มเติมว่าห้ามนำไปใช้ในเชิงพา ณิชย์และห้ามดัดแปลงแก้ไข เป็นต้น ซีซีแอลทั้งหมดนั้นมีจุดที่เหมือนกันคือ ผู้ที่นำไปใช้จะต้องอ้างถึงเจ้าของผลงาน (หมายความว่าห้ามผู้ที่นำไปใช้แอบอ้างว่าเป็นเจ้าของผลงานนั่นเอง) จะเห็นได้ว่าซีซีแอลนั้นแก้ไขปัญหาข้างต้นได้ดีทีเดียว โดยที่ไม่ทำให้เจ้าของผลงานต้องเสียเครดิตไป
ผู้เขียนอยากจะเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ครับ เพื่อนของผู้เขียน ท่านหนึ่ง เชี่ยวชาญการใช้งานโปรแกรม Photo scape ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับการแต่งรูปภาพที่มีการแจกจ่ายฟรีอยู่บนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากโปรแกรมดังกล่าวไม่คิดค่าใช้บริการ บวกกับการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน ทำให้มีผู้ใช้อยู่จำนวนหนึ่งทีเดียวครับ เพื่อนของผู้เขียนท่านนี้ ก็ได้จัดทำเว็บไซต์สอนการใช้งานโปรแกรมดังกล่าวเป็นภาษาไทย ตั้งแต่การใช้งานเบื้องต้นไปจนถึงการใช้งานขั้นสูง เรียกได้ว่ามีการลงแรงงานไปมากโขอยู่ แล้วอยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนของผู้เขียนก็ได้พบว่า บทความของตัวเองนั้นถูกคัดลอกไปแสดงอยู่ในเว็บไซต์อื่น ทางเพื่อนของผู้เขียนนั้นก็มิได้รังเกียจแต่ประการ ใด แต่สิ่งที่เพื่อนของผู้เขียนต้องการก็คือ ต้องการให้มีการให้เครดิตว่าบทความดังกล่าวนั้น เพื่อนของผู้เขียนเป็นผู้จัดทำขึ้นมา ซึ่งในเว็บไซต์ของเพื่อนของผู้เขียนนั้นมีการระบุไว้ชัดเจนว่า บทความต่าง ๆ นั้นได้มีการเผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตซีซีประเภทที่ต้องระบุที่มา, ห้ามเปลี่ยนแปลง และห้ามใช้เพื่อการค้า สิ่งที่เพื่อนของผู้เขียนทำหลังจากที่ได้ค้นพบว่างานของตัวเองนั้นถูกนำไปแสดงในเว็บไซต์อื่นก็คือ เขียนอีเมลไปยังเจ้าของเว็บไซต์ดังกล่าว พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวทั้งหมดรวมถึงการที่บทความของตัวเองนั้นอยู่ภายใต้ซีซีแอลประเภทดังกล่าว เจ้าของเว็บไซต์ดังกล่าวนั้นก็ได้ทำการแก้ไขข้อมูลและมีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาอย่างถูกต้อง
เห็นหรือไม่ครับว่าการใช้ซีซีแอล รวมถึงความเคารพในซีซีแอลของทั้งสองฝ่ายนั้นทำให้การเผยแพร่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้โดยถูกใจทั้งสองฝ่าย ทางฝ่ายผู้จัดทำก็มี ผู้ช่วยเผยแพร่บทความมากขึ้น และไม่ได้เสียเครดิตในผลงานของตัวเอง ในขณะที่ทางฝ่าย ผู้นำเอาผลงานไปเผยแพร่ ก็สามารถดึงดูดผู้ชมเข้ามาสู่เว็บของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการละเมิดลิขสิทธิ์
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่านจะรู้จักการใช้ซีซีแอลในการปกป้องและเผยแพร่ผลงานของตัวเอง รวมถึงเคารพในสัญญาอนุญาตต่าง ๆ ทั้งซีซีแอลหรือสัญญาอื่น ๆ ด้วยนะครับ เพื่อสร้างสังคมอินเทอร์เน็ตที่น่าอยู่ให้กับทุก ๆ คนนะครับ
(สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องของซีซีสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://cc.in.th/ และ http://creativecommons.org/ ครับ ส่วนเว็บไซต์สอนการใช้งาน Photoscape ที่กล่าวถึงในช่วงท้ายจะอยู่ที่ http://www.bombik. com/)
นัทที นิภานันท์
nattee@eng.chula.ac.th
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย